- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 03 July 2022 14:14
- Hits: 3584
กรมอนามัย ห่วงพฤติกรรมเลียนแบบกินเนื้อตุ๊กแก แนะกินเนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง แทน ได้รับประโยชน์ดีกว่า
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงพฤติกรรมเลียนแบบตามยูทูบเบอร์ โชว์กินตุ๊กแกทอดกระเทียม ไม่แนะนำให้ทำตาม ชวนกินเนื้อสัตว์ประเภทหมู ไก่ ปลา กุ้ง แทน ได้โปรตีนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่เสี่ยงโรค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีทีมียูทูบเบอร์โชว์กินตุ๊กแกทอดกระเทียม ไม่แนะนำให้เลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว แม้ว่าตุ๊กแกจะมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายในประเทศ แถบเอเซีย เพราะมีความเชื่อว่าเนื้อของตุ๊กแกช่วยบำรุงกำลัง และมีสรรพคุณทางยาสามารถใช้รักษาโรคบางชนิดได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้ว่า ตุ๊กแกสามารถรักษาโรคได้จริงหรือไม่ และไม่มีการยืนยัน อย่างแน่ชัดว่า การกินตุ๊กแกจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับปริมาณของสารอาหารอื่นครบถ้วนและเพียงพอ
หากต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ นอกจากรสชาติแล้ว คุณค่าทางโภชนาการกับความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง จึงแนะนำให้บริโภคเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู ไก่ ปลา เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีการเลี้ยงเพื่อใช้สำหรับการบริโภค จึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลให้การเพาะเลี้ยง ตลอดถึงการชำแหละเนื้อสัตว์ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตร (GAP)
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การนำตุ๊กแกมากินนั้น อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้รับอันตรายทั้งจากการโดนตุ๊กแกที่มีฟันแหลมคมกัด หรือเสี่ยงต่อสัตว์มีพิษชนิดอื่น เนื่องจากตุ๊กแกไม่ใช่สัตว์ที่เพาะเลี้ยงเพื่อใช้บริโภค จึงต้องหาจากป่า สวน หรือบริเวณบ้านเรือน อีกทั้งหากไม่มีกระบวนการชำแหละ ล้างทำความสะอาด หรือปรุงให้สุกดีพอ จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อก่อโรคได้
ดังนั้น การเลือกกินอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ยังคงเน้นย้ำให้กินเนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง เพราะผ่านกระบวนการเลี้ยงที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารที่ให้โปรตีนหลัก แก่ร่างกาย ร่วมกับการเสริมไข่ นมจืด ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ จะได้รับโปรตีนคุณภาพดี มีสารอาหารครบถ้วน
“นอกจากนี้ สุขลักษณะในการปรุงประกอบอาหารนับเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต้องผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป สามารถกินได้อย่างปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องมีสุขลักษณะที่ดี โดยล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้ง ก่อนที่จะปรุงประกอบอาหาร หลังจากใช้ห้องส้วม และไม่ควรใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรง ควรใช้อุปกรณ์หยิบจับ
ส่วนสถานที่ในการใช้ปรุงประกอบอาหารต้องสะอาด เป็นระเบียบ เนื่องจากอาหารอาจถูกปนเปื้อนได้ง่าย จากเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป จึงต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร พื้น ผนัง เพดานของห้องครัวให้สะอาดอยู่เสมอ”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว