- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 15 August 2022 13:33
- Hits: 6329
คลินิกโรคหืดฯ รพ.ธัญบุรี ตัวอย่างดีๆ ดูแลผู้ป่วยช่วงโควิดแบบครบวงจร
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับบริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่โควิด-19 ค่อนข้างมาก หลายบริการแทบให้บริการไม่ได้จนต้องปรับระบบการดูแลให้เหมาะกับสถานการณ์ เช่น ยืดระยะเวลานัดพบแพทย์ ยืดระยะเวลาผ่าตัด การพบแพทย์ออนไลน์ การรับยาทางไปรษณีย์หรือที่ร้านยาใกล้บ้านที่มากขึ้น
คลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลธัญบุรี ก็เป็นอีกหน่วยหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทีมงานที่ต้องการดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด จึงมีการปรับระบบการดูแลให้เป็นแบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงตั้งแต่ในชุมชนมาจนถึงโรงพยาบาล และจากโรงพยาบาลกลับไปสู่ชุมชน อีกทั้งมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้แม้อยู่ในภาวะการระบาด จนได้รับรางวัลชนะเลิศ และ รางวัล Peer Recognition Award ในการนำเสนอผลงาน ‘การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แบบ Next Normal’และ ‘การสุมยา ดูแลระบบทางเดินหายใจ’ ในการประชุมประจำปีครั้งที่ 17 Easy Asthma and COPD Clinic (EACC) Annual Meeting เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา
นางศศิภาส์ อริสริยวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลธัญบุรี กล่าวว่า คลินิกโรคหืดฯ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 และพัฒนาสมรรถนะเรื่อยมา โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศในด้านโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในปี 2563 แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้น ทำให้แผนดังกล่าวต้องชะลอออกไปก่อน
นางศศิภาส์ กล่าวอีกว่า เริ่มแรกนั้นโรงพยาบาลธัญบุรี เป็นโรงพยาบาลชุมชน ยาที่ใช้ดูแลผู้ป่วยจึงไม่ได้เลิศหรูมากนัก สามารถดูแลผู้ป่วยระดับ 2-3 ได้ แต่ในระยะหลังได้อายุรแพทย์ เข้ามาร่วมทีม ทำให้สามารถจ่ายยาระดับสูงได้ ศักยภาพการดูแลจึงเพิ่มเป็นผู้ป่วยระดับ 3-4 ขณะเดียวกัน ในช่วงก่อนจะเกิดโควิด-19 เรายังมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลและญาติ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้ มีกิจกรรมเยี่ยมบ้านร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเกิดกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น หลังจากเยี่ยมบ้านแล้ว พบว่าภายในบ้านมีปัจจัยเป็นสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบเยอะมาก บางบ้านมีสุนัขและแมวเต็มบ้าน นั่งตรงไหนก็มีแต่ขนสัตว์ บ้านอยู่ติดถนนเจอแต่ฝุ่น ฯลฯ ซึ่งคนไข้ไม่ทราบว่าปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้อาการกำเริบ ทีมสหสาขาวิชาชีพจึงร่วมมือกับเครือข่ายในชุมชน พยายามเข้าไปปรับพฤติกรรมสุขภาพและสภาพแวดล้อมเท่าที่ทำได้ตามบริบทของผู้ป่วยแต่ละราย
"แต่ก่อนจะมียาพวกนี้ เรามียาสำคัญที่ใช้มาตั้งแต่ต้น คือ "ยาใจ" เราให้ความใส่ใจ จริงใจ ให้กำลังใจและเข้าใจคนไข้ อย่างที่ทราบอยู่แล้วว่าโรคหืดหอบและปอดอุดกั้นเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หาย แต่ควบคุมอาการไม่ให้กำเริบได้ เพราะฉะนั้น เราจึงใช้เรื่องการสร้างความมั่นใจ เพิ่มความสามารถในการดูแลตัวเองแก่ผู้ป่วย คนไข้ต้องเชื่อมั่นว่าจะดูแลตัวเองได้ และต้องทำให้เขาไว้ใจเราว่าดูแลเขาให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ เราจะบอกเสมอว่าคลินิกนี้เป็นของคนไข้ทุกคน เขาก็รู้สึกอยากดูแลตัวเองให้ดี
ทุกครั้งที่มีกิจกรรมอะไรก็มาช่วยเหลือกัน แม้แต่ช่วยส่งยาให้คนไข้ด้วยกันก็มี นอกจากนี้ เรายังเน้นเรื่องการเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสาร มีไลน์กลุ่มคนไข้และไลน์กลุ่มผู้ดูแล เพื่อสื่อสารให้กำลังใจกัน มีการพัฒนานวัตกรรม เช่น บ้านรอบรู้ ซึ่งเป็นบ้านจำลองที่เอาไว้เพิ่มความรอบรู้ให้กับคนไข้ว่ามีปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบอะไรบ้างภายในบ้าน รวมทั้งนวัตกรรมที่ใช้เพื่อบริหารปอดต่างๆ " นางศศิภาส์ กล่าว
อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นมา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถรับบริการได้ ทีมงานของคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจึงได้ปรับระบบการดูแลแบบ Next Normal มีการเชื่อมโยงการดูแลกันแบบไร้รอยต่อเกิดขึ้น
"อย่างที่ทราบว่าผู้ป่วยหอบหืดหรือโรคปอดอุดกั้น หากติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา อาการจะรุนแรงมากและมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่าย ในการระบาดระลอกแรก เรามีคนไข้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 คน และเสียชีวิตไป 3 คน คนไข้เหล่านี้ก็เหมือนญาติของเรา การเสียชีวิตไปถึง 3 คนเป็นเรื่องที่ไม่โอเคอย่างยิ่ง แล้วการระบาดในระลอกที่ 2-3 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นวงกว้างมากขึ้น คนไข้ในคลินิกเราติดเชื้อไป 4% ของคนไข้ทั้งหมด ตอนนั้นมีคนไข้รอการวินิจฉัย (เป่าปอด) ประมาณ 30 ราย
แต่เราไม่สามารถใช้เครื่องประเมินสมรรถนะปอดได้เพราะเกรงว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ ก็เลยพัฒนานวัตกรรม Magic Box Safety for Life โดยนำตู้ความดันบวกที่ปกติให้เจ้าหน้าที่เข้าไปนั่ง Swab เก็บตัวอย่างหาเชื้อโควิด มาปรับเป็นตู้ความดันลบแล้วให้คนไข้เข้าไปเป่าปอดทดสอบสมรรถนะปอดข้างใน หลังจากใช้แล้วก็ฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย วิธีนี้ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นและรับการรักษาได้โดยไม่สะดุด" นางศศิภาส์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ทางคลินิกยังทบทวนระบบการดูแลเสียใหม่ ให้ความสำคัญกับระยะ Pre-Hospital ด้วยการเน้นย้ำความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่คนไข้ ย้ำเรื่องการควบคุมความเสี่ยงไม่ให้อาการกำเริบ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ป่วยในการจัดการดูแลและช่วยเหลือตัวเอง นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายในชุมชน เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้โดยมีทีมของโรงพยาบาลคอยสนับสนุน
หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่ระยะ In-Hospital ทางทีมงานได้ทบทวนแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังอิงตามไกด์ไลน์ของโรคนี้อยู่ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพทีมของโรงพยาบาลให้สามารถตรวจคัดกรองได้รวดเร็ว เพื่อให้คนไข้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น รวมทั้งนำมาตรฐาน 2P Safety เข้ามาใช้ และเพิ่มเป็น 3P คือ Patient Safety, Personal Safety และ People Safety และด้วยความที่มีแพทย์แผนไทยอยู่ในทีมด้วย จึงได้นำวิธีการสุมยาเพื่อเสริมการดูแลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจอีกทางหนึ่ง
"จากนั้นในระยะ Post-Hospital เมื่อจำหน่ายคนไข้กลับสู่ชุมชนแล้ว เราจะมีการดูแลแบบเป็นระบบ มีการคืนข้อมูลสู่ รพ.สต. และติดตามเยี่ยมบ้านโดยทีมเครือข่าย อีกทั้งมีการสื่อสารระหว่างทีมโรงพยาบาลและทีมในชุมชนตลอดว่าคนไข้เป็นอย่างไรบ้าง" นางศศิภาส์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่ปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าน่าพอใจ กล่าวคืออัตราการเข้าถึงบริการในคลินิกลดลงเล็กน้อย เป็น 79.05% จากเกณฑ์มาตรฐาน 80% เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่อัตราการนอนโรงพยาบาลน้อยมากคือ 1.75% ของทั้งหมด และคนไข้โรคหืดได้ยา ICS คิดเป็น 81.58% อัตราการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุกกั้นเรื้อรังลดลงเหลือ 55.79 ต่อประชากรแสน และที่สำคัญคนไข้ในคลินิกที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับการดูแล 100% อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 เท่ากับ 0
ด้าน นพ.ศราวุธ ธนเสรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ขึ้นมา สิ่งที่จนให้ความสำคัญมากที่สุดคือความปลอดภัยของบุคลากร ซึ่งนวัตกรรม Magic Box Safety for Life ที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และในระยะต่อไปก็อยากร่วมมือกับ สปสช. นำนวัตกรรมนี้ไปต่อยอดขยายไปปรับใช้ยังโรงพยาบาลอื่นๆ เพราะตู้ความดันบวกมีทุกโรงพยาบาลอยู่แล้ว สามารถนำไปประยุกต์กับผู้ป่วยโรคหอบหืด ทำให้สามารถดูแลได้ต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลธัญบุรี ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก โดยปกติแล้ว สปสช. เป็นผู้ดูแลเรื่องงบประมาณให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ซึ่งที่นี่มีครบทั้ง 2 อย่าง คือการเข้าถึง ที่นอกจากมาที่โรงพยาบาลแล้ว ยังมีการเยี่ยมบ้าน การดูแลครบวงจร รวมทั้งในแง่คุณภาพ ผู้ป่วยที่มาแล้วได้รับคุณภาพที่ดี
อีกทั้ง สามารถสอนให้ผู้ป่วยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ กลับบ้านแล้วสามารถบริหารจัดการตัวเอง ดูแลตัวเองได้ ปรับสภาพแวดล้อมลดความเสี่ยงได้ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่ สปสช. อยากให้เกิดการเข้าถึงและมีคุณภาพ และจะนำไปเป็นตัวอย่างขยายไปสู่ที่อื่นๆ โดยอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคลินิกโรคหอบหืดอย่างเดียว แต่โรคอื่นๆก็อยากให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพลักษณะนี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand