- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Thursday, 22 September 2016 22:44
- Hits: 8562
การดูแลรักษาระยะยาวชำนัญพิเศษผู้ป่วยสมองเสื่อม ทางรอดสังคมสูงอายุไทย
สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ภายใน พ.ศ. 2568[1] ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อจากสังคมในหลายๆ ด้าน อาทิ การขาดแคลนคนวัยทำงาน รายจ่ายบำนาญและค่ายังชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในการดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยจากผลสำรวจในปี 2555 พบอัตราความชุกของภาวะสมองเสื่องในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 12-25 โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย [2] และพบว่ามีผู้สูงอายุ เพียงร้อยละ 3.3 เท่านั้น[3] ที่ยังมีสุขภาพดีมาก ในขณะที่ร้อยละ 16 เริ่มมีสุขภาพที่ไม่ดีไปจนถึงไม่ดีมากๆ อันเเป็นผลมาจากละเลยดูแลสุขภาพตั้งแต่อยู่ในวัยแรงงาน
รศ.พญ.วรพรรณ เสนาณรงค์ หัวหน้าสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า จากแนวโน้มของประชากรสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรหันมาตระหนักและให้ความสำคัญต่อการเดินหน้ากำหนดแผนงานเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาสมองเสื่อมอย่างชัดเจน ผู้ป่วยที่มีภาวะภาวะสมองเสื่อม (Dementia) มีความสามารถในการทำงานของสมองแย่ลง มีผลให้เกิดภาวะพึ่งพิง มีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อครอบครัวในการดูแลต่อเนื่องเรื้อรังตลอดการดำเนินโรค ภาวะสมองเสื่อมส่วนมากพบในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี และหากมีอายุยืนยาวก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ร้อยละ 10 ของภาวะสมองเสื่อม ทั้งยังสามารถพบอาการของโรคได้ก่อนวัย คือก่อนอายุ 65 ปี โดยมักเกิดจากสาเหตุความผิดปกติทางพันธุกรรม
“ภาวะสมองเสื่อมมีหลายชนิดและสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป มีข้อมูลระบุว่าร้อยละ 10-23 ของสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุที่ผันกลับได้[4] เช่น ผลจากยาบางชนิด ผลกระทบจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น ในภาวะสมองเสื่อมจากบางสาเหตุไม่สามารถทำให้สมองกลับมาทำงานได้ดีเหมือนเดิม (Irreversible Dementia) เช่น สมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease)สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดในสมอง (Vascular Dementia) และสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน (Dementia Associated with Parkinson Disease) เป็นต้น แม้ว่าทางการแพทย์ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่ก็สามารถรักษาอาการเพื่อชะลอการดำเนินไปของโรคได้”
จากข้อมูลทางสถิติพบว่าสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม คือ โรคอัลไซเมอร์ คิดเป็นร้อยละ 40– 70[5] โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ได้แก่ ความจำแย่ลง ความมีเหตุผลน้อยลง ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆ แย่ลง ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน หรือแม้แต่การนึกคำพูด นอกจากนี้พฤติกรรมรวมถึงอารมณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรเข้าใจสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วย หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยหงุดหงิดอารมณ์เสีย ควรใจเย็นและให้กำลังใจผู้ป่วย รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่ามีกลุ่มของสารพันธุกรรมที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงของสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ได้แก่ ApoE4, TOMM40, CLU, TREM2, และ PICALM เป็นต้น โดยผู้ที่มีสารพันธุกรรมเหล่านี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้สูงกว่าคนทั่วไป โดยประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จากพันธุกรรม ApoE4 จำนวนร้อยละ 22 – 30[6] โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการตอบสนองต่อการรักษาทางยาบางชนิดได้ดี ซึ่งด้วยความการก้าวหน้าจากการค้นพบสารพันธุกรรมเสี่ยงและสารพันธุกรรมก่อโรคภาวะสมองเสื่อม จะส่งผลดีต่อประชากรรุ่นลูกหลานถัดไปจากผู้ป่วยในด้านการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการเปลี่ยนวิถีทางการดำเนินชีวิต อันสามารถช่วยชลอการเกิดโรค ลดอัตราเสี่ยงหรือชลอระยะเวลาการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
“ภาวะสมองเสื่อมนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้น การวางระบบรองรับการดูแลผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นในระดับครอบครัว ชุมชน หรือระดับประเทศ เพื่อทำให้มีการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ช่วยให้ผู้สูงอายุในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้นจึงเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแนวทางหนึ่งที่จะสามารถบรรเทาปัญหาด้านผู้ป่วยสมองเสื่อมในกลุ่มคนสูงอายุด้วยได้เป็นอย่างดี นั่นคือการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์หรือคลินิกหรือ Day Care เพื่อดูแลรักษาระยะยาวชำนัญพิเศษผู้ป่วยสมองเสื่อม ในทุกโรงพยาบาลหรือทุกพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแต่ให้บริการด้านการดูแลรักษาและจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงการให้คำปรึกษา การจัดทำกิจกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพ เช่น การเล่นเกมที่สร้างสรรค์และการทำให้ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมเพื่อให้เกิดการกระตุ้นทางสมอง การจัดการส่งต่อจากการดูแลในชุมชน สู่การรักษาในโรงพยาบาลเมื่อเกิดโรคเฉียบพลันแทรกซ้อนในผู้ป่วย การช่วยเหลือเกื้อกูลภาวะพึ่งพิงอย่างเป็นระบบ การรักษาป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ นับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรผลักดันภาวะสมองเสื่อมให้เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อที่สำคัญของประชากรไทย” รศ.พญ. วรพรรณ เสนาณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ มีแนวทางสำคัญที่ผู้ดูแลผู้ป่วยควรทำควบคู่ไปกับการใช้ยาคือการดูแลผู้ป่วยแบบไม่ใช้ยา (Non-pharmacological therapy) ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เหมาะสม ฝึกให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่างๆด้วยตัวเอง การจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย เช่น การเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยหงุดหงิดจากอากาศที่ร้อนเกินไป การเก็บของมีคมให้อยู่ในที่ที่มิดชิด การติดรูปครอบครัวเพื่อเป็นการช่วยทบทวนให้ผู้ป่วยจำบุคคลต่างๆในครอบครัวได้ การนำกระจกเงาที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อป้องกันผู้ป่วยหวาดระแวงคิดว่ามีใครจะมาทำร้าย เป็นต้น อีกทั้งการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบภายใต้แนวคิด การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม (Universal Design) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่การดูแลเอาใจใส่ที่ถูกต้องเหมาะสมทั้งจากแพทย์ผู้ทำการรักษาและลูกหลานหรือญาติๆ ที่คอยดูแลผู้ป่วยก็สามารถทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะส่งผลให้ลดภาวะความเครียดและความอ่อนล้าให้กับผู้ดูแลได้อีกด้วย