- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 13 November 2020 11:40
- Hits: 2189
ดร.เบอร์นาร์ด พีคูล ผู้ก่อตั้ง DNDi
ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข ปี 2563
ผู้อำนวยการบริหารของ DNDi ได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งในทำเนียบผู้ทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับในผลงานดีเด่นที่ยังประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในด้านการแพทย์และสาธารณสุขโลก
ดร. เบอร์นาร์ด พีคูล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร ของ the Drugs for Neglected Diseases initiative หรือ DNDi ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านการวิจัยและพัฒนายาระดับนานาชาติ ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 สำหรับผลงานที่ดีเด่นในด้านการวิจัยค้นคว้ายาเพื่อรักษาโรคที่ถูกละเลย อันเป็นผลงานที่ประจักษ์ไปทั่วโลก
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลอันทรงเกียรติประจำปีที่พระราชทานให้แก่ผู้ที่อุทิศตนสร้างผลงานดีเด่นที่ยังประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ในด้านสาธารณสุขและด้านวิทยาศาสตร์ผู้ที่เคยได้รับพระราชทานรางวัลในปีก่อนหน้านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำทางความคิดในสายอาชีพนั้น อาทิ ดร. แอนโทนี่ ฟาวชี่ (สหรัฐอเมริกา) ศาสตราจารย์แบร์รี่ เจมาร์แชล (ออสเตรเลีย) ศาสตราจารย์ ฮาโรลด์ ซูร์ ฮาวเซ่น (เยอรมนี) ดร. ซาโตชิ โอมูระ (ญี่ปุ่น) และศาสตราจารย์ ทู ยู ยู (จีน) เป็นต้น
“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เฉกเช่นผู้ทรงเกียรติด้านการแพทย์ท่านอื่นๆ ก่อนหน้าผม” ดร.พีคูลกล่าว “รางวัลอันทรงเกียรตินี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อผม เพราะอาชีพการทำงานของผมมีจุดกำเนิด ณ ประเทศไทยเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มทำงานกับค่ายพักชั่วคราวของผู้ลี้ภัย ซึ่งในการทำงาน ณ ขณะนั้นทำให้ผมมีโอกาสได้สัมผัสกับปัญหาด้านการแพทย์ที่ถูกละเลยด้วยตัวผมเอง จนเกลายเป็นสิ่งนำพาให้ผม รวมถึงหุ้นส่วนหลายคนจุดประกายการก่อตั้งองค์กร DNDi จนประสบผลสำเร็จตามที่เราได้ตั้งปณิธานไว้”
ดร.เบอร์นาร์ด พีคูล เป็นผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนองค์กร DNDi ตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งใหม่ในปี 2546 เมื่อองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อความช่วยเหลือด้านการแพทย์ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières : MSF) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2542 และได้แบ่งเงินรางวัลส่วนหนึ่งออกมาเพื่อค้นหา โมเดลทางเลือกที่สร้างสรรค์ ไม่มุ่งที่ผลกำไร เพื่อการวิจัยและพัฒนายาสำหรับผู้ป่วยที่ถูกละเลยนับหลายร้อยล้านคนทั่วโลก นี่เป็นจุดกำเนิดขององค์กร DNDi ผู้ร่วมก่อตั้งเป็นการรวมตัวของหลายภาคส่วนอย่าง องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) องค์การอนามัยโลก (WHO) และสถาบันสาธารณสุขระดับนานาชาติอีก 5 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย
“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่ ดร.พีคูล สมควรที่จะได้รับเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะผู้ที่อุทิศตนอย่างไม่ย่อท้อกับการส่งมอบยารักษาโรคเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของมวลมนุษยชาติที่เขาถือเป็นเป้าประสงค์หลักในการทำงานของเขา โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะเป็นคนรวยหรือคนยากไร้” กล่าวโดย ทาน ศรี ดร. นูร์ ฮิแชรม อับดุลลาห์ อธิบดีกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย และหนึ่งในคณะกรรมการขององค์กร DNDi “นี่เป็นตัวอย่างความเป็นเลิศด้านการอุทิศตนจนเห็นผลประจักษ์ในด้านความร่วมมือของเราในประเทศมาเลเซีย ซึ่งความร่วมมือระหว่าง DNDi และกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย มีความคืบหน้าอย่างเห็นผลได้ชัด ในด้านการเข้าถึงยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ที่ราคาไม่แพง และทุกคนสามารถเข้าถึงได้”
ภายใต้การนำของ ดร. พีคูล องค์กร DNDi ได้ส่งมอบยารักษาโรคใหม่ 8 ขนาน สำหรับรักษาโรคลิชมาเนีย โรคไข้เหงาหลับ โรคชากาส ซึ่งเป็นโรคที่ถูกละเลยมากที่สุดของโลก รวมถึงโรคมาเลเรีย และโรคเอชไอวี/เอดส์ในเด็ก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมมือกับพันธมิตรนับร้อยทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ทั่วโลก องค์กรได้พัฒนาพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแรงครบถ้วน ด้วยโปรเจ็คหลากหลายครอบคลุมทั้งด้านการค้นหายารักษา การทำวิจัยทางคลินิก และการเข้าถึงการรักษาโรคที่ถูกละเลยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเท้าช้าง โรคฝีรั่ว หรือโรคไวรัสตับอักเสบ ซีนอกเหนือจากนี้ จากการร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก DNDi ยังได้ก่อตั้งองค์กรใหม่ ชื่อ Global Antibiotic Research and Development Partnership หรือ GARDP ในปี 2559 จวบจนปัจจุบันได้แปลงสถานภาพเป็นองค์กรอิสระ ไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งพัฒนาวิจัยยาขนานใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาปฏิชีวนะที่นับวันจะเป็นกลายภัยคุกคามต่อสุขภาพที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ดร. พีคูล ได้อุทิศชีวิตการทำงานในสายอาชีพของเขาเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยารักษา และได้พัฒนาโมเดลทางเลือกที่ถูกขับเคลื่อนโดยยึดความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่มุ่งหวังผลกำไรใดๆ ทั้งสิ้น การเดินทางบนสายอาชีพนี้ของเขาได้เริ่มต้นในปี 2526 ด้วยการเป็นแพทย์ให้กับองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ที่ต้องเดินทางไปทำงานภาคสนามในพื้นที่ครอบคลุมหลายทวีป ตั้งแต่แอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย ในปี 2531 เขาได้ร่วมก่อตั้ง Epicentre ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอที่มีส่วนร่วมกับองค์การแพทย์ไร้พรมแดน มุ่งเน้นในด้านระบาดวิทยา เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน สำนักงานที่ฝรั่งเศส ในปี 2534 และยังเป็น ผู้อำนวยการก่อตั้งแคมเปญของ MSF เพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นตั้งแต่ปี 2541 ถึง ปี 2546
“ดร.พีคูล มีความเชื่อที่หนักแน่นว่าประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำ ถึงระดับกลาง สามารถพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประเทศตนเองจนประสบผลสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานที่ใช้พลังของการร่วมมือเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรเป็นตัวขับเคลื่อน” กล่าวโดย มร.ฌอง-มิเชล ปีอาเนล ผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของ DNDi ที่ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย “รางวัลอันทรงเกียรตินี้เปรียบเสมือนการยอมรับในคุณค่าการทำงานของ DNDi ที่มีในประเทศไทย และทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นอกเหนือจากนี้ เรายังมั่นใจว่ารางวัลดังกล่าวจะเป็นสิ่งสนับสนุน และกระชับความสัมพันธ์ของหุ้นส่วนที่เราวางรากฐานไว้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อการเล็งเห็นประโยชน์สูงสุด ในการหยุดยั้งโรคภัยต่างๆ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ ซี โรคดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อจุลชีพ โรคไข้เลือดออก และโรคหลักอื่นๆ ที่ท้าทายต่อระบบสาธารณสุข และความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคนี้”
เนื่องด้วยสถานภาพของโรคระบาด ณ ปัจจุบัน ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลของปีนี้จะได้รับการเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมพิธีพระราชทานรางวัลที่ประเทศไทยในปี 2565 แต่ในเร็ววันนี้ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้งหลายจะได้รับเชิญเพื่อการบรรยายทางออนไลน์เกี่ยวกับผลงานต่างๆ ที่ทำให้ควรค่าแก่การรับพระราชทานรางวัลนี้
A11326
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ