- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 08 March 2015 22:10
- Hits: 3241
สธ.เตือนระวัง 6 โรคติดต่อจากอาหารและน้ำ ในช่วงภัยแล้ง !! ปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 1.7 แสนราย
กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ระวังโรคติดต่อที่มาพร้อมกับภัยแล้งและหน้าร้อน ที่พบบ่อย 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ เผยปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคมถึงสิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2558 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 170,000 ราย ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ประสบภัยแล้ง ขณะนี้มีประมาณ 4,300 กว่าหมู่บ้าน คุมเข้มมาตรฐานน้ำดื่ม น้ำประปา น้ำแข็ง ไอศกรีม ความสะอาดตลาดสด ส้วมสาธารณะ ห้องครัว แนะประชาชนยึดหลัก กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลทำให้เชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ประชาชนเสี่ยงเจ็บป่วยง่ายขึ้น ที่พบบ่อยในช่วงฤดูแล้ง และหน้าร้อน คือโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ มี 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำสะอาดหรือขาดแคลนน้ำใช้ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 18 จังหวัด 4,300 กว่าหมู่บ้าน จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดโรคดังกล่าว ง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชน ให้กรมอนามัยรณรงค์เรื่องความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมตามสถานที่สาธารณะ ตลาดสด ร้านอาหารทุกประเภท ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควบคุมมาตรฐานการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำแข็ง และไอศกรีม ซึ่งเป็นอาหารที่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กๆ นิยมบริโภคในหน้าร้อน และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ความสะอาดร้านอาหาร โรงงานผลิตน้ำดื่ม แหล่งผลิตน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำแข็ง ไอศกรีม ตลาดสด และส้วมสาธารณะที่อยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเฝ้าระวังโรค หากมีรายงานผู้ป่วยให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงไปควบคุมป้องกันโรคทันที เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 6 โรค ในปี 2557 พบผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,252,259 ราย เสียชีวิต 9 ราย โรคที่พบผู้ป่วยมากอันดับ1 ได้แก่อุจาระร่วง จำนวน 1,107,169 ราย เสียชีวิต 9 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 134,549 ราย โรคบิด 8,120 ราย โรคไทฟอยด์ 1,955 ราย โรคไวรัสตับอักเสบ เอ 454 ราย และโรคอหิวาตกโรค 12 ราย ส่วนในปี 2558 นี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พบผู้ป่วย 6 โรครวม176,804 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยโรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่โรคอุจจาระร่วง 156,121 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 19,612 ราย โดยพบผู้ป่วยได้ทุกวัย ผู้ใหญ่พบได้เกือบร้อยละ 60 ส่วนในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบได้ร้อยละ 29
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า หลักปฎิบัติง่ายๆ ให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำดื่ม ขอให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลางและล้างมือ โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ใช้ช้อนกลางตักอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม ทำความสะอาดครัวปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก อาหารที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม เนื่องจากจะบูดเสียง่าย รวมทั้งอาหารทะเล ส้มตำ ยำต่างๆ อาหารปรุงสุกๆดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย หรืออาหารที่มีแมลงวันตอมทั้งนี้ตลอดฤดูร้อนปีนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วไว้กว่า 2,700 ทีมทั่วประเทศ สามารถลงพื้นที่ควบคุมโรคที่เกิดจากภัยแล้งภายใน 24 ชั่วโมง
“อยากขอเตือนพ่อค้าแม่ค้า ที่ขายอาหารตามสั่ง อย่าแช่เย็นอาหารดิบไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผักสด หรือน้ำดื่มบรรจุขวดในถังเดียวกับน้ำแข็งที่ใช้บริโภค เพราะเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารดิบเหล่านี้ จะปนเปื้อนในน้ำแข็ง ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ และพบได้บ่อยมาก เนื่องจากในช่วงที่มีอากาศร้อน ประชาชนจะมีการบริโภคน้ำแข็งสูงกว่าปกติ 3-5เท่าตัว” นายแพทย์โสภณกล่าว
สำหรับอาการป่วยของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ อาการของผู้ป่วยจะคล้ายๆกัน มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ในการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงทั่วๆไป ขอให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร เพื่อให้มีสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย และควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืดและให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสแทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์
ส่วนการดูแลเด็กเล็กที่อุจจาระร่วง ขอให้ผู้ปกครองป้อนอาหารเหลวบ่อยๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด และกินนมแม่ได้ตามปกติ กรณีของเด็กที่กินนมผสม ให้เจือจางนมผสมเหลือครึ่งหนึ่งของปกติที่เคยได้รับ จิบน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ และให้อาหารที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม อาการเด็กจะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น ถ่ายเหลวไม่หยุด เด็กซึมลง ปากแห้งมาก ปัสสาวะสีเหลืองเข้มให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้านทานโรคน้อย เสี่ยงชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น