- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 11 September 2017 23:14
- Hits: 7880
5 อาการสังเกตเจ้าตัวน้อยหัวใจผิดปกติ
ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ เจ้าตัวน้อยก็มีความเสี่ยงที่จะพบว่าเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน ซึ่งพ่อแม่ควรจะทำความรู้จักกับโรคหัวใจในเด็กและวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นเพื่อจะได้รับมือได้ทันเวลา เพราะความรุนแรงของโรคหัวใจในเด็กนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เจ้าตัวเล็กมีพัฒนาการและเติบโตช้า แต่อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาการแรกได้แก่ หายใจหอบเหนื่อยง่าย อาการที่สอง เล็บและปากเขียว อาการที่สามใจสั่น หน้ามืด หรือเป็นลมบ่อยๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการที่สี่ เจ็บหน้าอก อาการที่ห้าแพทย์ตรวจพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติของหัวใจเจ้าตัวน้อยได้
นายแพทย์อภิชัย คงพัฒนะโยธิน กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า จากสถิติโดยเฉลี่ยในเด็ก 1,000 คนจะพบเด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดถึง 8 คน ซึ่งในกรณีนี้สามารถตรวจพบโดยแพทย์ตั้งแต่ก่อนคลอด หลังคลอดภายใน 7 วัน หรือตรวจพบเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เช่น ผนังกั้นหัวใจห้องบนมีรูรั่ว เป็นต้น ในกรณีที่ตรวจพบเมื่อเป็นผู้ใหญ่อาจมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถผ่าตัดได้ แต่โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิดก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องรักษา เพียงแต่ต้องดูแล ระวัง และป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ลิ้นหัวใจตีบเล็กน้อย รูในผนังหัวใจขนาดเล็ก เป็นต้น ส่วน โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง เกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ โรคหัวใจรูห์มาติก ที่เกิดจากไข้รูห์มาติก ทำให้มีลิ้นหัวใจรั่ว และ/หรือ ตีบ ส่วนใหญ่พบในเด็กวัยเรียน แต่ไม่มากเท่าเมื่อก่อน เพราะการแพทย์เจริญและประชากรดูแลตนเองมากขึ้น โรคไข้คาวาซากิ ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก อาจทำให้มีเส้นเลือดหัวใจโคโรนารีโป่งพอง โรคลิ้นหัวใจจากการติดเชื้อ
โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิดอาจเป็นสาเหตุการอักเสบของหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสได้เกือบทุกชนิดที่นำไปสู่การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งในบางรายอาจเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้าหรือเร็วเกินไป แต่ที่พบส่วนใหญ่ในเด็กจะเป็นชนิดเต้นเร็วผิดปกติ มักมีอาการเป็นๆ หายๆ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ เพราะความรุนแรงของโรคหัวใจในเด็กนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีพัฒนาการและเติบโตช้าแต่อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกต 5 อาการสัญญาณเตือน ที่ควรพาเจ้าตัวน้อยมาเข้ารับการตรวจและรักษาให้ทันท่วงที คือ 1. หายใจหอบ เหนื่อยง่าย 2. เล็บและปากเขียว
3. ใจสั่น หน้ามืด หรือเป็นลมบ่อยๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ 4. อาการอื่นๆ เช่น เจ็บหน้าอก เป็นต้น (ในเด็กจะพบอาการลักษณะนี้ไม่มากเท่าผู้ใหญ่ อาการเจ็บหน้าอกในเด็กมีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากโรคหัวใจ) 5.แพทย์ตรวจพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจแสดงหรือไม่แสดงอาการที่ผิดปกติก็ได้ นอกจากนี้เด็กที่เป็นโรคหัวใจอาจจะโตช้า โดยเฉพาะรายที่มีภาวะหัวใจวาย มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ส่วนสูงและน้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เติบโตช้าไม่ทันเพื่อน เพราะหัวใจต้องทำงานหนักร่วมกับมีอาการหอบและรับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งเป็นอีกข้อสังเกตที่พ่อ แม่ผู้ปกครองควรใส่ใจและสังเกตอยู่เสมอ หากเจ้าตัวน้อยมีอาการต่างๆ ตามที่ปรากฏในลักษณะข้างต้น ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกาย หรือแนะนำให้พาเจ้าตัวน้อยไปตรวจสุขภาพกับกุมารแพทย์เป็นประจำทุกๆ ปี สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โทร 02-310 3000 หรือ โทร. 1719