- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 18 September 2022 23:06
- Hits: 2152
บอร์ด สปสช.เคาะข้อเสนอรับเงินกู้ '2.7 หมื่นล้านบาท' รอบ 5 จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ สำหรับจ่ายค่าบริการโควิด
บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนอขอรับเงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินฯ รอบที่ 5 ปี 2565 เพื่อจ่ายค่าชดเชยค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคโควิด-19 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในคนไทยทุกคน ค่าบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 และค่าเยียวยาสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากวัคซีน รวมทั้งสิ้นจำนวน 2.75 หมื่นล้านบาท
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอวงเงินงบประมาณที่จะขอรับจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด-19 รอบที่ 5 ปี 2565 เพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคโควิด-19 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ให้บริการก่อนวันที่ 4 ก.ค. 2565 และส่งข้อมูลเพื่อขอรับค่าใช้จ่ายทันภายใน 31 ส.ค. 2565 จำนวน 27,562.56 ล้านบาท
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ได้มีอนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รอบที่ 4 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับหน่วยบริการและสถานพยาบาลที่ให้บริการแล้วระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 15 พ.ค. 2565 วงเงิน 18,447.98 ล้านบาท
สำหรับ บริการที่เกิดภายหลังวันที่ 15 พ.ค. 2565 ทาง สปสช. ได้ประมวลผลและเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ และคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินที่เสนอขอรับเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ จำนวน 25,664.68 ล้านบาท จากนั้นได้มีการปรับตัวเลขค่าใช้จ่ายให้เป็นปัจจุบัน โดยพบว่ามียอดค่าใช้จ่ายที่ต้องขอรับเพิ่มอีก 1,897.88 ล้านบาท
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การขอรับจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รอบที่ 5 นี้คาดว่าจะเป็นรอบสุดท้าย ซึ่งครั้งนี้จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าบริการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในคนไทยทุกคน จำนวน 1,969.76 ล้านบาท ค่าบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 จำนวน 25,469.90 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากบริการโควิด (ค่าเยียวยาวัคซีน) อีก 122.90 ล้านบาท
“เรื่องการขอเงินกู้เป็นสิ่งที่เราทำงานกับสภาพัฒน์ฯ และสำนักงบประมาณ โดยได้รับการสนับสนุนจากทางท่านรัฐมนตรี (สธ.) ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากทั้งสามฝ่ายเป็นอย่างดี เพราะเขาทราบถึงความจำเป็นต่างๆ ของเรา” เลขาธิการ สปสช. ระบุ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand