- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 22 March 2020 22:19
- Hits: 837
อนุทิน ย้ำไทยมียา เวชภัณฑ์ พร้อมดูแลรักษาโรคโควิด-19
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งซื้อยารักษาโรคโควิด-19 ฟาวิพิลาเวียร์ เพิ่มอีก 1 แสนเม็ดจากประเทศจีน พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19
ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบระบบตรวจจับความร้อน หรือเทอร์โม สแกน (Thermo Scan) จากคุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารบริษัทต้าหัว เทคโนโลยี ประเทศไทย (Dahua Technology Thailand) และบริษัท ซินเน็ค ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SYNNEX Thailand) และให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้บริษัทผู้ผลิต ได้นำเครื่องเทอร์โม สแกน มามอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยจะติดตั้งที่ชั้นล่างทางเข้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวง เพื่อใช้คัดกรองผู้ที่มาทำงาน ติดต่อราชการ ประชุม ซึ่งแต่ละวันมีจำนวนมาก เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขจะปลอดภัย
“ขอขอบคุณบริษัทภาคเอกชนที่คิดถึงคนไทย ความปลอดภัยของบุคลากร เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ภาคเอกชนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในยามที่ประเทศไทยมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เกิดผลกระทบหลายด้าน แต่ก็มีสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น มีผู้ประกอบการมากมายมาให้กำลังใจ บริจาคสิ่งของให้กระทรวงสาธารณสุข ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ทางการแพทย์ กรมธรรม์คุ้มครอง” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในด้านการรักษา ไทยมีความพร้อมทั้งยา เวชภัณฑ์ โดยยารักษาโรคโควิด-19 ฟาวิพิลาเวียร์ ได้สั่งซื้อเพิ่มอีก 1 แสนเม็ด จากเดิมสำรองไว้ 80,000 เม็ด ล็อตแรกจะได้รับ 50,000 เม็ด หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันตนเอง (PPE) ซึ่งประเทศจีนเปิดโอกาสให้ไทยสามารถสั่งซื้อโดยตรงจากบริษัทในประเทศจีน ผ่านองค์การเภสัชกรรม หลังจากที่สถานการณ์ในจีนเริ่มคลี่คลาย เป็นการตอบแทนน้ำใจที่ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยจีนอย่างดี จนหายขาดกลับบ้าน
นอกจากนี้ ในวันนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำผู้บริหารบริษัทคอสโม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มามอบแอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 30,000 ลิตร เพื่อให้โรงพยาบาลนำไปใช้ในการทำความสะอาดพื้นผิวสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก
บอร์ด สปสช.หนุน รพ.รับมือ ‘โควิด-19’อนุมัติงบพันล้านบาทดูแลประชาชน
บอร์ด สปสช. เห็นชอบเพิ่ม’โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)’ รายการเบิกจ่ายชดเชย ‘กองทุนบัตรทอง’ เพิ่มความชัดเจนการเบิกค่าใช้จ่าย ครอบคลุมทั้งป้องกัน ตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพ พร้อมอนุมัติใช้งบ ‘กองทุนรายได้สูง(ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายสะสม 1,020 ล้านบาท หนุนโรงพยาบาลรับมือ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อยู่ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) พร้อมอนุมัติหลักการให้ใช้เงินกองทุน “รายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวนไม่เกิน 1,020 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายในกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการ
นายอนุทิน กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “กองทุนบัตรทอง” ซึ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพใหญ่ที่สุดของประเทศ มีภารกิจหลักสำคัญในการดูแลคนไทยให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น รวมถึงในกรณีที่เกิดโรคระบาดอย่างกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ยังได้มอบให้ สปสช. ใช้งบประมาณจากองทุนฯ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน และควบคุมโรค ในการร่วมสกัดปัญหาการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 คือไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศ แต่ สปสช.จำเป็นต้องเตรียมงบประมาณรองรับไว้เพื่อสร้างความมั่นใจและสนับสนุนการบริการของหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วยและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ในวันนี้บอร์ด สปสช.ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ในรายการประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมดูแลทั้งการป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ ตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และมอบให้คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและดำรงชีวิต พิจารณารายละเอียดมาตรฐาน และแนวทางบริการ
ขณะเดียวกัน บอร์ด สปสช. ยังได้มอบคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนพิจารณาแหล่งงบประมาณ และกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินงาน วิธี เงื่อนไข และอัตราการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดยเบื้องต้นให้ สปสช.จ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากเงินกองทุนรายการรายได้สูง(ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวนไม่เกิน 1,020 ล้านบาท และให้ติดตามผลการใช้งบประมาณ กรณีที่ไม่เพียงพอ ให้ดำเนินการเพื่อขอรับงบกลางจากรัฐบาลต่อไป โดยงบประมาณที่อนุมัตินี้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยขน์และงบประมาณในระบบปกติแต่อย่างใด
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เสนอต่อ รมว.สาธารณสุข พิจารณาออกประกาศเพื่อให้หน่วยบริการสามารถใช้เงินค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์สำหรับซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์หรือปรับปรุงพื้นที่ในหน่วยบริการมารองรับได้ ซึ่งเป็นวงเงินจำนวน 6,211 ล้านบาท โดยกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามคำสั่ง คสช. ที่ 37/2559 ข้อ 23(3)
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯ และ สปสช.ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุขทุกท่านที่เป็นด่านหน้าต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างเข้มแข็ง และกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว และสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากกองทุนบัตรทอง เพียงแต่การกำหนดไว้ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขจะทำให้เกิดความชัดเจนในการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการยิ่งขึ้น ขณะที่งบประมาณที่บอร์ด สปสช.อนุมัติในวันนี้ก็เพื่อให้มีงบประมาณรองรับหากเกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยบริการและประชาชน
อนุทิน เผย คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติฯ ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ยืนยันไทยยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 ไม่มีการระบาดในประเทศ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติฯ เห็นชอบในหลักการร่างประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ยืนยันไทยยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 ยังไม่มีการระบาดของโรคในประเทศ
บ่ายวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 โดยมีนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วมการประชุม
นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่พบการระบาดในประเทศ แต่แนวโน้มการระบาดในประเทศต่างๆ มีมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการระบาดของประเทศไทย ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลำดับที่ 14 เพื่อให้สามารถใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค สามารถควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยจะทำให้สามารถค้นหาผู้ป่วย สอบสวน และควบคุมโรคได้เร็ว
โดยเจ้าบ้าน/ ผู้ควบคุมดูแลบ้าน/แพทย์ผู้ทำการรักษาที่บ้าน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล/ ผู้ทำการชันสูตร/ ผู้รับผิดชอบสถานที่ชันสูตร และเจ้าของ/ผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ภายใน 3 ชั่วโมง รวมทั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจะมีอำนาจในการดำเนินการหรือออกคำสั่ง เช่น ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโรคมารับการตรวจชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต และกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัด/กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบการ โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดเป็นการชั่วคราว และสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรหยุดประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว
“ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก การประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไทยควบคุมโรคไม่ได้จนเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่มาตรการที่เราทำอยู่เป็นการทำงานเชิงรุก ล่วงหน้ามากกว่าสถานการณ์จริงไปอีกขั้นหนึ่ง ที่สำคัญจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าควบคุมโรคได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายในวงกว้าง เช่นที่เกิดในบางประเทศ” นายอนุทินกล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการได้เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติการเพื่อเป็นกรอบแนวทางให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณี COVID-19 และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่ 1.การคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ช่องทางเข้าออกประเทศ สถานพยาบาล และในชุมชน 2.การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อ 3.การติดตามผู้สัมผัสโรค 4.การสื่อสารความเสี่ยง 5.การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย และ 6.การประสานงานและจัดการข้อมูล
นอกจากนี้ ภายใต้กองทุนบัตรทองยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ โดยท้องถิ่นสามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถจัดซื้อหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน เจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้ หรือบางพื้นที่อาจจะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการป้องกันโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web