- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 25 April 2020 11:19
- Hits: 1099
องค์การเภสัชกรรม เพิ่มกำลังการผลิตและสำรองยาที่ผลิตเอง 5 รายการ เพียงพอสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง
องค์การเภสัชกรรม เพิ่มกำลังการผลิตและสำรองยาที่ผลิตเอง 5 รายการ เพียงพอสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อผู้ป่วยเดิมที่เคยใช้ยานี้อยู่ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์จากญี่ปุ่นกำหนดส่งมอบเพิ่มอีก 103,860 เม็ด ในปลายเดือนเมษายนนี้
ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการใช้ยาต้านไวรัส สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด -19 และได้กำหนดให้มียาจำเป็นสำหรับใช้ในการรักษาจำนวน 7 รายการ สำหรับใช้ร่วมกันในการรักษาโรคติดเชื้อโควิด -19 ให้มีเพียงพอสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
โดยเป็นยาที่องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการผลิตยาขึ้นเอง จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วยยาต่าง ๆ ดังนี้
- ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ จำนวน 1.8 ล้านเม็ด
- ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และ ริโทรนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir) สำรองไว้ จำนวน 30.6 ล้านเม็ด
- ยาต้านไวรัสเอดส์ดารุนาเวียร์ (Darunavir) สำรองไว้จำนวน 1.9 ล้านเม็ด
- ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) สำรองไว้จำนวน 1.9 ล้านเม็ด
และ 5. ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้จำนวน 3.4 ล้านเม็ด
ส่วนยาอีก 2 รายการองค์การฯ ได้จัดซื้อมา คือ
- ยาฟาวิพิราเวียร์ ( Favipiravir ) ซึ่งเป็นยาสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่มีการจัดซื้อจากแหล่งผลิตอยู่ 2 แหล่งหลัก คือญี่ปุ่นเจ้าของสิทธิบัตร และจีนซึ่งได้รับใบอนุญาตจากญี่ปุ่น โดยองค์การฯได้มีการจัดหาไปแล้ว 140,000 เม็ด กรมควบคุมโรคจัดหา 47,000 เม็ด รวมเป็น 187,000 เม็ด และจะมีการส่งมอบที่จัดซื้อจากญี่ปุ่นเพิ่มอีก 103,860 เม็ด ในปลายเดือนเมษายนนี้
สำหรับ 7. ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน องค์การฯได้ดำเนินการจัดซื้อไปแล้วจากผู้ผลิตในประเทศ จำนวน 1.09 ล้านเม็ด
“ยาทั้ง 5 รายการที่องค์การฯ ผลิตเองนั้น เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อใช้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งยามีเพียงพอและไม่กระทบต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาเหล่านี้อยู่เดิม และขอเตือนว่ายาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้เฉพาะโรค เป็นยาอันตราย การสั่งใช้ต้องเป็นไปตามการสั่งของแพทย์เท่านั้น ประชาชนห้ามซื้อมากินเองเด็ดขาด เนื่องจากยาทุกชนิดมีทั้งคุณประโยชน์และโทษ”
อย. จับมือเครือข่าย แก้ปัญหายาโรคเรื้อรังขาดแคลน ในภาวะโควิด-19
อย. จับมือเครือข่ายยา ทั้งสภาเภสัชกรรม ผู้ประกอบการด้านยา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผู้แทนจาก โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนทุกระดับ รวมทั้งกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณ ป้องกันปัญหายาโรคเรื้อรังขาดแคลน โรงพยาบาลทุกแห่งมียาเพียงพอ ขอประชาชนมั่นใจมียาใช้ต่อเนื่อง
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยหลังการประชุมการบริหารจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาสำหรับโรคเรื้อรังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายด้านยา เมื่อบ่ายวานนี้ (20 เม.ย.63) ว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลมียอดการจ่ายยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสูงกว่าปกติ สองถึงสามเท่า ส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายยาโรคเรื้อรังในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ผู้ป่วยคราวละสามถึงหกเดือน ประกอบกับมาตรการปิดประเทศของบางประเทศที่ผลิตวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป เช่น จีน อินเดีย และยุโรป ส่งผลให้การจัดส่งทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูปเกิดความล่าช้า อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนยาเหล่านี้ในอนาคต เช่น ยาแอมโลดิพีนสำหรับลดความดันโลหิตสูง ยาเมทฟอร์มินสำหรับลดน้ำตาลในเลือด และยาซิมวาสแตตินสำหรับลดไขมันในเลือดด้านองค์การ เภสัชกรรมเสนอเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกร้อยละ 50 เพื่อให้โรงพยาบาลมั่นใจได้ว่าจะได้รับยาทันตามยอดการสั่งซื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชน นำโดยสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ได้ขานรับนโยบายรัฐ พร้อมเสริมกำลังการผลิตยาโรคเรื้อรังให้เพียงพอต่อการสั่งซื้อของโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงยาได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดการกระจายยาได้เพียงพอและสอดคล้องกับการใช้ยาของโรงพยาบาลทั่วประเทศจึงให้กองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำรวจยอดการสั่งซื้อยาของแต่ละโรงพยาบาลรัฐและวางแผนการจัดซื้อยาร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และให้แต่ละโรงพยาบาลพิจารณาบริหารจัดการจ่ายยาแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คราวละ 2 เดือนหรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ในช่วงดังกล่าว และเพื่อให้มียาเพียงพอสำหรับการใช้ในโรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องจัดซื้อยาจากผู้ผลิตยารายอื่น ๆ ด้วย ที่ประชุมจึงให้หารือกรมบัญชีกลางในการผ่อนปรนกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 หมวด 5 ข้อ 17 เป็นการชั่วคราว
เลขาธิการ อย. กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบบริหารจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน ว่ามีความพร้อมรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนยาโรคเรื้อรังอย่างแน่นอน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web