- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 13 August 2021 17:12
- Hits: 540
UddC จับมือ สสส. ภาคีเครือข่าย ฟื้นกรุงเทพฯ-นครสวรรค์
เพิ่มคุณภาพชีวิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้ สร้างพื้นที่สุขภาวะ การมีส่วนร่วม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายจัดการความรู้ สร้างแกนนำเครือข่าย เดินหน้าสู่เมืองแห่งการเรียนรู้
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) กล่าวว่า UddC ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทป่าสาละ The Urbanis และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดการนำเสนอสาธารณะ ฟื้นเมืองบนฐานความรู้ (Knowledge-based City Development) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการเมืองกับบทบาทและศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร และเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งจุดเริ่มต้นโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อศึกษาว่า เมืองแบบไหนสามารถขับเคลื่อนการใช้ความรู้จากชุมชนในการพัฒนาเมืองได้ รวมถึงการพื้นฟูสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะ ดำเนินการ 4 ด้าน คือ 1.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ คนมีงานทำ มีรายได้ 2.สนองต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ 3.สร้างพื้นที่สุขภาวะ 4.การมีส่วนร่วม และความเป็นพลเมือง ซึ่งเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ ถือเป็นกระแสการพัฒนาเมืองที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ผศ.ดร.นิรมล กล่าวต่อว่า โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง ปีแรกได้เลือกศึกษาตัวแทนเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางของเมืองหลวงที่มีทุกอย่างครบครัน และจังหวัดนครสวรรค์ ที่มีชุมชนขนาดเล็ก และคนรุ่นใหม่หลั่งไหลมาสู่เมืองหลักคือ กรุงเทพฯ ผลการดำเนินงานได้รวบรวมข้อมูลความรู้จากพื้นที่จริง รวมถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสาธารณะ คือ 1.การสร้างเครือข่ายแกนนำที่ขับเคลื่อนเชิงประเด็นด้านความรู้ของเมือง 2.มีการจัดการความรู้ นำองค์ความรู้มาสู่การแก้ไขปัญหา ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และออฟไลน์ 3.การสร้างตัวบุคลากรใหม่ๆ เพื่อทำงานเชิงพื้นที่ ในการจัดเก็บ ส่งต่อ หรือเผยแพร่ หลังจากนี้จะนำข้อเสนอเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว เช่น เสนอโครงการไปยังท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองปากน้ำโพ โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่โรงพยาบาลเดิมเพิ่มพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น สำหรับการดำเนินโครงการปีแรกยังประกอบด้วย ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นคณะนักวิจัยหลัก
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนกระบวนการศึกษาและกระบวนการมีส่วนร่วมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสุขภาวะ ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อรองรับความเป็นเมือง (Urbanization) สร้างต้นแบบพื้นที่สุขภาวะที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ทำให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ รวมถึงผลักดันนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) และแนวคิดการพัฒนาบนฐานความรู้ (knowledge based development) ซึ่งการออกแบบกิจกรรมสร้างเมืองผ่านการร่วมเรียนรู้ ฟื้นกรุงเทพฯ บนฐานความรู้และ ฟื้นนครสวรรค์บนฐานความรู้เพื่อตอบโจทย์ในการเพิ่มปัจจัยแวดล้อม/พื้นที่สุขภาวะ (Built Environment/Healthy Space) ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น การผังเมือง ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เอกชน รวมไปถึงสถานที่ทางธรรมชาติ ที่ได้รับการออกแบบ หรือจัดการเพื่อพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อกิจกรรมทางกายและสุขภาวะอย่างเท่าเทียม
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า โครงการเมืองกับบทบาทและศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นแผนงานสำคัญของ บพท. ประจำปี 2563 ด้านพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก อาทิ แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ใหม่ของโลกอย่างโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยองค์การยูเนสโก ที่มุ่งเน้นการสร้างกลยุทธ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระดับเมือง ผ่านกลไกการพัฒนาเมืองที่สำคัญได้แก่ เทศบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่บริหารจัดการเมือง มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรในเมือง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมือง
A8433
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ