- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 19 June 2015 12:28
- Hits: 3254
โผล่กรุง พบ'เมอร์ส'รายแรก เผยเป็นผู้ชายอายุ 75 ปี มาจากตะวันออกกลาง สั่งกัก 59 คนเกี่ยวข้อง ยันไม่ระบาดซ้ำเกาหลี
'เมอร์ส'โผล่ไทย ผู้ป่วยบินมาจากตะวันออกกลาง สธ.รับตัวรักษาที่ 'บำราศนราดูร' ชี้เชื้อเพิ่งเริ่มฟักตัว พร้อมตาม 59 ผู้สัมผัสคนป่วย เข้ากักโรคแล้ว สธ.แถลงยันไม่ระบาดแน่นอน เผยเป็นผลจากมาตรการรองรับ เฝ้าระวังคนเดินทางจากตปท. และผู้มีประวัติสัมผัส'อูฐ'เตือนผู้มีประวัติเสี่ยง ถ้าไอ-จามมากให้พบหมอทันที
วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8969 ข่าวสดรายวัน
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 มิ.ย. ที่กรม ควบคุมโรค คณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ได้ประชุมหารือด่วนกรณีที่พบชายชาวต่างชาติซึ่งเดินทางมาจากตะวันออกกลาง และมีอาการเข้าข่ายต้องสอบสวนโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส เป็นรายแรกในประเทศไทย โดยเก็บเชื้อส่งตรวจยืนยันทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับ ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนะรักษ์ ผลิพัฒน์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นพ.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยไวรัสสัตว์สู่คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสระบาดวิทยา
ต่อมาเวลา 18.00 น. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาด และไวรัสวิทยา ที่ร่วมประชุมหารือกรณีพบผู้ป่วยโรคเมอร์ส ร่วมแถลงข่าวว่าจากการคัดกรองผู้ป่วย ล่าสุดรับผู้ป่วยชาวตะวันออกกลาง 75 ปีเข้ารับรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อเช้าวันที่ 18 มิ.ย. โดยผู้ป่วยเดินทางมาจากตะวันออกกลาง ถึงไทยวันที่ 15 มิ.ย. โดยตั้งใจมารักษาโรคหัวใจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่หลังจากเดินทางมาถึงมีอาการเหนื่อย หอบ มีไข้ ไอ จากมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวดทำให้โรงพยาบาลเอกชนเก็บเชื้อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า โดยผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบว่าเป็นบวก คือ พบเชื้อ ซึ่งขั้นตอนตรวจเป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก โดยอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยยังคงทรงตัว ส่วนญาติผู้ป่วยที่เดินทางมาพร้อมกัน 3 คน ขณะนี้ได้เข้ามาตรการเฝ้าระวัง โดยให้กักตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร เช่นเดียวกัน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า มาตรการเฝ้าระวังโรคจะติดตามผู้สัมผัสโรคเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้พบว่ามีทั้งสิ้น 59 ราย โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเอกชน ผู้ที่เดินทางมาร่วมกันบนเครื่องบินสองแถวหน้า สองแถวหลัง เจ้าหน้าที่ในโรงแรม และผู้ขับรถแท็กซี่ ซึ่งจากมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวดจำเป็นต้องรับตัวและติดตามตัวผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งในกลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ
"ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำจะให้เฝ้าระวังอยู่ที่บ้าน 14 วัน ซึ่งได้ขอความร่วมมือให้อยู่แต่ภายในบ้าน และจะโทรศัพท์ถามอาการทุกวัน พร้อมไปตรวจเยี่ยมที่บ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนผู้เสี่ยงสูงจะให้เฝ้าระวังอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งคือ ญาติ ผู้ที่อยู่ในเครื่องบินลำเดียวกัน สองแถวหน้าและหลัง"ศ.นพ.รัชตะกล่าว
รมว.สธ.กล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ การพบโรคในครั้งนี้เพราะการตรวจจับโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีการสัมผัสกับคนมาก ซึ่งเคยเกิดเคสแบบเดียวกันนี้ในประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่ตรวจจับโรคได้เร็วเช่นกัน ทำให้มีผู้ป่วยเพียงรายเดียว และสามารถหยุดโรคไม่ให้แพร่กระจายต่อได้
นพ.ธนะรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้สามารถติดตามผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยได้เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งในวันที่ 19 มิ.ย.จะสอบสวนโรคเพิ่มเติมเพื่อหาว่ายังมีผู้สัมผัสอีกหรือไม่ ทั้งนี้จากการสอบสวนโรคไม่พบว่าชายชาวตะวันออกกลางมีประวัติสัมผัสสัตว์
รศ.พิเศษ นพ.ทวี กล่าวว่า การพบผู้ป่วยไม่เกินความคาดหมาย ขอให้มีความมั่นใจ ฝากถึงประชาชนว่าการเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยงขอให้กลับมาแล้วแจ้งให้โรงพยาบาลรับทราบทันทีเมื่อป่วยจะช่วยหยุดการระบาดของโรคได้
ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสามารถพบเชื้อได้ในประเทศไทย ซึ่งไทยเตรียมตัวรับมือโรคนี้มานาน ผู้ป่วยรายนี้ก็ติดตามตั้งแต่สนามบินถึงโรงพยาบาล ต่อมา เมื่อถึงโรงพยาบาลก็ให้เข้าห้องแยกโรคทันที และส่งตัวอย่างตรวจ เมื่อผลออกมาก็ประชุม ผู้เชี่ยวชาญทันที พร้อมกับย้ายผู้ป่วยมาที่สถาบันบำราศฯ รวมทั้งญาติทั้งสามรายเพื่อกักโรค ขอยืนยันว่า ไทยมีความมั่นใจ ที่จะทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายออกสู่ชุมชน ถ้ามีกรณีที่ต้องสงสัย แล้วสามารถตรวจจับได้เร็วก็สามารถคุมโรคได้
"สำหรับประเทศไทย เหตุการณ์การแพร่ระบาดในวงกว้าง แบบเกาหลีใต้ คงไม่เกิดขึ้น เพราะโรงพยาบาลแรกที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามีมาตรการควบคุมตั้งแต่แรก โดยการนำผู้ป่วยเข้าห้องแยกโรคทันที ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลก็ป้องกันตัวเองทุกคน นอกจากนี้ในสถานพยาบาลอื่นๆ แพทย์ไทยทุกคนหากพบผู้มีอาการเข้ากับโรคนี้ได้ จะซักถามประวัติ และรายงานให้ระบบการตรวจจับรับทราบทันที"ศ.นพ.ประเสริฐกล่าว
นพ.วสันต์ กล่าวว่า จากการที่หลายสถาบันตรวจยืนยันเชื้อจากผู้ป่วยในหลายช่วงเวลา พบปริมาณไวรัสน้อยมาก จนเมื่อคนไข้เข้ามาอยู่ในระบบควบคุมรักษาของร.พ. จึงพบว่าปริมาณเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับระยะแพร่เชื้อที่จริงจัง เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในการควบคุมที่ร.พ.อยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่แพร่ไปติดแท็กซี่จะน้อยมาก ทำให้ทราบว่าการตรวจวินิจฉัยโรคต้องตรวจจากเสมหะ
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า คนไทยต้องตระหนัก และรับผิดชอบตัวเองในการป้องกันโรคนี้ด้วย จะรอเพียงการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าคิดว่า เสี่ยง และมีอาการก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ทั้งนี้ การแพร่ของโรค หากมีอาการมาก ไอ จาม มาก อาการบอบช้ำมากก็จะแพร่เชื้อไปได้มาก
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวง สธ. รักษาการปลัด สธ. กล่าวว่า กรณีนี้ไม่มีการปิดข่าว โดยผลตรวจได้ส่งไปที่ห้องแล็บต่างๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. แต่จำเป็นต้องรอผลการยืนยันตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก สถานการณ์เช่นนี้ จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ด้วยการทราบตนเอง เมื่อเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงโรค เมื่อเจ็บป่วยต้องแจ้ง และใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เพื่อป้องกันโรค
สำหรับ ประเทศไทยได้ประกาศให้โรค เมอร์ส เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด จะให้คำแนะนำผู้เดินทางเข้าและออกจากประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศเกาหลี และใช้มาตรการคัดกรองด้วยการแยกผู้ป่วยที่มีไข้ ไอ ภายหลังเดินทางมาผ่านจากประเทศเฝ้าระวัง 14 วัน และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรืออูฐ หรือดื่มนมอูฐ และส่งเชื้อตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการ
วันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความ โดยระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศลง วันที่ 18 ต.ค. 2547 ประกาศลงวันที่ 4 มิ.ย. 2552 ประกาศลงวันที่ 26 มิ.ย. 2552 และประกาศลงวันที่ 13 ส.ค. 2557 กําหนดชื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความ 21 โรคนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 รมว.สาธารณสุขจึงออกประกาศเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความ ดังนี้ "22 โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome - MERS)"