- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 04 December 2021 17:38
- Hits: 2802
สธ.แนะประชาชนหากฉีดวัคซีนแล้วข้อมูลในหมอพร้อมยังไม่ขึ้น/ขึ้นไม่ตรง ให้แจ้งหน่วยฉีดวัคซีนแก้ไข
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งประสานหน่วยบริการและผู้รับผิดชอบโครงการฉีดวัคซีนโควิด 19 เร่งบันทึกผลการฉีดให้เป็นปัจจุบัน แนะประชาชนตรวจสอบข้อมูลการฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชั่น/ไลน์ ‘หมอพร้อม’ หากไม่มีข้อมูลหรือมีแต่ไม่ถูกต้อง ให้ติดต่อหน่วยบริการหรือผู้รับผิดชอบโครงการเพิ่มข้อมูลในระบบ MOPH IC เพื่อแสดงผลในหมอพร้อมทันทีและใช้เป็นเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนได้
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้เชี่ยวชาญ ร่วมประชุมหารือประเด็น การพัฒนาการแสดงข้อมูลผลการฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อมรายบุคคล และให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว แต่ไม่มีข้อมูลขึ้นในระบบหมอพร้อม ทำให้ไม่มีข้อมูลการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มต่อไป หรือไม่มีข้อมูลใน Digital Health Pass จึงไม่สามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือเข้าสถานที่ต่างๆ ได้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานหน่วยบริการฉีดวัคซีนและผู้รับผิดชอบโครงการต่างๆ อาทิ ไทยร่วมใจ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกันสังคม เป็นต้น เร่งบันทึกผลการฉีดวัคซีนให้เป็นปัจจุบันแล้ว
ในส่วนของประชาชน ขอให้ตรวจสอบข้อมูลการฉีดวัคซีนใน Application หรือ Line OA ‘หมอพร้อม’ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วันที่ฉีดวัคซีน ชนิดวัคซีน จำนวนเข็ม ว่าได้รับการบันทึกถูกต้องครบถ้วน หากพบว่าข้อมูลใดไม่ถูกต้อง หรือยังไม่มีข้อมูลแสดงในระบบหมอพร้อม ขอให้ติดต่อหน่วยบริการ หรือโครงการที่ท่านลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อให้เพิ่มเติมข้อมูลในระบบฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนกระทรวงสาธารณสุข (MOPH IC) ซึ่งเมื่อหน่วยบริการลงข้อมูลเรียบร้อยจะแสดงผลในระบบหมอพร้อมทันที
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขกำลังให้ทุกจังหวัดเปิดศูนย์รับเรื่อง (call center) เพื่อลงข้อมูลสำหรับผู้ที่ไม่มีข้อมูลในระบบ MOPH IC หรือแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อได้ที่สถานีกลางบางซื่อหรือหน่วยบริการที่กรุงเทพมหานครกำหนดขึ้น
ทั้งนี้ การที่ข้อมูลการฉีดวัคซีนของประชาชนบางรายไม่ปรากฏในระบบหมอพร้อม หรือ ระบบฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนกระทรวงสาธารณสุข (MOPH IC) ส่วนหนึ่งมาจากหน่วยบริการออกให้บริการฉีดวัคซีนนอกสถานที่ แล้วค่อยกลับมาบันทึกข้อมูลภายหลัง หรือเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนที่เข้าร่วมกับโครงการต่าง ๆ ซึ่งต้องส่งข้อมูลการฉีดวัคซีนให้ผู้รับผิดชอบโครงการตรวจสอบก่อนบันทึกลงระบบของกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้มีการแสดงผลล่าช้าหรือบันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ได้ลงหมายเลขประจำวัคซีนแต่ละลอต เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ามีผลต่อการใช้ข้อมูลใน Digital Health Pass หรือไม่