- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 17 October 2020 22:18
- Hits: 3776
มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน : Pink Alert - Check & Share Project 2020
บอกเล่าเรื่องราว และสร้างกำลังใจดีๆ ที่ยิ่งใหญ่ให้กับผู้ป่วย
เนื่องในเดือนแห่งการต่อต้าน ‘มะเร็งเต้านม’
“มะเร็งเต้านม” เป็นโรคร้ายที่มีอุบัติการณ์สูงและคร่าชีวิตหญิงทั่วโลกเป็นอันดับหนึ่ง เฉลี่ย 1 ใน 8 คนของประชากรเพศหญิง ปีละ 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 500,000 คน ดังนั้นในเดือนตุลาคมของทุกปี ทั่วโลกจึงยกให้เป็นเดือนแห่งการต่อต้านมะเร็งเต้านม และด้วยเหตุนี้ทางสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยจึงจัดงาน “มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน : Pink Alert - Check & Share Project 2020” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งเต้านม โดยภายในงาน ได้พูดคุยบอกเล่าเรื่องราวเปิดประสบการณ์กับอดีตผู้ป่วยต่อสู้พิชิตโรคมะเร็งเต้านมเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลให้ก้าวผ่านโรคมะเร็งได้อย่างเข้มแข็ง และมีศิลปิน ดารา Celebrity ร่วมกิจกรรมสุดเซอร์ไพรส์มากมาย อาทิ “Show me Bra…Bra…Bra” นำทีมโดย ธัญญ่า-ธัญญาเรศ เองตระกูล, ตู่ ภพธร สุนทรญานกิจ, อาย กมลเนตร เรืองศรี และ หยาด-หยาดพิรุณ ปู่หลุ่น มาร่วมกิจกรรม ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
พลโท รศ. นพ. วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย หัวหน้าศูนย์มะเร็งเต้านม รพ.จุฬาภรณ์และที่ปรึกษาหน่วยศัลยศาสตร์มะเร็ง รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ในเดือนตุลาคมของทุกปี ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ต่อต้าน "มะเร็งเต้านม" ในปีนี้ทางสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยเป็นสื่อกลางในการกระตุ้นเตือนและสร้างความตระหนักถึงภัยร้ายของโรคมะเร็งเต้านม ผ่านการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล โดยได้จัดงาน “มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน : Pink Alert - Check & Share Project 2020” เนื่องจากมะเร็งเต้านมนับได้ว่าเป็นโรคมะเร็งอันดับหนึ่งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยและอุบัติการณ์ของโรคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สถิติเผยว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง และทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันมะเร็งเต้านม
แม้สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมจะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมีด้วยกันหลายประการ เช่น อายุ เมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ก็ยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะพบมะเร็งเต้านม, พฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันสัตว์สูงและเนื้อแดงซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งเต้านม, ระยะเวลาที่ร่างกายสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน กล่าวคือ ในผู้หญิงที่เริ่มมีรอบเดือนตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้, ผู้หญิงที่ไม่มีบุตร, มารดาที่มีบุตรคนแรกหลังอายุได้ 30 ปี, มารดาที่ไม่ได้ให้นมบุตรด้วยตนเอง, ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ญาติสายตรง เช่น แม่ หรือ พี่น้อง มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40 ปี ความเสี่ยงที่จะพบมะเร็งเต้านมก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยจึงเล็งเห็นความสำคัญของการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายของโรคมะเร็งเต้านมและเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เพื่อทื่ว่าหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสรักษาหายอาจสูงเกือบ 100% ขั้นตอนการตรวจเต้านมนั้นอาจทำได้ด้วยการคลำด้วยตนเองหรือโดยบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งการตรวจแมมโมแกรมนั้นสามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ก้อนในเต้านมยังมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะคลำหรือตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์พบ ดังนั้น การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมจึงเป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่แม่นยำและคุ้มค่าที่สุดในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการทำแมมโมแกรม เช่น การรับรังสีจากการทำแมมโมแกรมหรือการกดทับเต้านม จะเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ผิด ความจริงแล้วการทำแมมโมแกรมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด หากแต่จะช่วยให้พบก้อนมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรกๆ ทำให้รักษาได้ทันท่วงที และมีโอกาสหายขาดที่สูงถึง 98-99%
นอกจากนี้ ผู้ชายเองก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ โดยในจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 100 คน จะเป็นผู้ชายประมาณ 1 คน หรือเทียบเท่ากับประมาณ 1% สำหรับสาเหตุและอาการของโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชายก็จะคล้ายกับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง กล่าวคือ จะพบก้อนแข็งหรือนูนบริเวณหน้าอก อาจมีอาการบวมปวดหรือกดเจ็บร่วมด้วย อาการในผู้ชายสังเกตเห็นได้ง่ายและชัดเจนกว่าในผู้หญิงเพราะเต้านมของผู้ชายมีลักษณะแบนราบกว่าและไขมันน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การที่เนื้อหน้าอกผู้ชายมีชั้นไขมันบาง มะเร็งเต้านมในผู้ชายจึงลุกลามไปยังผนังหน้าอกได้รวดเร็วและอันตรายกว่ามะเร็งเต้านมที่พบในผู้หญิง กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ด้วยเหตุนี้ สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยจึงเชิญชวนให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ภายในงาน “มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน : Pink Alert - Check & Share Project 2020” ยังมีศิลปิน ดารา และคนดัง ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้างกำลังใจดีๆ ให้แก่ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล คุณธัญญ่า-ธัญญาเรศ เองตระกูล กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของผู้หญิงวัยที่ต้องดูแลสุขภาพและครอบครัว โดยส่วนตัวเชื่อว่าพอเริ่มโต วัยประมาณ 25 ปีขึ้นไป ควรดูแลสุขภาพและเริ่มตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพราะโรคร้ายไม่มีใครรู้ว่าจะมาเยือนเมือไหร่ จึงอยากแนะนำผู้หญิงทุกคนและผู้ชายตรวจมะเร็ง ดิฉันเองก็มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ คุณย่าและคุณยาย เลยทำให้รู้สึกว่าโรคมะเร็งเต้านมไม่ใช่เรื่องไกลตัว ธัญญ่าได้มีโอกาสพูดคุยกับอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มาร่วมงาน Pink Alert - Check & Share Project ทำให้เห็นว่าโรคนี้เมื่อเป็นแล้ว รักษาให้หายแล้ว ยอมรับว่าทุกคนเก่งมากและกำลังใจจากคนรอบข้างถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
คุณอาย-กมลเนตร เรืองศรี กล่าวว่า “วันที่ 10 เดือน 10 เมื่อปีที่แล้ว ได้จัดคอนเสิร์ตเกี่ยวกับโรคมะเร็งโดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่แฟนคลับคนหนึ่งของอายตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง ในปีนี้วันที่ 10 เดือน 10 เหมือนเดิม เป็นวันที่อายได้ขึ้นมาพูดในฐานะคนที่ตรวจเจอก้อนเนื้อโดยบังเอิญและต้องผ่านผ่านประสบการณ์ลุ้นว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นก้อนเนื้ออะไร แต่โชคดีที่มันไม่ใช่ก้อนเนื้อร้าย ไม่มีใครอยากเป็นมะเร็ง รวมถึงตัวอายด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้อายมองว่านี่เป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเราทุกคนมากๆ ช่วงเวลาที่เราได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วยมะเร็งและพบว่าเขามีพลังด้านบวกที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจก้าวข้ามผ่านโรคร้ายได้สำเร็จ อาจจะพยายามจดจำสิ่งที่ตัวเองพูดในวันนี้ หรือข้อความดีๆ ที่เคยได้รับมา เพื่อส่งต่อกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมและเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ ค่ะ”
ภายในงานยังมี คุณเจี๊ยบ-นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านม มานานกว่า 2 ปี จนหายขาด เพื่อส่งต่อกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติผู้ดูแล “โดยส่วนตัวมองว่าทุกอย่างถ้าเราได้เริ่มลงมือทำแล้ว ย่อมไม่มีคำว่ายาก ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะหมายถึงการรักษาโรคมะเร็งหรือการเล่นสเก็ตบอร์ดก็ตาม ในกรณีของโรคมะเร็ง พอตรวจพบว่าเป็นแล้ว เราก็เดินหน้ารักษาด้วยความเชื่อมั่นในตัวคุณหมอ คุณหมอแนะนำให้ปฏิบัติตัวอย่างไรก็ทำตามหมดเลย ตอนนั้นคิดอยู่เพียงอย่างเดียวว่าต้องไม่ตาย ต้องหาย เราวางเป้าหมายไว้ชัดเจนมากๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน เราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ ทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง เพราะถ้าตัวเรายอมแพ้ยกธงขาวตั้งแต่แรกเริ่ม ก็คงไม่มีตัวเราอย่างในทุกวันนี้ การเล่นสเก็ตบอร์ดก็เหมือนกัน ทุกวันนี้เราเล่นมันมาเกือบ 8 ปีแล้ว อยู่กับสเก็ตบอร์ดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันไปแล้ว ในที่สุดยังได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในนักกีฬาลองบอร์ดดาวน์ฮิลล์ทีมชาติไทยอีกด้วย”
คุณโบว์-ทัศนีย์ พงศ์กิจธนากร อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะ 2B อายุ 49 ปี ซึ่งปัจจุบันหายขาดและได้แรงบันดาลใจในการเล่นฟิกเกอร์สเก็ต กล่าวว่า “แต่ก่อนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำตามระยะเวลาที่คุณหมอกำหนดเพื่อติดตามอาการ เพราะมีเม็ดเล็กๆ 4 – 5 เม็ดกระจายอยู่ตามเต้านมทั้งสองข้าง แต่ในปีพ.ศ. 2558 ไปตรวจช้ากว่าที่คุณหมอนัดเกือบ 8 เดือน และพบก้อนเนื้อใหม่ขนาดประมาณ 1.5 ซม. ที่เต้านมด้านขวา ผลการตรวจชิ้นเนื้อออกมาว่าเป็นมะเร็ง ตลอดช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านม ก็ได้ลูกทั้งสองคนคอยเป็นกำลังใจและพลังขับเคลื่อนในชีวิต ที่ช่วยผลักดันให้มีความหวังและเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน พยายามใช้โอกาสที่มีอยู่เพือทบทวน เรียนรู้ แก้ไข และเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต การรักษาทำให้เข้าใจความสำคัญของการทานอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายและการบริหารจิตใจอย่างสม่ำเสมอ การเป็นมะเร็งสอนให้เรารู้จักรักและดูแลตัวเอง เพื่อที่จะได้ทำหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง และได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพร่วมกับคนที่เรารักตราบเท่าที่ยังมีโอกาส”
สำหรับคนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสู้มะเร็งเต้านม Check & Share พร้อมตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมฟรี ได้ที่ https://app.wellcancer.com/pinkalert
A10428
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ