- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 04 December 2021 17:54
- Hits: 2957
สธ.จับมือ 34 หน่วยงาน ร่วมประชาคมโลกปลุกกระแสเชื้อดื้อยาอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงสาธารณสุขจับมือ 34 หน่วยงาน จัดงานสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลกของประเทศไทย ปี 2564 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม เผย 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้ยาต้านจุลชีพในมนุษย์ลดลงร้อยละ 15
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมในพิธีเปิดงาน ‘สัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลกของประเทศไทย ปี 2564’ภายใต้ธีม’ส่งต่อความรู้ สู่วิถีใหม่ หยุดภัยเชื้อดื้อยา’ (Spread awareness, Stop resistance) ผ่านการประชุมแบบ virtual ซึ่งจัดโดยกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ สมาคมและองค์กรวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ กล่าวว่า ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญ โดยประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2565 เพื่อเป็นการบูรณาการการดำเนินงานกับทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health approach) ซึ่งจากการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีล่าสุด (พ.ศ. 2560-2563) พบว่า ประเทศไทยมีการใช้ยาต้านจุลชีพลดลงร้อยละ 15
โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอัตราการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะลดลงในกลุ่มโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น หวัด และโรคท้องร่วงเฉียบพลัน โดยมีการสั่งจ่ายไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 20 อีกทั้งผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่า คนไทยจำนวน 54 ล้านคน มีผู้ที่รู้และเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพในระดับที่ดีพอ ประมาณ 13 ล้านคน และพบว่าบุคลากรทางการแพทย์มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะและเรื่องเชื้อดื้อยาแก่ประชาชน
ด้าน นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การจัดงานสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลกของประเทศไทยในปีนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานภายในประเทศและหน่วยงานต่างประเทศ เช่น WHO OIE USAID และ TUC-CDC กิจกรรมภายในงานแบ่งเป็น 3 ธีมย่อย ได้แก่ 1) การทำประชาพิจารณ์ร่างประเด็นยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 25-26 พฤศจิกายนนี้ 2) การสร้างความตระหนักรู้ด้านเชื้อดื้อยา
โดยภาคประชาชน จัดโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาร่วมกับภาคีเครือข่าย และ 3) การสร้างความตระหนักรู้ด้านการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในสัตว์ จัดโดยกรมปศุสัตว์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับงานฯ ได้ที่ website: https://www.eventdee.com/amr/