- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 29 July 2017 10:47
- Hits: 2473
บทความ จาก ‘เจนเนอราลี่’เรื่อง รู้ทัน ‘มะเร็ง’ยอดฮิต ฉบับมนุษย์ออฟฟิศ
'มะเร็ง' เป็นโรคร้ายที่ได้ชื่อว่าคร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก และเป็นสาเหตุการตายสูงสุดอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โรคร้ายดังกล่าวไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย ยังนำความทุกข์ทรมานใจมาสู่คนรอบข้างอีกด้วย สำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง และเพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที
วันนี้ เราหยิบยกโรคมะเร็งที่สามารถพบได้ในกลุ่มคนวัยทำงาน ได้แก่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่พบได้บ่อยในเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ และมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มสาววัยทำงานยุคใหม่ที่นิยมใช้ชีวิตโสด จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นมะเร็งชนิดนี้ พร้อมนำวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทำให้การรักษาโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นมะเร็งที่มักพบในผู้ที่มีอายุราว 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบในผู้ที่มีอายุน้อยลง และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเกิดจากบุหรี่ ทั้งผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่ได้รับควันพิษจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่เคยมีประวัติสูบบุหรี่แม้จะเลิกสูบแล้วก็ตาม รวมถึงการสัมผัสสารเคมีบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยาง หนัง สี และการพิมพ์ เป็นต้น
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุผนังด้านในของกระเพาะปัสสาวะแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด ในกรณีที่มีการลุกลาม เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายลึกเข้าไปยังผนังกระเพาะปัสสาวะชั้นอื่น และอาจลุกลามออกไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด และตับ
การตรวจเบื้องต้น ได้แก่ การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะมากผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งหาเซลล์มะเร็งที่อาจปนออกมากับปัสสาวะ (Urine Cytology) การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) โดยแพทย์จะส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตรวจหาตำแหน่ง ขนาด จำนวนและรูปร่างของเนื้องอก และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา การตรวจทางรังสีวิทยา อาทิ การตรวจอัลตราซาวนด์ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ (Ultrasound KUB) การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี (Intravenous Pyelogram) และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) บริเวณช่องท้องทั้งหมด
วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะทำได้โดยการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ (Transurethral Resection of Bladder Tumor หรือ TURBT) เพื่อตัดหรือทำลายก้อนมะเร็งและนำเนื้อเยื่อมาตรวจว่าเป็นมะเร็งชนิดใด และลุกลามลึกถึงชั้นไหนของกระเพาะปัสสาวะ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งร่วมด้วยเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ ในกรณีที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อ หรือตั้งแต่ระยะที่ 2 ขึ้นไป แพทย์อาจต้องพิจารณาผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด ร่วมกับการทำเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาเพื่อลดการลุกลามและเกิดซํ้าของมะเร็ง
มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมพบบ่อยในผู้หญิงทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งคุณผู้หญิงที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ กลุ่มที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือมีบุตรแต่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง เป็นต้น ซึ่งถือว่าสาว ๆ ออฟฟิศ จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการรักษามะเร็งเต้านมได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายและตรงจุดมากขึ้น ทั้งยังลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้ดีกว่าเดิม
การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมถือว่าเป็นการรักษาหลัก ซึ่งการผ่าตัดแบบเดิมคือ ตัดเต้านมออกทั้งเต้าและเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก แต่ปัจจุบันแพทย์สามารถเก็บเต้านมไว้ได้โดยไม่ต้องตัดออกทั้งหมด ในกรณีที่สภาวะของเต้านมเหมาะสม เรียกว่า การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ซึ่งแพทย์จะตัดเฉพาะก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อปกติบางส่วนรอบ ๆ ก้อนมะเร็งออกไป และทำการฉายแสงบริเวณเต้านมที่เหลือเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
ส่วนการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ จากเดิมที่ทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ปัจจุบันผู้ป่วยมีทางเลือกเพิ่มขึ้นคือ ผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองออกเท่าที่จำเป็น ช่วยลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น แขนบวม ยกแขนไม่ขึ้น ผู้ป่วยยังคงรักษารูปทรงของเต้านมไว้ได้ แต่ผู้ป่วยต้องมีภาวะที่เหมาะสม เช่น ก้อนมะเร็งไม่ใหญ่เกินไป เต้านมมีขนาดใหญ่พอที่จะคงรูปลักษณ์ไว้ได้หลังผ่าตัด เป็นต้น นอกจากการผ่าตัดแล้ว แพทย์ยังพิจารณาให้การรักษาอื่น ๆ ประกอบกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำโดยกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ ด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) การฉายรังสี (Radiation Therapy) การให้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Therapy) การให้ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น
โภชนาการต้านมะเร็ง
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การดูแลภาวะโภชนาการยังช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้เช่นกัน
สำหรับ อาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับคืออาหารที่ให้โปรตีนและพลังงานสูง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและชดเชยน้ำหนักที่ลดลง แต่การรับประทานเฉพาะเนื้อสัตว์และแป้งก็ยังไม่เพียงพอ เพราะวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผู้ป่วยควรได้รับแต่อาหารที่มีประโยชน์และสมดุล คาร์โบไฮเดรตต้องเป็นชนิดที่ดี เช่น ธัญพืชไม่ขัดสีที่มีกากใยสูง ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรละทิ้งไขมันเสียหมด เพราะไขมันเป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานสูง เพียงแต่ต้องละเว้นไขมันอิ่มตัวจำพวกนมเนยทั้งหลาย และเลือกรับประทานเฉพาะชนิดที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว ซึ่งเป็นไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หรือกรดไขมันที่เรียกว่าโอเมก้า 3 ซึ่งพบได้ในปลาทะเล เพราะนอกจากจะบำรุงสมองและหัวใจแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบได้อีกด้วย
ที่มา : บริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ , รพ.บำรุงราษฎร์