- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 10 April 2020 22:05
- Hits: 533
รพ.ไม่ต้องกังวล! สปสช.จ่ายค่ารักษา 'โควิด-19' ให้สิทธิผู้ป่วยทั้งกระบวนการ
สปสช.เตรียมงบกว่า 4,280 ล้าน ลุยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ทุกสิทธิ รักษาผู้ป่วยบัตรทองฟรี พร้อมแจกแจงสิทธิประโยชน์ละเอียดยิบ ครอบคลุมยาราคาแพง ค่าขนส่ง ค่าตรวจแล็บ ผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน ชุด PEE ห้องความดันลบ สถานที่ดูแลต่อเนื่อง รวมถึงจ่ายชดเชยบุคลากรสาธารณสุขหากเกิดความเสียหาย ด้านรองเลขาธิการฯ แนะท้องถิ่นใช้งบ “กองทุนตำบล” 7,700 แห่ง ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสิทธิการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดการแพร่ระบาดหลังจากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณางบประมาณปี 2563 ไปแล้ว แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนจึงมีมติเห็นชอบให้บรรจุโรคนี้เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
สำหรับ งบประมาณที่นำมาใช้นั้น ส่วนแรกเป็นผลพวงมาจากกลไกการต่อรองราคายาของ สปสช. ที่ทำให้สามารถจัดซื้อยาได้ในราคาถูกจนประหยัดงบประมาณประเทศได้ถึง 1,020 ล้านบาท ส่วนที่สองมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่อนุมัติงบกลางให้อีก 3,260 ล้านบาท ทำให้ สปสช.มีงบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 4,280 ล้านบาท
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า งบประมาณทั้งหมดนี้จะถูกใช้ไปใน 2 ส่วน ได้แก่ 1. การรักษาพยาบาลผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง 2. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยกิจกรรมสำคัญที่ สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ดำเนินการไปแล้วก็คือการตรวจคัดกรองเชิงรุกสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยกระทรวงสาธารณสุขและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการที่ จ.ภูเก็ต เป็นแห่งแรก สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
นอกจากนี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลขึ้น ทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีงบประมาณอยู่ในพื้นที่ 7,700 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถนำงบส่วนนี้มาป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ตัวอย่างเช่น 1. การรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันตามแนวทางของกรมควบคุมโรค 2.การจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องวัดไข้ 3. การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง 4. ตรวจเยี่ยมกลุ่มเสี่ยงในชุมชน 5. ติดตามและเฝ้าระวังการเดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ 6. การจัดบริการรับส่งผู้ป่วยที่จำเป็นไปยังโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ฯลฯ
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อถึงการดูแลบุคลาการทางสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า สปสช.จะจ่ายเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 3 ระดับ ได้แก่ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต จะจ่ายให้ตั้งแต่ 4.8 แสน - 8 แสนบาท 2. กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลต่อการดำรงชีวิต จะจ่ายให้ตั้งแต่ 2 แสน - 4.8 แสนบาท และ 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จะจ่ายไม่เกิน 2 แสนบาท
พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า การรักษาโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่ สปสช.จัดสรรเพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์เดิม โดยบอร์ด สปสช.อนุมัติการจ่ายเงินสำหรับยารักษาโควิด-19 ครั้งละ 7,200 บาท แต่หากในอนาคตมียาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและราคาแพงขึ้นก็สามารถขออนุมัติค่าใช้จ่ายอัตราใหม่ได้อีก
นอกจากนี้ สปสช.ยังอนุมัติการจ่ายค่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งเป็นการจ่ายตามจริงไม่เกินครั้งละ 3,700 บาท โดยครอบคลุมค่ายานพาหนะ ค่าทำความสะอาดยานพาหนะ ค่าแรงผู้นำส่ง รวมถึงค่าวัสดุอุปกรณ์และชุดป้องกันความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ (PPE)
สำหรับ การตรวจคัดกรองกลุ่มผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ (lab) ถือว่าเป็นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้น สปสช.จะสนับสนุนค่าตรวจให้แก่ประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ
“ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดและสงสัยว่าตัวเองจะติดโรคโควิด-19 ให้สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง หากเข้าเกณฑ์ทาง สปสช.จะจ่ายให้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นไข้หรือไม่มีประวัติความเสี่ยงใดๆ แนะนำว่าไม่ควรไป เพราะการไปโรงพยาบาลจะทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น” พญ.กฤติยา กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากตรวจคัดกรองแล้วผลยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กรณีผู้ป่วยนอก สปสช.จะจ่ายชดเชยค่ายา แต่ถ้าจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล หรือเป็นผู้ป่วยใน สปสช.จะชดเชยทั้งค่าชุด PEE ของบุคลากรทางการแพทย์ ค่าตรวจเลือดและตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ รวมถึงค่าการใช้ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) ครั้งละ 2,500 บาทต่อคนต่อวัน ในกรณีของผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วและจำเป็นต้องย้ายไปดูแลต่อที่โรงแรมหรือตามสถานพยาบาลที่ สธ.รับรอง สปสช.ก็จะตามไปจ่ายค่าที่พักและค่ารักษา ณ สถานที่นั้นๆ ให้ด้วย
“ขอให้มั่นใจว่า สปสช.จะใช้งบประมาณที่มีอยู่เพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยสถานบริการสามารถเบิกจ่ายได้นับตั้งแต่การรับบริการวันที่ 2 มี.ค.เป็นต้นไป” พญ.กฤติยา กล่าว
อนึ่ง ในวันจันทร์ที่ 13 เม.ย. 2563 สปสช.จะจัด Facebook LIVE ชี้แจงถึงแนวทาง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายกรณีโรคโควิด-19 และการคัดกรอง ผ่านทางแฟนเพจ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยโรงพยาบาลทั่วประเทศสามารถติดตามได้ที่ www.facebook.com/NHSO.Thailand ในเวลา 09.00 น.
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web