- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 15 August 2021 18:05
- Hits: 590
กรมอนามัย เตือน ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ในอาหารไม่ช่วยฆ่าเชื้อโรค แนะใช้วิธีปรุงสุก ปลอดภัยกว่า
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนคนไทยไม่ควรฉีดแอลกอฮอล์ลงในอาหารทุกชนิด หากใช้แอลกอฮอล์ผิดประเภทอันตรายถึงชีวิต แนะให้กินอาหารสดใหม่ ปรุงสุก ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพและโฆษกกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีประชาชนบางกลุ่มมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า แอลกอฮอล์ประเภทเหล้าหรือสุราและแอลกอฮอล์ ฟู๊ดเกรดสามารถนำไปฉีดอาหารฆ่าเชื้อโรคหรือเชื้อโควิด-19 ได้นั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแอลกอฮอล์ฟู๊ดเกรดไม่ได้ใช้เพื่อการกินโดยตรง แต่มักใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมประเภทเวชสำอางค์ อาหาร รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่วนมากจะมีความเข้มข้นน้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อผ่านทางอาหารและภาชนะบรรจุอาหารนั้นมีค่อนข้างต่ำ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยแนะนำให้กินอาหารสดใหม่ ปรุงสุกด้วยความร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียลขึ้นไป นาน 5 นาที ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นายแพทย์เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า โรคโควิด-19 สามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายจากจมูกหรือปากโดยออกมาเมื่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไอ จามหรือพูด ละอองเหล่านี้ค่อนข้างหนัก ไปไม่ได้ไกล และจะตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนจึงรับเชื้อโรคโควิด-19 ได้จากการหายใจเอาละอองเข้าไปจากผู้ป่วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร โดยละอองเหล่านี้ยังตกลงสู่วัตถุและพื้นผิวต่าง ๆ เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู ราวจับ และเมื่อมีคนเอามือไปจับพื้นผิวเหล่านั้นแล้วมาจับตา จมูกหรือปาก ก็จะมีเชื้อโรค จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลถูมือ
“ทั้งนี้ สำหรับแอลกอฮอล์ตามท้องตลาดที่นิยมขายกันทั่วไปจะมี 2 ชนิด คือ เมทิลแอลกอฮอล์และเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งราคาของเอทิลแอลกอฮอล์จะสูงกว่าเล็กน้อยแต่คุณสมบัติของแต่ละชนิดต่างกันมาก โดยเอทิลแอลกอฮอล์สามารถใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ เช่น ผสมในยาที่ใช้กิน ผสมในสุราหรือเครื่องดื่มประเภทของมึนเมาหรือใช้ทาภายนอกร่างกาย เช่น ล้างแผล ผ้าเย็น กระดาษเช็ดหน้า สเปรย์ เป็นต้น
ส่วนเมทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ชนิดมีพิษ ใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดให้แสงสว่าง หรือปนกับทินเนอร์ สำหรับ ผสมแลคเกอร์ แต่ห้ามใช้กับร่างกายมนุษย์เด็ดขาด ซึ่งคุณสมบัติของแอลกอฮอล์แต่ละชนิดไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้ เพราะจะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เช่น ตาบอดหรือในบางรายอาจจะเสียชีวิตได้” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพและโฆษกกรมอนามัย กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ