- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 27 July 2020 13:33
- Hits: 972
สปสช.ผนึกกำลัง 3 หน่วยงานเร่งลุย '18+63 คลินิก'ทุจริตงบบัตรทอง ตรวจเอกสาร 7 แสนฉบับ
'สปสช.-สบส.-DSI-กองปราบฯ' ร่วมประชุมบูรณาการ เดินหน้าดำเนินการเอาผิด 18 และ 63 หน่วยบริการ ตรวจพบทุจริต ‘งบบัตรทอง’ ระดมเจ้าหน้าที่ audit ตรวจสอบเอกสารกว่า 7 แสนฉบับไม่มีวันหยุด จ่อขยายผลคลินิกทั่วกรุงเทพ-ปริมณฑล
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมการดำเนินการด้านคดีกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขอันเป็นเท็จ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 โดยมีตัวแทนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปราม เข้าร่วมหารือถึงการดำเนินการกับ 18 และ 63 คลินิกที่มีการทุจริตงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ได้ตรวจสอบกรณีของ 18 คลินิกมาตั้งแต่ต้น และดำเนินการขยายผลกับคลินิกที่ตรวจพบการทุจริตอีก 63 แห่งเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการ audit มาก เนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องมากกว่า 7 แสนฉบับ โดยที่ สปสช. จะนำเอกสารหลักฐานดังกล่าวยื่นต่อกองบังคับการปราบปรามและ DSI ต่อไป
“เราใช้เจ้าหน้าที่หรือ auditor มากกว่า 300 คน ร่วมกันตรวจสอบเอกสารทั้งวันทั้งคืนและไม่มีวันหยุด โดยล่าสุดได้ตรวจสอบเอกสารกว่า 2 แสนฉบับของคลินิก 18 แห่งเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารของ 63 คลินิก เพิ่มเติมกว่า 5 แสนฉบับ ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขยายผลการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมให้แน่นหนายิ่งขึ้น” นพ.การุณย์ กล่าว
นพ.การุณย์ กล่าวว่า นอกจากในส่วนของการดำเนินการกับ 18 และ 63 คลินิกเสร็จสิ้นแล้ว ทางหน่วยงานยังได้มีมติให้ดำเนินการเท่าเทียม โดยขยายผลการตรวจสอบไปยังคลินิกทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังในระยะ 10 ปี และขยายการตรวจสอบไปยังพื้นที่ปริมณฑลต่อไป เป็นการปูพรมโดยไม่มีการละเว้นใคร
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ DSI กล่าวว่า การบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบการทุจริตครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการในส่วนของทางคดีอาญา ยังไม่นับความเสียหายทางแพ่ง และความผิดทางวิชาชีพที่กำลังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีเอกสารหลักฐานและบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก แต่ละหน่วยงานจึงได้มาแบ่งหน้าที่ร่วมกัน
“วันนี้เรามาเพื่อเร่งรัดการดำเนินการในทางคดีอาญา และพิจารณาว่ามีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ต้องมีอะไรเพิ่มเติม ทั้งหมดเพื่อดำเนินการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความผิด ยืนยันว่าเรื่องนี้เนื่องจากเป็นการกระทำผิด เป็นการฉ้อโกงซ้ำๆ หลายครั้ง จึงจะมีเรื่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การฟอกเงิน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” นายปิยะศิริ กล่าว
นางจันฑนา จินดาถาวรกิจ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สบส. กล่าวว่า ในส่วนของคลินิกทั้ง 18 แห่ง ซึ่ง สปสช.ได้เพิกถอนการเป็นหน่วยบริการไปแล้ว ทาง สบส.จึงเข้ามาดำเนินการในฐานะหน่วยงานดูแลกำกับ โดยขณะนี้ทั้ง 18 แห่งมีกำหนดระยะเวลา 15 วันที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะครบในวันที่ 30 ก.ค.นี้ หากแก้ไขไม่เสร็จสิ้นก็จะต้องมีคำสั่งปิดชั่วคราว
นางจันฑนา กล่าวว่า สบส.จะดำเนินการทั้งในด้านมาตรฐานสถานพยาบาล และมาตรฐานวิชาชีพ โดยในส่วนของตัวผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นแพทย์ หากมีความผิดก็ต้องส่งเรื่องดำเนินการไปยังแพทยสภา หรือในส่วนของห้องปฏิบัติการ (Lab) มีความเกี่ยวข้อง ก็จะมีการส่งไปยังสภาเทคนิคการแพทย์ที่ดูแลเรื่องมาตรฐานอยู่ด้วยเช่นกัน
ด้าน พ.ต.ท.ภิรมย์ เมืองไสย รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม กล่าวว่า หลังจากที่ทางกองปราบฯ ได้รับการร้องทุกข์แล้ว ในด้านคดีเห็นว่ามีพยานบุคคลเป็นจำนวนมาก จึงอยู่ระหว่างการตั้งคณะพนักงานสอบสวน และรวบรวมหลายหน่วยเข้ามาร่วมทำการสอบสวนเพื่อให้คดีรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในชั้นนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารร่วมกับ สปสช.
“สปสช.จะคัดมาให้เราว่าประชาชนหรือผู้ที่ถูกแอบอ้างชื่อแต่ละคลินิกมีกี่ราย ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะเรียกแต่ละรายมาสอบปากคำเพื่อยืนยันว่าไม่ได้ไปใช้บริการจริง เป็นการทำเอกสารเท็จ มาประกอบกับข้อกล่าวหาว่าเป็นการฉ้อโกงอย่างไร และในส่วนของพยานหลักฐานด้านอื่นๆ เบื้องต้นทาง DSI จะรับไปติดตามตรวจสอบ ซึ่งการดำเนินงานของทุกหน่วยงานในวันนี้ จะช่วยแบ่งเบาพนักงานสอบสวนได้มาก และทำให้คดีมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”พ.ต.ท.ภิรมย์ กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ