WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Toojula

โรคต้อกระจก...ปัจจัยคุกคามคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

     เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุแล้วสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั้น คือความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ที่จะเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา จนก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ โรคทางสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งโรคทางสายตา ซึ่งประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 10.5[1] และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.7[2] ภายในปี 2573 ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่บุตรหลานหรือคนใกล้ชิดไม่ควรละเลย

     รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ จักษุแพทย์ผู้เชียวชาญด้านต้อหิน ต้อกระจก และ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคต้อกระจก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ร้อยละ 95 เป็นต้อกระจกที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมตามอายุ ส่วนสาเหตุอื่นๆ อาทิ การเกิดอุบัติเหตุของดวงตา การได้รับสารเคมี การหยอดตาหรือทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งอาจพบ ได้ร้อยละ 3-4 และสุดท้ายคือต้อกระจกแต่กำเนิดซึ่งพบได้ในเด็กเเรกเกิดร้อยละ 1-2

     โรคต้อกระจกในระยะเเรกอาจจะไม่มีอาการที่ส่งสัญญาณบอกอย่างเด่นชัด เมื่อเป็นมากขึ้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตามัวทีละน้อยๆ คล้ายกับมีหมอกมาบัง โดยเฉพาะเมื่อเจอแสงสว่างหรือแสงแดดก็จะรู้สึกมัวมากยิ่งขึ้น ในคนไข้บางรายอาจพบว่าค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลง เช่น จากเป็นคนที่จำเป็นต้องใส่แว่นสายตาสำหรับมองในระยะใกล้ทุกครั้ง ก็กลายเป็นสามารถมองระยะใกล้ได้โดยที่ไม่ต้องใส่แว่นสายตาอีกต่อไป หากอาการตามัวเป็นมากขึ้นจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และอาจนำไปสู่ภาวะการสูญเสียการมองเห็น อันเป็นผลเสียอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

    ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการรักษาต้อกระจกมีความก้าวหน้ามากจนสามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจนดังเดิมหรือดีกว่าเดิมได้

การรักษาต้อกระจกประกอบด้วย

  1. แบบไม่ใช้การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่เป็นต้อกระจกที่ยังเป็นไม่มากอาจใช้การสวมเเว่นตา การใช้ยาหยอดตาเพื่อช่วยชะลอหรือลดความขุ่นของต้อกระจกซึ่งอาจได้ผลไม่แน่นอน ส่วนการขยายม่านตาเพื่อรับแสงเข้าดวงตามากยิ่งขึ้นอาจใช้ในการรักษาโรคต้อกระจกแต่กำเนิดได้
  2. แบบใช้การผ่าตัด โดยผ่าตัดเอาต้อกระจกออกแล้วใส่เลนส์เทียมเข้าไปในดวงตา ถือเป็นการรักษาที่ให้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน โดยทั่วไปจะใช้คลื่นความถี่สูงในการสลายต้อกระจก หรืออาจจะมีการใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัดได้

สำหรับเลนส์เทียมสามารถแบ่งตามลักษณะวัสดุในการผลิต แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. เลนส์เทียมชนิดแข็ง เป็นเลนส์เก้วตาเทียมที่ใช้ในการผ่าตัดต้อกระจกชนิดแผลใหญ่ โดยเลนส์จะเเข็งไม่สามารถพับได้ ปัจจุบันจะใช้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
  2. เลนส์เทียมชนิดนิ่มหรือชนิดพับได้ เป็นเลนส์เทียมที่สามารถพับและสอดผ่านแผลผ่าตัดต้อกระจกที่มีขนาดเล็กเพียงประมาณ 2.5 มิลลิเมตรได้ จึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะเมื่อแผลผ่าตัดเล็กลง ระยะการพักฟื้นและการหายของแผลก็จะเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยจึงสามารถใช้สายตาภายหลังการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เลนส์เทียมชนิดนิ่มสามารถเเบ่งได้อีก 3 ประเภท คือ

2.1 เลนส์เทียมที่ให้ความชัดระยะเดียว คือระยะไกล ปัจจุบันใช้ในผู้ป่วยประมาณร้อยละ 90 

2.2 เลนส์เทียมที่ให้ความชัดได้สองระยะ คือ ให้ความชัดระยะใกล้และระยะไกล โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้มีระยะชัดสามระยะ คือ ให้ความชัดระยะใกล้-กลาง-ไกล

2.3 เลนส์แบบยืดหยุ่น ปรับระยะได้ในตัวเอง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการคิดค้นพัฒนา

      การเลือกใช้เลนส์เทียมชนิดใดนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือลักษณะของดวงตาผู้ป่วย การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ว่ามีภาวะอื่นๆ ทางตาร่วมด้วยหรือไม่ เช่น โรคของจอตา โรคของกระจกตา ความเอียงของสายตา เป็นต้น ความรู้ของผู้ป่วยและญาติในเรื่องโรคต้อกระจก วิธีการรักษา วิธีการผ่าตัด และชนิดเลนส์เทียม จะช่วยให้สามารถเลือกวิธีการรักษาเเละชนิดของเลนส์เทียมได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นภายหลังจาการผ่าตัดรักษาต้อกระจก

     “ต้อกระจกเป็นโรคที่เมื่อตรวจพบได้เร็ว จะสามารถรักษาให้หายได้อย่างทันท่วงที และไม่เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การดูแลและเอาใจใส่ผู้สูงอายุจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่บุตรหลานหรือคนใกล้ชิดควรตระหนัก โดยการเริ่มต้นง่ายๆ คือ การพาท่านไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือคนทั่วไปที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ก็ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเช่นเดียวกัน” รศ.นพ.นริศ กล่าวเพิ่มเติม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!