WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก.สาธารณสุข ลงนามประกาศกว่า 4 ฉบับคุมอีโบลา แนะเลี่ยงเดินทางไป3ประเทศ เฝ้าระวังคนเดินทางผ่านพื้นที่ระบาดรวม 483 ราย

     นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงภายหลังการประชุมวอร์รูมเรื่อง โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาหรือโรคอีโบลาว่า ในฐานะปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)ตนได้ลงนามในประกาศสธ.จำนวน 4 ฉบับเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรคอีโบลาซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้เห็นชอบแล้ว

    ได้แก่ 1.ประกาศเรื่องโรคติดต่อ 2. ประกาศโรคติดต่อต้องแจ้งความ 3.ประกาศโรคติดต่ออันตราย และ4.ประเทศเขตติดโรค ประกอบด้วย 3 ประเทศ 1 เมือง ได้แก่ กินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรียและ เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1 วัน ซึ่งจะทำให้การดำเนินการควบคุม เฝ้าระวังโรค ณ จุดเข้าเมืองทำได้อย่างเข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการรายงานว่าอัตราการป่วยตายลดลงเหลือ 60 % จากเดิม 90 % นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ที่มีพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาเป็นประธาน

   นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า แม้มีการประกาศพื้นที่เขตติดโรคดังกล่าว แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้ประชาชนชาวไทยเดินทางไปใน 3 ประเทศ 1 เมืองนี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ออกประกาศแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปจะต้องมีการป้องกันตัวเอง ซึ่งสธ.ก็เห็นเช่นนี้ด้วย

   นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การออกประกาศสธ. ให้โรคอีโบลา เป็นโรคติดต่อ เพื่อบอกว่า โรคนี้ชื่อว่าอะไร มีการติดต่ออย่างไร ส่วนประกาศโรคติดต่อต้องแจ้งความ เพื่อให้มีการรายงานการพบโรคนี้ต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุข ที่หมายถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) สำหรับประกาศโรคติดต่ออันตราย เป็นการบอกว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง และมีโอกาสติดต่อข้ามประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ประกาศไปแล้ว 5 โรค คือ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้กาฬหลังแอ่น ไข้เหลือง และซาร์ส

   นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 มีผู้ที่มีประวัติเดินทางผ่านพื้นที่ระบาดของโรคอีโบลาเข้ามาประเทศจำนวน 483 ราย ในจำนวนนี้มีการเฝ้าระวังผ่านพ้นระยะฟักตัวของโรค 21 วันไปแล้ว 404 รายทุกคนสบายดี โดยเหลืออยู่ในข่ายเฝ้าระวังที่อยู่ในรยะฟักตัว 79 ราย ขณะนี้ทุกคนยังสบายดี และจะมีการติด ตามทุกวันจนพ้นระยะฟักตัว 21 วัน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 1 คน ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ ทั้งนี้ มาตรการการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางผ่าน 3 ประเทศ และ 1 เมืองเข้ามาในประเทศไทย จะมีการวัดอุณหภูมิรายคนทุกคนที่สนามบิน รวมทั้ง ซักประวัติและที่อยู่เพื่อการติดตามทุกวันเป็นเวลา 21 วัน

   "มาตรการที่ประเทศไทยดำเนินการเฝ้าระวังอยู่นี้มีความเข้มข้น แม่นยำและละเอียดมากกว่าการติดตั้งเทอร์โมสแกนที่สนามบินที่เป็นการคัดกรองคนมีไข้แบบให้คนเดินผ่านที่ไม่ละเอียด หากคนนั้นรับประทานยาลดไข้มาก่อนก็ไม่สามารถตรวจจับได้ การใช้เทอร์โมสแกน จะไม่สามารถตรวจพบคนป่วยได้จริงและเปลืองบประมาณ นอกจากนี้ โรคนี้ไม่ได้ติดต่อผ่านทางเดินหายใจ จึงไม่จำเป็นต้องเฝ้าระวังผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางมาในเที่ยวบินเดียวกับผู้ที่มีประวัติเดินทางผ่านพื้นที่ระบาด"นพ.โอภาสกล่าว

    สำหรับ ยารักษาโรคซีแมฟ นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยปกติจะไม่มีการให้นำยาที่ยังไม่ผ่านการทดลองในคนออกมาใช้ แต่กรณีนี้เนื่องจากฮูเห็นว่าเป็นโรคที่อันตรายสูงและประชาชนมีความหวาดกลัวมาก จึงอนุญาตให้มีการนำยาดังกล่าวมาใช้ในคนได้ ซึ่งในประเทศไทยหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ก็สามารถร้องขอและนำเข้ามาได้โดยไม่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไทย ซึ่งตามกฎหมายดำเนินการได้

    พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการตรวจยืนยันเชื้อไวรัสอีโบลาทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นั้น ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่สามารถตรวจได้ ประเทศอื่นๆก็ไม่สามารถตรวจยืนยันเชื้อนี้ได้เช่นกัน จะต้องส่งไปตรวจยยืนยันที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา(CDC) การดำเนินการตรวจภายในประเทศจะเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นว่าใช่หรือไม่ใช่เชื้อนี้เท่านั้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!