- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 18 April 2020 23:09
- Hits: 581
อภ.เร่งจัดหาหน้ากาก N95 และชุด PPE ต่อเนื่อง ชนิดละประมาณ 5 ล้านชิ้น
อภ. จัดหาหน้ากาก N95 และชุด PPE ต่อเนื่อง ชนิดละประมาณ 5 ล้านชิ้น เพื่อสำรองและจัดส่งให้บุคลากรทางการแพทย์มีใช้อย่างเพียงพอ พร้อมเชิญชวนผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่าย ร่วมเสนอผลิตภัณฑ์ สร้างความมั่นใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ ลดความผันผวนของตลาดอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์
นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม อภ. มีเป้าหมายจัดซื้อเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ป้องกันโรค COVID-19 ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย N95 และชุดป้องกันตนเอง PPE เกรดทางการแพทย์ ชนิดละประมาณ 6.67 แสนชิ้น พร้อมจัดหาอย่างต่อเนื่องชนิดละประมาณ 5 ล้านชิ้น เพื่อสำรองและจัดส่งให้บุคลากรทางการแพทย์มีใช้อย่างเพียงพอ โดยตั้งแต่วันที่ 2 -15 เมษายน 2563 ได้จัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ดังนี้ หน้ากากอนามัย Surgical Mask ที่จัดซื้อและให้บริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นผู้กระจายไปแล้วประมาณ 21.4 ล้านชิ้น หน้ากากอนามัย N95 จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ไปแล้วและคงสำรองอยู่ที่โรงพยาบาลต่างๆประมาณ 2.28 แสนชิ้น รอจัดสรรและสำรองกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่ อภ.ประมาณ 8.7 หมื่นชิ้น
ชุด PPE (Coverall/Surgical Gown) พร้อมอุปกรณ์จำเป็นครบชุด จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ไปแล้วและคงสำรองอยู่ที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ประมาณ 2.46 แสนชิ้น รอจัดสรรและสำรองกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่อภ.ประมาณ 1.1 หมื่นชุด และยาฟาวิพิราเวียร์ จัดซื้อมาแล้วทั้งสิ้น 1.87 แสนเม็ด ได้ให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้แล้ว 5.45 หมื่นเม็ด และคงสำรองอยู่ที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ประมาณ 3.06 หมื่นเม็ด รอจัดสรรและสำรองกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่อภ.ประมาณ 1.01 แสนเม็ด ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ได้จัดซื้อจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สามารถจัดหาให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ และขณะนี้ได้ปรับแนวทางการสั่งซื้อโดยขอให้สถานทูตจีนเป็นผู้ประสานเจรจาในการจัดหา เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งในเรื่องคุณภาพ ราคา และความน่าเชื่อถือของบริษัทด้วย
อย่างไรก็ตาม อภ.เปิดกว้างให้ผู้ผลิต/ ตัวแทนจำหน่าย (Supplier) หน้ากากอนามัย N95 /ชุด PPE ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีศักยภาพและผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เข้ารับการคัดเลือกขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ของ อภ.(GPO- COVID -19 Approved Vendor List) ซึ่งจะทำให้มีแหล่งในการจัดหาและสำรองเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ช่วยลดความผันผวนของตลาด ให้การจัดหาเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ส่วนการตัดเย็บผลิตชุด PPE แบบซักใช้ซ้ำได้หรือชุดเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown) ใช้เองภายในประเทศจำนวน 40,000 ชุด นั้น ล่าสุด (วันที่ 17 เมษายน 63 ) ได้ประชุมร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัทที่ผ่านเกณฑ์จาก อย. ทำความเข้าใจเรื่องคุณภาพการตัดเย็บ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการซักซ้ำ และจะทดสอบอีกครั้งหลังตัดเย็บเรียบร้อยแล้ว หากผ่านการทดสอบแล้ว จะตัดเย็บเพื่อส่งมอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะทำให้มี ชุดPPE แบบ Isolation Gown ทดแทนได้ถึง 800,000 ชุด และจะทยอยตัดเย็บให้เพียงพอใช้ในประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่าย อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่สนใจร่วมงานกับอภ. รวมทั้งหน่วยงานหรือประชาชนที่ต้องการทราบรายละเอียดผลการดำเนินงาน สถานะการรับและจัดส่งทรัพยากรและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ อภ. ดูแลรับผิดชอบ ได้ที่เว็บไซต์ www.gpo.or.th
อย. แนะ วิธีเลือกซื้อหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
อย. แนะประชาชนเลือกซื้อหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุด PPE เพื่อนำไปบริจาคให้บุคลากรทางการแพทย์ ก่อนซื้อขอดูฉลากหรือเอกสารระบุมาตรฐานต้องได้มาตรฐานทางการแพทย์ (Medical Grade) หากซื้อจากผู้ขายในประเทศให้ขอหนังสือรับรองการผลิตหรือนำเข้าจากผู้ขายด้วย กรณีนำเข้าเครื่องมือแพทย์เพื่อบริจาคให้เตรียมเอกสารชี้แจงการนำเข้าและหนังสือตอบรับจากผู้รับบริจาคยื่นที่ด่านอาหารและยา
อย. พร้อมอำนวยความสะดวก จะตรวจสอบออกของให้ทันที
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้มีประชาชนที่มีน้ำใจเป็นจำนวนมากต้องการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์จำพวกหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment, PPE) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยส่วนใหญ่สั่งซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ประโยชน์ตามความตั้งใจที่จะบริจาค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแนะนำวิธีการเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้ ให้สังเกตข้อมูลบนฉลาก เอกสารกำกับ แคตตาล็อก หรือคู่มือการใช้ที่ออกโดยผู้ผลิตหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- หน้ากากอนามัย ตัวสินค้าต้องระบุ (1) ชื่อ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์, Surgical mask, Medical mask (2) วัตถุประสงค์การใช้ เพื่อกรองหรือฆ่าเชื้อโรค เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย กันละอองฝอยจากการไอ จาม
- หน้ากาก N95 ตัวสินค้าต้องระบุ (1) ชื่อ หน้ากาก N95 ทางการแพทย์, Surgical N95, N95 respirator, Medical respirator, Surgical respirator, Healthcare respirator, Medical protective respirator (2) ประเภทและมาตรฐานของหน้ากาก N95 และหน่วยงานที่ให้การรับรอง/อนุญาต ตามแหล่งที่มา ดังนี้
สหรัฐอเมริกา: N95 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐานการทดสอบการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว ASTM F1862 รับรองโดย NIOSH
จีน: KN95 อ้างอิงตามมาตรฐาน GB 19083 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐานการทดสอบการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว YY/T 0691-2008 รับรองโดย NMPA
สหภาพยุโรป: FFP2, FFP3 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐานการทดสอบการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว EN 14683, ISO 22609 รับรองโดย EU Notified Bodies
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์: N95/P2 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐานการทดสอบการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว AS4381 รับรองโดย TGA
- ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
3.1 ชุด Surgical Gown ต้องได้มาตรฐานตามแหล่งที่มา ดังนี้
สหรัฐอเมริกา: ต้องได้มาตรฐาน ANSI/AAMI PB70 ที่ระดับ 3 หรือ 4 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐาน ASTM F1670 (ป้องกันการซึมผ่านของของเหลว) และ ASTM F1671 (ป้องกันการทะลุผ่านของไวรัส)
สหภาพยุโรป: ต้องได้มาตรฐาน EN 13795 ที่ระดับ High Performance และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐาน EN 20811 (ป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน), EN ISO 22610 (ป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดันที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย) และ EN ISO 22612 (ป้องกันการซึมผ่านของอนุภาคแบคทีเรีย)
3.2 ชุด Coverall ต้องได้มาตรฐานตามแหล่งที่มา ดังนี้
จีน : ต้องได้มาตรฐาน GB 19082
สหภาพยุโรป: ต้องได้มาตรฐาน EN 14126 ที่ระดับ 5 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐาน ISO 16604 ไม่ต่ำกว่าระดับ 2
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการซื้อสินค้าดังกล่าวจากผู้ขายในประเทศให้ขอดูใบจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ หรือหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าเหล่านั้นได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องและบุคลากรทางการแพทย์จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ส่วนการนำเข้ามาเพื่อบริจาคให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่บำบัด รักษา สภากาชาดไทย หรือองค์กรการกุศล ขอให้เตรียมเอกสารหนังสือชี้แจงการนำเข้าที่ระบุรายละเอียดผลิตภัณฑ์ (ชื่อ ยี่ห้อ รุ่น) นำมาบริจาคให้แก่หน่วยงานใดจำนวนเท่าไหร่ และบัญชีราคาสินค้า (invoice)
ที่สำคัญต้องมีหนังสือตอบรับจากหน่วยงานที่รับบริจาคด้วย แล้วนำไปยื่นที่ด่านอาหารและยา โดยจะพิจารณาออกของให้ทันที ไม่ล่าช้า อย. พร้อมดำเนินการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาวิกฤติ โควิด-19 ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องในช่วงโควิด-19 ได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ’COVID-19’ แล้วคลิกไปที่’ข่าวประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง’ หรือกดติดตามที่ ‘แฟนเพจเฟซบุ๊ก Fda Thai’
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web