- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 28 November 2020 10:37
- Hits: 1773
อย. อย่าหลงเชื่อ...กาแฟอ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ เสี่ยงถึงตาย
พบผลิตภัณฑ์กาแฟปรุงสำเร็จ 2 รายการ ลักลอบใส่ยาแผนปัจจุบันชนิดยาควบคุมพิเศษที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อย. เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อ เสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิตจากผลข้างเคียงของยา ย้ำผลิตภัณฑ์อาหารที่อ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ อย. ไม่เคยอนุญาตให้ขาย ผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในทางบำบัด บรรเทา รักษาโรค หากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพใดต้องสงสัยเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แจ้งทันทีที่ สายด่วน อย. 1556
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ในการลงพื้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังบริเวณตลาดชายแดนไทย-มาเลเซีย ในเดือนกรกฎาคม 2563 พบผลิตภัณฑ์กาแฟ 2 รายการ ที่กำลังเข้ามาระบาดในร้านชำของชุมชน ชื่อ Natural Herbs Coffee Kopi Panggung AL - Ambiak และ Kopi Jantan Tradisional STRONG MAN COFFEE จากการสืบค้นข้อมูลในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตกับ อย. แต่พบมีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และก่อนหน้านี้ด่านอาหารและยาจังหวัดนราธิวาส ได้เคยเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบสารซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ออกฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีผลข้างเคียงทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทตาถึงขั้นตาบอด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง และอาจเป็นภัยร้ายรุนแรงถึงชีวิตโดยคาดไม่ถึง มีข้อควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไต ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่ ผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวจัดเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค
ทั้งนี้ อย. โดยศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) ได้ติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจากเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ล่าสุด Health Sciences Authority (HSA) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้แจ้งเตือนพบซิลเดนาฟิลในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเช่นกัน
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟ ทั้ง 2 ยี่ห้อมารับประทาน และอย่าหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์กาแฟหรือผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ จะสามารถช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศได้ เพราะ อย. มักตรวจพบว่ามีการผสมยาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือมีการผสมสารอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ย้ำ ผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในทางบำบัด บรรเทา รักษาโรค หากผู้บริโภคมีอาการเจ็บป่วยหรือผิดปกติในร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง อย่าเสี่ยงเสียเวลา และค่าใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตรายขอให้แจ้งร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ