- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 22 January 2022 20:21
- Hits: 4422
ปฏิรูปรับฟังความคิดเห็นพัฒนาสิทธิบัตรทอง บูรณาการสู่งานประจำ เพิ่มการมีส่วนร่วม ตอบสนองเชิงรุก
สปสช.ปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อพัฒนาคุณภาพของความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลความเห็นจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบ’บูรณาการรับฟังความเห็นฯ กับงานประจำ’นอกเหนือจากการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปที่ทำในอดีต เพื่อให้การกำหนดนโยบายต่างๆ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของประชาชนตอบสนองความต้องการที่แท้จริงอย่างรวดเร็ว
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ประธานคณะทำงานพัฒนาการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. ได้ให้ความสำคัญต่อการรับฟังความเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี ซึ่งสนองตอบตามกฎหมายและอุดมการณ์หลักการทำงานของ สปสช. เพื่อนำความคิดเห็นมาพิจารณาพัฒนาระบบให้เกิดการดำเนินการดูแลประชาชนให้ได้รับบริการที่ดีขึ้นตลอดเวลา นับเป็นความงดงามของระบบหลักประกันสุขภาพไทย
ทั้งนี้ สปสช.พิจารณาสถานการณ์ในยุค new normal และทบทวนรูปแบบ เนื้อหา และประสิทธิผลของระบบการรับฟังฯที่ผ่านมา จึงเสนอให้คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมฯ และบอร์ด สปสช. พิจารณาให้ความเห็นชอบกับแนวทางใหม่ที่จะใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
รูปแบบการรับฟังความเห็นใหม่นี้ นอกจากจะรับฟังข้อมูลจากการจัดกิจกรรมเวทีรับฟังความเห็นประจำปี ในพื้นที่ทั้ง 13 เขตพื้นที่ และเวทีในระดับประเทศแล้ว ตามข้อบังคับฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ยังประมวลข้อมูล ข้อคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ ที่ได้จากการปฏิบัติงานประจำของ สปสช.
และจากกลไกต่างๆที่มีด้วย เช่น คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) และคณะทำงานย่อยชุดต่างๆ สายด่วน สปสช. 1330 และเว็บไซต์โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UCBP) เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนางาน
“การรับฟังความเห็นฯรูปแบบใหม่นี้ นับเป็นการปฏิรูปกระบวนการรับฟังความเห็นฯ ที่ดำเนินมาตลอด 19 ปี” ประธานคณะทำงานพัฒนาการรับฟังความคิดเห็นฯ กล่าว
ผศ.ดร.จิตติ กล่าวต่อว่า คณะทำงานพัฒนาการรับฟังความเห็นฯ ได้จัดทำ ‘แผนพัฒนาแนวทางการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปฯ ประจำปี 2565’ ซึ่งปรับปรุงกระบวนการการรับฟังความเห็น ตั้งแต่ปรับประเด็นการรับฟังให้มีความกระชับ เข้าใจง่าย และเลือกเนื้อหาที่บูรณาการกับงานประจำรับฟังความเห็นได้ตลอดปี มีการขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน การโทรศัพท์กลับเพื่อสัมภาษณ์ การพัฒนาระบบรับฟังผ่านระบบออนไลน์ให้มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมถึง การใช้ Software Transcript สำหรับกลุ่มผู้ให้ความเห็นที่มีปัญหาการพิมพ์ และกำลังศึกษาช่องทางการรับฟังความเห็นทางออนไลน์แบบใหม่ๆด้วย เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารข้อมูล สืบค้นสถานะของข้อเสนอได้ ตามมติ บอร์ด สปสช.ที่มอบหมายแนวทางดำเนินการไว้
ทั้งนี้ คณะทำงานพัฒนาการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรชุมชนแออัด ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ผู้แทนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ตามมาตรา 50 (5) ผู้แทนศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ผู้แทนชมรมพยาบาล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ/สื่อดิจิทัล และผู้แทนสถาบันพระปกเปล้า ร่วมกันออกแบบจัดทำแผนพัฒนาแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประจำปี 2565 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพปัญหาในยุค new normal