WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

7134 PMUC 01

บพข. ดันปลดล็อกกระท่อมแบบถูกทาง หนุน มอตั้งโรงงานต้นแบบสารสกัดสมุนไพร ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนภาคใต้

          บพข. ผนึกกำลัง 6 หน่วยงาน ตั้งโรงงานผลิตสารสกัดกระท่อมมาตรฐาน GMP แห่งแรกของประเทศ มุ่งเน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอาหารมูลค่าสูง ดันวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ได้ประโยชน์ ผู้บริโภคได้สินค้าที่มีมาตรฐาน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอาหารและยาของประเทศ

          จากกระแสเรื่องสมุนไพรที่มาแรงเป็นอย่างมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กัญชง และกัญชา ที่ได้มีการศึกษาวิจัยและได้มีการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในท้องตลาดอย่างหลากหลาย กระท่อม พืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ถูกจับตามอง หลังจากถูกยกเลิกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) .. 2564 ซึ่งกระท่อมเป็นพืชท้องถิ่นทางภาคใต้ของไทย เนื่องด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชกระท่อมจึงสามารถพบพืชกระท่อมได้มากในหลายจังหวัดภาคใต้ ในอดีตก่อนที่จะมีการประกาศให้กระท่อมเป็นสารเสพติดประเภท 5 ชาวบ้านในภาคใต้นิยมใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการต่างๆ เช่น อาการไอ ท้องร่วง ปวดท้อง ปวดฟัน และยังใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และใช้ทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น ปัจจุบันในหลายประเทศหันมาใช้ประโยชน์จากใบกระท่อมในการบำบัดผู้ติดสารเสพติด เนื่องจากมีผลวิจัยที่ระบุว่าสารเสพติดที่อยู่ในกระท่อมสามารถเลิกได้ง่ายกว่าสารเสพติดชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้มีการใช้กระท่อมในการบรรเทาอาการปวดทดแทนมอร์ฟีน รวมทั้งได้มีการนำมาแปรรูปเป็นแคปซูลแก้ปวดเมื่อย และผสมในยาชูกำลัง

 

7134 PMUC 02

 

          อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากกระท่อมทางการแพทย์ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายนัก ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบในการผลิตสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์และอาหารที่ได้มาตรฐาน GMP: ตัวอย่างการศึกษาพืชกระท่อมเป็นพืชต้นแบบ โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์พืชกระท่อมในทางการแพทย์และอาหารเสริมด้านสุขภาพในเชิงพาณิชย์ โดยได้มีความร่วมกับวิสาหกิจชมชุนในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ เช่น พื้นที่บ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง พื้นที่ในจังหวัดชุมพร และจังหวัดตรัง เป็นต้น ในการใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชกระท่อมอินทรีย์คุณภาพปราศจากสารเคมีเพื่อใช้ในทางการแพทย์และอาหาร

 

7134 PMUC 04

 

          โดยเมื่อวันที่ 16-19 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา รศ. ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. พร้อมคณะผู้บริหารและทีมงานจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) คณะผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันเค อะโกร-อินโนเวท ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย (KAI) บริษัท อินเตอร์ฟาร์มา จำกัด กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสภาอุตสาหกรรม ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบในการผลิตสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์และอาหารที่ได้มาตรฐาน GMP ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา พร้อมทั้งเยี่ยมชมแปลงการผลิตพืชกระท่อมคุณภาพภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และมาตรฐานของออร์แกนิค (Organic) ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปกระท่อมของวิสาหกิจชุมชนภาคใต้

 

วิริยะ 720x100

EXIM One 720x90 C J

 

          รศ. ดร.สิริชัยเสรี กล่าวว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างของโครงการสนับสนุนงานวิจัยด้านสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูงที่สามารถทำให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เราอยากให้โครงการนี้เป็นต้นแบบของการทำงานในพืชสมุนไพรอื่นๆ ที่ บพข. ให้การสนับสนุนเช่นกัน โดย บพข. ได้มีการทำงานร่วมกับทาง อย. เนื่องจากมีงานวิจัยด้านสารสกัดรวมทั้งยาอีกหลายตัว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้ อย. เข้ามาดูในเรื่องของกระบวนการผลิตว่าได้มาตรฐานและปลอดภัย สามารถขึ้นทะเบียน อย. ได้หรือไม่ เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่เรามักจะยกมาพูดถึงบ่อยๆ เพราะว่าเป็นโครงการที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นตัวอย่างให้นักวิจัยเห็นถึงการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การตั้งโรงงานผลิตสารสกัดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงงานผลิตยาจากสารสกัด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งนำยาจากสมุนไพรไปใช้และทดสอบ ไปจนถึงผู้ใช้ประโยชน์สุดท้ายคือผู้ป่วยในประเทศ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเห็นถึงภาพทั้งหมดได้ นอกจากนี้โครงการนี้ยังครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดภาคใต้ ไปสู่กลางน้ำคือกระบวนการผลิตและแปรรูปของโรงงานสารสกัด/โรงงานยา และปลายน้ำคือโรงพยาบาล/ผู้ป่วยที่ได้ใช้ยานั้น และมีการ scale up สู่ commercialization จึงนับว่าเป็นตัวอย่างโครงการที่ดี ต้องขอชื่นชมและขอบคุณทีมนักวิจัยเป็นอย่างมาก

 

7134 PMUC 06

 

          ศ. ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ในฐานะประธานอนุกรรมการแผนงานสุขภาพและการแพทย์ บพข. และกรรมการบริหาร TCELS กล่าวว่าเราอยากให้เครดิตกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และทีมงานของสถาบันวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นการผนึกกำลังของทีม มอ. จากตอนแรกที่เราเริ่มต้นนั้นเป็นเพียงแค่ไอเดียจากการไปดูงานผลิตกัญชา และได้โจทย์ในการทำวิจัย เราได้ลองค้นหาข้อมูลมาพบว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้นมีการทำงานวิจัยด้านกระท่อมมากที่สุดในประเทศ รวมทั้งกระท่อมนั้นเป็นพืชถิ่นใต้ จึงได้มีแนวคิดในการที่จะมาพัฒนามหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดให้มีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น จากการหารือกับ ผศ. นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อย. สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (...) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อร่วมมือในการพัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO 17025 สำหรับตรวจสอบสารปนเปื้อน คุณภาพของสารสกัดกระท่อม ตลอดจนผลิตสารมาตรฐาน ซึ่งโครงการนี้ บพข. ได้ให้การสนับสนุนครุภัณฑ์ที่ใช้ในโรงงานและสร้างห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐาน GMP และ ISO17025 ตามลำดับ ขอแสดงความชื่นชมกับทีมงาน มอ. ทั้งอาจารย์ผู้ดูแลการเพาะปลูกและดูแลเรื่อง QA/QC เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่อง ISO รวมทั้งการจัดทำ Database และ Traceability ซึ่งโครงการจะเดินหน้าได้ยากมากหากไม่มีใครที่มาช่วยผลักดันด้านงานเอกสารสำหรับการขึ้นทะเบียนรองรับมาตรฐาน เพื่อให้สามารถเป็น Healthy Project อย่างแท้จริงได้ นอกจากนี้ยังต้องขอขอบคุณภาคเอกชนที่มีศักยภาพ คือ มีโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐาน GMP/PICs ที่เข้ามาช่วย Matching กับทั้งทางโรงงานฯ และทางวิสาหกิจชุมชน เพื่อช่วยเกษตรกรให้มีรายได้จากการเพาะปลูกกระท่อมที่ได้คุณภาพ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันพืชสมุนไพรกระท่อมสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” 

 

7134 PMUC 05

 

          ผศ. นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่าปัจจุบันตลาดรับกระท่อม 2 แบบ คือ แบบตากแห้ง และแบบบดผง และกระท่อมที่จะสามารถนำไปใช้ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ด้านอาหารได้นั้นจะต้องเป็นใบกระท่อมที่มีคุณภาพ ต้องเพาะปลูกในพื้นที่ปลอดสารเคมีและโลหะหนัก สารสำคัญในกระท่อมขึ้นอยู่กับอายุของใบกระท่อม ยิ่งใบแก่ ยิ่งมีสาร Mitragynine มาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของพื้นที่เพาะปลูก โดยกระท่อมที่เพาะปลูกในภาคใต้ พบว่ามีสาร Mitragynine มากกว่ากระท่อมที่เพาะปลูกในภูมิภาคอื่น ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกกระท่อมมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกก็ได้นำเอากระท่อมสายพันธุ์ที่อยู่ในภาคใต้ของไทยไปใช้เพาะปลูกเช่นกัน จึงนับว่าเป็นโอกาสและข้อได้เปรียบของกระท่อมไทยเพราะเรามีกระท่อมที่มีคุณภาพดีกว่าที่อื่นๆ การจัดตั้งโรงงานต้นแบบสารสกัดในการผลิตสารสกัดมาตรฐาน GMP จากสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์และอาหารโดยใช้กระท่อมเป็นพืชต้นแบบในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ใช้ทางการแพทย์และอาหารได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถส่งต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปยังภาคเอกชนที่มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP/PICs จะทำให้สามารถขยายขนาดการผลิตออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการส่งออกสารสกัดกระท่อมของประเทศ

 

7134 PMUC 07

 

          จากนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาล/สถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ประกอบกับเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันให้กระท่อมกลายมาเป็นอีกหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ในอนาคต นอกจากสรรพคุณด้านการรักษาอาการและโรคต่างๆ แล้ว การใช้กระท่อมในการบำบัดสารเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้า เฮโรอีน ไอซ์ และแอลกอฮอล์ ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยกว่าและก่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอีกด้วย

 

A7134

 Click Donate Support Web

aia 720 x100PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!