- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 11 October 2015 20:43
- Hits: 7515
'บิ๊กตู่'เบรกเอง งบสสส.ผิดเป้า
'บิ๊กตู่'สั่งเบรก 'สสส.' ใช้งบฯ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ หลัง 'ประธานคตร.' รายงานผลตรวจสอบพบเบิกจ่ายงบฯ ให้ดำเนินโครงการต่างๆ ที่ไม่ได้เสริมสร้างสุขภาพของประชาชน พร้อมสั่งการให้กระทรวงยุติธรรม สตง. ร่วมสอบด้วย ชี้แม้เป็นเงินนอกงบประมาณ จากภาษีเหล้า-บุหรี่ แต่ไม่ใช่ปล่อยทำกันตามสะดวก ต้องมีกรอบ เผยหลายโครงการไม่เกี่ยวข้องเรื่องสุขภาพเลย แต่เป็นงานวิจัยทางการเมือง
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9084 ข่าวสดรายวัน
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้คตร.ตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ว่า รายงานผลสอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ ทราบแล้ว พบการใช้งบฯ ส่วนหนึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จากการตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายงบฯ ให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ดำเนินการ ไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงโดยชัดเจน ที่สำคัญยังเป็นภาษี จากเหล้าและบุหรี่ วัตถุประสงค์กองทุนนี้คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนงดสูบบุหรี่และงด ดื่มเหล้า เพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรง หรือกิจกรรมอะไรที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่บางกิจกรรมไม่ส่งผลโดยตรงให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง
พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแล และจัดทำให้ถูกต้องสอดคล้องวัตถุประสงค์กองทุน อยากให้ประชาชน ชุมชน ผู้มีรายได้น้อยมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรค ถ้าไม่ดำเนินการในส่วนนี้ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะขาดโอกาส เนื่องจากไม่มีเงิน การจะทำหรือร่วมกิจกรรมที่จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง หรือไม่มีกิจกรรมอะไรเสริมช่วยคนเหล่านี้ จะทำให้ประชาชนเจ็บป่วย ต้องเสียเงินอีกส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาพยาบาล เท่าที่ทราบ รมว.สาธารณสุขตั้งคณะทำงานดูแลในส่วนนี้แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ดังกล่าว ต้องตรวจสอบเรื่องทุจริตด้วยหรือไม่ พล.อ.ชาตอุดมกล่าวว่า ต้องดูด้วย ตรงนี้นายกฯ สั่งให้กระทรวงยุติธรรมไปดูการอนุมัติงบฯ ส่วนที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์แล้ว ส่วนนี้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เข้าไปดู ขอเรียนว่าเป็นเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่ ไม่ได้มาจากงบประมาณโดยตรง เป็นลักษณะเงินนอกงบประมาณ ก็ต้องดำเนินการในส่วนนี้ ไม่ใช่ปล่อยทำกันตามสะดวก ต้องมีกรอบ ที่ผ่านมาก็ให้สตง.เข้าไปดู พบในสิ่งที่ไม่ถูกต้องบางส่วน แต่คงไม่บอกว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด
"นายกฯ อยากทำตรงนี้ให้ถูกต้องและโปร่งใส ตรงนี้กระทรวงสาธารณสุขรับไปดูรายละเอียด และคตร.จะเข้าไปช่วยดูกำกับการเบิกจ่ายงบฯ ให้อยู่ในกรอบ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์" ประธานคตร.กล่าว และเมื่อถามว่าต้องเบรกการใช้งบฯ ของสสส.ก่อนหรือไม่ พล.อ.ชาตอุดมกล่าวว่า นายกฯ ให้เบรกการใช้งบฯ ในส่วนที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ อะไรที่สสส.ทำตรงตามวัตถุประสงค์ ให้เดินต่อ อะไรไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ให้หยุดไว้ก่อน แต่ไม่ใช่ให้หยุดทั้งหมด
ส่วน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งคณะกรรมการร่วมกำหนดทิศทางการทำงานของสสส.ในอนาคต โดยมีนพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และคณะกรรมการจะประชุมกันในวันที่ 13 ต.ค.นี้ คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาทบทวนการบริหารจัดการของสสส. และกำหนดแนวทางแก้ไขให้การใช้งบฯ ของสสส.เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 แต่ไม่ได้เป็นการสอบความผิด จะเน้นไปที่การพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการของสสส. และช่วยกำหนดแนวทางแก้ไข ในการประชุมวันที่ 13 ต.ค. จะนำข้อมูลจากคตร. และสตง. มาประกอบการพิจารณาด้วย นอกจากนี้ ยังจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมหารือด้วย
"ยืนยันว่า ไม่ได้เข้าไปเพื่อชี้ความผิด แต่จะเข้าไปเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขมากกว่า ในการกำหนดทิศทางการแก้ไข ครั้งนี้ตั้งใจว่าอยากให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เนื่องจากอยากให้ สสส.ดำเนินการและทำงานต่อไปได้ เพราะหลายเรื่องที่ สสส.ทำอาจต้องชะงัก ส่วนในเรื่องที่ทำแล้วถูก ต้อง ก็ให้เดินหน้าต่อไป แต่อะไรที่ขัดข้อง ก็อยากให้ชะลอการทำงานก่อน" รมว.สาธารณสุขกล่าว
จากกรณีการใช้งบฯ ของสสส. ในการสนับสนุนงบฯ โครงการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ แต่มีบางโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมือง เช่น โครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สนับสนุนโดยสสส. โดยที่ผ่านมา นสธ. และสสส.ชี้แจงว่าแม้จะเป็นเรื่องการเมือง แต่ก็เป็นนโยบายสาธารณะที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับสุขภาพ
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบรายงานฉบับเต็มของโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย พบว่าบทสรุปโครงการไม่ได้มีส่วนใดที่ระบุถึงเรื่องสุขภาพ แต่ระบุถึงของความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีรากฐานจากความขัดแย้งเชิงกลุ่ม ชนชั้นทางเศรษฐกิจ คือระหว่างชนชั้นกลางระดับล่าง และชนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป หรือกลุ่มเสื้อแดงและเสื้อเหลือง เรียกว่าเป็นความขัดแย้งทางการเมืองของการกระจายทรัพยากร รวมไปถึงเรื่องของพลเมืองใหม่ ที่ให้การสนับสนุนการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ และ ข้อโต้แย้งต่อมุมมองของการศึกษา สังคมการเมืองไทย แต่ไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงเรื่องของสุขภาพ
รายงานข่าวระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2553 สิ้นสุดต้นปี 2556 แบ่งออกเป็น 5 ภาค อาทิ ภาคหนึ่ง วิธีการศึกษาและวรรณกรรมปริทัศน์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ภาคสอง ตอบคำถามหลักของการวิจัย 6 คำถาม คือ ใครเป็นคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง ทำไมจึงเป็นคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง นโยบายประชานิยมมีผลอย่างไรต่อทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเมืองของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ความยากจน ความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ เงินเป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกตั้งหรือไม่ และระบบอุปถัมภ์มีความซับซ้อนอย่างไร
แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขแจ้งด้วยว่า สสส.ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ ที่หลุดจากเรื่องสุขภาพไปไกลหลายเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรม เช่น ปฏิรูปประเทศไทยระบบการคลังปิโตรเลียม ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม ของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินการโดย นสธ. สนับสนุนโดย สสส. โครงการวิจัยเรื่องการยกระดับขีดความสามารถ และนัยยะต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระดับจังหวัด กรณีศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ งานวิจัยการประเมินศักยภาพของอาจารย์ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต เป็นต้น สสส.ควรตอบให้ได้ว่าการสนับสนุนงบฯ ให้แก่โครงการหรืองานวิจัยดังกล่าว ที่สุดแล้วทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นได้อย่างไร