- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 05 February 2022 18:26
- Hits: 3441
วิเคราะห์เครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้ อย.ตรวจพบเครื่องสำอางผสมสารสเตียรอยด์และสารประกอบของปรอท
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ http://www.facebook.com/sawanarat/ ชื่อบัญชี ‘ครีมไข่มุกผสมบัวหิมะของแท้ล้านเปอร์เซ็น ปลีก-ส่ง รายใหญ่’เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 และได้ส่งตัวอย่างเครื่องสำอางตรวจวิเคราะห์พบสารห้ามใช้ที่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง จำนวน 2 รายการ ผลิตโดย บริษัท โมจุน ประเทศเกาหลี ผู้แทนจำหน่ายโดย บริษัท KIM คอสเมติกส์ จำกัด 888/32 นิคมอุตสาหกรรมบางพลี สมุทรปราการ ผลการตรวจวิเคราะห์พบ เบต้าเมธาโซน 17 – วาเลอเรท (Betamethasone 17 – valerate), คลอเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) จัดอยู่ในกลุ่มสารสเตียรอยด์ ซึ่งอาจทำให้ผิวบาง เกิดรอยแตก เส้นเลือดใต้ผิวหนังผิดปกติ หน้าแดงตลอดเวลา เกิดผื่นแพ้ เกิดสิวผด ผิวหนังมีสีจางลง หากใช้เป็นเวลานานจะเกิดด่างขาว และพบสารประกอบของปรอท (Mercury compounds) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ จึงขอประกาศผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์เครื่องสำอาง ดังนี้
1.เครื่องสำอาง KIM ครีมสมุนไพรขมิ้นผสมบัวหิมะ (KIM WHITENING TURMERIC AND SNOWLOTUS CREAM) พบสารห้ามใช้ คือ เบต้าเมธาโซน 17 – วาเลอเรท, คลอเบทาซอล โพรพิโอเนต และสารประกอบของปรอท
2.เครื่องสำอาง KIM ครีมไข่มุกผสมบัวหิมะ (KIM WHITENING PEARL AND SNOWLOTUS CREAM) พบสารห้ามใช้ คือ เบต้าเมธาโซน 17 – วาเลอเรท, คลอเบทาซอล โพรพิโอเนต และสารประกอบของปรอท
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตรวจวิเคราะห์พบสารห้ามใช้ จึงจัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ และพบว่ามิได้จดแจ้งก่อนนำเข้าอีกด้วย อย. ได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
ข้อแนะนำ
ขอเตือนให้ประชาชนเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง โดยเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง สำหรับ ร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย ขอให้แจ้งร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ