- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Tuesday, 01 November 2022 16:45
- Hits: 1303
สสส.จับมือภาคีเครือข่าย จัดฮาโลวีนชุมนุมผีไทย สะท้อนความสูญเสียในเด็ก เยาวชน จากปัญหาเหล้า ยาเสพติด การพนัน และอุบัติเหตุ จี้ภาครัฐ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาจริงจัง เน้นเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ หยุดเพิ่มพื้นที่อบายมุข คุมเข้มจุดเสี่ยง ชงตั้งกองทุนหนุนการรวมกลุ่มที่เข้าถึงง่าย ‘อดีตเยาวชน’ เปิดใจสูบกัญชาตั้งแต่อายุ 13 ปี ส่วนเพื่อนที่ไม่ยอมเลิกต้องกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายบางกอกกำลังดี และ MEDIA MOVE ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลฮาโลวีน ตอน “ชุมนุมผีไทย ร่วมไว้อาลัยกับความสูญเสียของเด็กและเยาวชน” สะท้อนปัญหายาเสพติด เหล้า พนัน อุบัติเหตุ ทำลูกหลานไทยเจ็บ ตาย พิการ ติดคุก จากนั้นเครือข่ายเด็กและเยาวชนออกแถลงการณ์ “รับไม่ไหว...เราจะไม่ทนต่อความสูญเสียของเด็กและเยาวชน” และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ร่วมกันไว้อาลัยให้กับเด็กเยาวชนที่สูญเสียจากปัจจัยเสี่ยง เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า จากข่าวด้านลบเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในแต่ละวัน พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงหล้า บุหรี่ ยาเสพติดและการพนันเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งข้อมูลเมื่อเทียบกับปี 2562 พบเด็กและเยาวชนอายุ 15-25 ปีเล่นการพนันเพิ่มเป็น 4.3 ล้านคน ประชากรภาพรวมเล่นพนันออนไลน์เพิ่มจาก 1.9 ล้านคน เป็น 1.12 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 135% และข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบเด็ก เยาวชน 15-24 ปีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 20.9% ประมาณ 1 ใน 5 มีพฤติกรรมดื่มแบบทิ้งตัว เมาหัวราน้ำ ส่วนการสูบบุหรี่พบ 12.7% หรือ 1 ใน 10 ของเยาวชนทั้งหมด และ 7 ใน 10 คนที่ติดบุหรี่ไม่สามารถเลิกได้ตลอดชีวิต ส่วนปัญหายาเสพติดพบในภาพรวมกว่า 3 แสนคน โดย 40% เป็นเด็กและเยาวชน นอกจากนี้เรายังสูญเสียเด็กๆ ไปกับอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก และถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในกลุ่มนี้ด้วย และยังมีเด็กอีกนับแสนคนต้องออกจากระบบการศึกษา ในจำนวนนี้มี 60% ที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ ดังนั้นถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องถือเป็นธุระ เอาจริงแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงกับเด็กและเยาวชนอย่างเด็ดขาด ต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์ สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม รับฟังปัญหาของพวกเขา กิจกรรมวันนี้จึงต้องใช้กระแสฮาโลวีนที่อยู่ในความสนใจของเด็กและเยาวชน สะท้อนปัญหาและข้อห่วงใย
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกๆ ปี เราต้องสูญเสียลูกหลานจากปัจจัยเสี่ยงยาเสพติด การพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุ ทั้งบาดเจ็บ เสียชีวิต พิการ ติดคุก เสียอนาคต บางคนต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยจิตเวช ทั้งนี้แม้ว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากตัวเด็กเอง แต่ต้องยอมรับว่าทุกเรื่อง เกิดขึ้นจากสิ่งที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น ทำให้เด็กเยาวชนเข้าถึงแหล่งอบายมุขได้ง่าย ดังนั้นเป็นโอกาสดีที่เครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมฮาโลวีนสอดแทรกสถานการณ์ปัญหาที่กระทบกับเด็กและเยาวชนไทยใน 4 มิติ ในส่วนของกทม.ภายใต้การนำของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม.มุ่งมั่นป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ให้เด็ก เยาวชนมีส่วนร่วมออกแบบเมือง ออกแบบอนาคต สิ่งที่เขาต้องการ
ด้านนายอนุลักษณ์ เอี่ยมศรี แกนนำเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง อ่านแถลงการณ์ด้วยชุมยมบาล ความตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนต้องเผชิญความเสี่ยงจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต และการใช้ชีวิตตามความฝัน แต่นโยบายภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงกลับน้อยมาก จึงขอแสดงจุดยืนและเรียกร้อง ดังนี้ 1.เครือข่ายฯเสียใจและผิดหวังต่อนโยบายภาครัฐ ที่ยังขาดความมุ่งมั่นและจริงใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน 2.ขอต่อต้านการเพิ่มพื้นที่ปัจจัยเสี่ยง เช่น บ่อนกาสิโน หรือพนันออนไลน์ถูกกฎหมายในไทย และไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ 3.รัฐบาล พรรคการเมือง รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องแสดงจุดยืนชัดเจนในการปกป้องเด็ก เยาวชน และประชาชนจากปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด อุบัติเหตุทางถนน และการพนันทุกรูปแบบ โดยปรับปรุง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478,พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551, ตั้งคณะกรรมการ หรือองค์กรมีอำนาจควบคุม กำกับดูแล และลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างอิสระ ปราศจากอิทธิพลกลุ่มการเมืองและผลประโยชน์, ปฏิรูปหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามให้บังคับใช้กฎหมายปกป้องประชาชนอย่างเข้มแข็ง รณรงค์สร้างความปลอดภัย หยุดพฤติกรรมเสี่ยงทางถนน
4.ขอให้รัฐบาล และกรุงเทพมหานคร เร่งส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่เข้าถึงง่าย เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างทักษะชีวิต และพัฒนาพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้มาก 5.ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดีอีเอส กำชับเจ้าหน้าทั่วประเทศให้ตรวจสอบ กวดขัน สถานบริการ บ่อนการพนันผิดกฎหมายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ สอดส่องดูแลการมั่วสุมและลักลอบจำหน่ายยาเสพติด ร้านเหล้าผับบาร์ที่ทำผิดกฎหมาย ให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
ขณะที่ นายซี (นามสมมติ) อดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญฯ กล่าวว่า ตนเริ่มใช้บุหรี่ตอนอายุ 11 ปี โดยนำเอาก้นบุหรี่ที่พ่อทิ้งไว้มาสูบต่อ และเนื่องจากที่บ้านขายของชำจึงสามารถหาบุหรี่มาสูบได้ง่าย ผ่านมา ตอนอายุ 13 ก็นำเอากัญชาที่พ่อสูบอยู่แล้วมาสูบต่อ แถมยังนำไปให้เพื่อนๆ สูบด้วย ต่อมาก็ลองยาเสพติดตัวอื่นทั้งยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี ส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว และพลาดไปก่อเหตุฆ่าคนตายต้องไปติดคุกเด็ก และขอย้ายไปบ้านกาญฯ ต้องหักดิบจากยาเสพติดทุกอย่าง และปรับความคิดพฤติกรรมพอได้รับอิสรภาพแล้วไม่มีความอยากใช้ยาเสพติดอีก และที่ยังเสียใจจนถึงตอนนี้คือการที่ตนพาเพื่อนเข้าไปสู่วังวนอบายมุขบุหรี่ กัญชา แต่เขาไม่พลาดติดคุกแบบตน และยังสูบกัญชาเรื่อยมา จนตอนนี้ต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยจิตเวช ทำงานไม่ได้เป็นภาระของพ่อแม่ญาติพี่น้อง ซึ่งตอนนั้นกัญชายังถือเป็นยาเสพติดด้วยซ้ำ แต่ตนเองที่อายุแค่นั้น ยังสามารถหาได้ พอมาตอนนี้กัญชาถูกทำให้ถูกกฎหมายแล้ว หาง่ายมาก ตามตลาดนัดก็มีขาย ดังนั้นต้องเตือนเด็กๆ และเยาวชนอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยว พยายามพาตัวเองไปหาแสงสว่าง ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ อยู่ให้ไกลจากหลุมดำยาเสพติด โดยส่วนตัวสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ แต่กังวลมากหากให้มีกัญชานันทนาการ
A11052