- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 08 March 2020 10:54
- Hits: 813
สธ.ปรับกลยุทธ์ 'รับยาใกล้บ้าน' เพิ่มโรค เพิ่มยา
กระทรวงสาธารณสุข ปรับกลยุทธ์ 'รับยา ใกล้บ้าน' เพิ่มรายการโรค รายการยา ให้เหมาะสมกับพื้นที่ สร้างความรอบรู้ประชาชน เผยรอบ 4 เดือน มีโรงพยาบาลและร้านยาร่วมโครงการ เกินเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปี 2563
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในรอบ 4 เดือนปีงบประมาณ 2563 นี้ โครงการรับยาใกล้บ้าน ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยผู้รับบริการในโรงพยาบาล มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 108 แห่ง ร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ร้านขายยา ขย.1) จำนวน 889 ร้าน ใน 64 จังหวัด ใบสั่งจ่ายยาทั้งหมด 5,406 ใบสั่ง สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2563 คือมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 50 แห่ง และร้านขายยา 500 แห่ง อย่างไรก็ตาม ได้ให้โรงพยาบาลปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ อาทิ การขยายไปสู่กลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ เพิ่มจากที่กำหนดไว้ 4 โรคเรื้อรัง คือ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หอบหืด และโรคทางจิตเวช ปรับปรุงระบบให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยและข้อมูลใบสั่งยาระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา จัดระบบการขนส่งยาให้รวดเร็วทันเวลา เพิ่มการเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานที่ร้านขายยา เพิ่มร้านยาใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยรับทราบ สนใจ และเกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการ
“ขอเชิญประชาชนร่วมรับยาใกล้บ้านตามโครงการนี้ เพราะนอกจากจะไม่ต้องรอคิวรับยาที่โรงพยาบาล ลดความแออัดแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงในการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ช่วยประเทศในการควบคุมโรคโควิด 19 อีกทางหนึ่งด้วย”นายแพทย์ยงยศกล่าว
ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.โรงพยาบาลจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา 2.โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา และ 3.ร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง ซึ่งเป็นยาตัวเดียวกับที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาล
สปสช.ชวนผู้ป่วย 4 กลุ่มโรครับยาใกล้บ้าน ไม่ต้องมาแออัดที่ รพ. ลดความเสี่ยงโรคโควิด-19
สปสช.ชวนผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ช่วยให้ไม่ต้องไปอยู่ในสถานที่ผู้คนแออัดอย่างโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ลดความเสี่ยง และยังได้คำแนะนำจากเภสัชกรและได้ยาไม่ต่างมาจากโรงพยาบาล
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในขณะนี้ได้สร้างความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงขอเชิญชวนให้ผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค ประกอบด้วย เบาหวาน ความดันโลหิต หอบหืด และผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์และรับยาอย่างต่อเนื่อง ให้เข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลให้สั้นลง ไม่ต้องรอคิวที่ห้องยา อีกทั้งลดจำนวนครั้งที่ต้องมาโรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงจากการอยู่ในสถานที่ที่มีคนหมู่มากและช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเปิดรับผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีอาการคงที่ ให้สมัครใจไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านแทนการมารับยาที่โรงพยาบาล ซึ่งนอกจากช่วยให้ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยยังจะได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากเภสัชกรร้านยาเป็นอย่างดีไม่ต่างจากการรับยาที่ห้องยาของโรงพยาบาล ยาที่ได้รับก็เป็นยาชนิดเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาล มีการตรวจเช็คข้อมูลสุขภาพและเชื่อมต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการทางสุขภาพเปลี่ยนแปลงไปก็สามารถขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อปรับยาหรือส่งตัวไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ทันที
ขณะเดียวกัน ในกรณีที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการที่โรงพยาบาลตามวงรอบการนัด เมื่อผู้ป่วยพบแพทย์เสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่ต้องไปรอรับยาที่ห้องยา ช่วยลดระยะเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล และในแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถควบคุมอาการได้ดีก็อาจลดจำนวนการนัด เช่น จากที่เคยนัดทุกเดือน เปลี่ยนเป็นนัดทุก 3 เดือนก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่สนใจเข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่แพทย์ผู้ทำการรักษา โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 108 แห่ง ร้านยาแผนปัจจุบันเข้าร่วมโครงการ 889 แห่งใน 55 จังหวัด ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการนั้น เป็นร้านยาคุณภาพหรือร้านยาที่ผ่านมาตรฐาน GPP และมีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าการให้บริการจะมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพอย่างแน่นอน
ด้านนางทองวัน ผ่านจังหาญ หนึ่งในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการรับยาใกล้บ้าน โดยรับยาที่ร้านยาสมศักดิ์เภสัช อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนมีนัดพบแพทย์และรับยาทุก ๆ 3 เดือน แต่ได้เข้าร่วมโครงการเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแพทย์ได้ยืดระยะเวลามาที่โรงพยาบาลจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน ซึ่งในช่วงนี้จะให้ไปรับยาที่ร้านยาเป็นเวลา 5 เดือน ส่วนเดือนที่ 6 ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการ
นางทองวัน กล่าวว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการแล้วพบว่ามีความรวดเร็วและสะดวกอย่างมาก เพราะที่ร้านยาคนไม่เยอะเหมือนโรงพยาบาล ยิ่งช่วงนี้มีสถานการณ์โรคโควิด-19 การหลีกเลี่ยงไปที่ที่มีคนอยู่เยอะและแออัดก็ช่วยทำให้ลดความเสี่ยงตรงนี้ไปได้ เพราะเราก็เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่ด้วย ขณะที่เภสัชกรก็ให้บริการดี มีการซักถามข้อมูลสุขภาพ ให้คำแนะนำการรับประทานอาหาร ใช้เวลา 10 นาทีก็กลับบ้านได้ แต่ถ้าไปที่โรงพยาบาล บางครั้งยื่นใบสั่งยาแล้วต้องรอนานเกือบ 2 ชั่วโมงถึงจะกลับบ้านได้
เช่นเดียวกับ น.ส.กัลยา แสงอุบล อีกหนึ่งผู้ป่วยที่เลือกรับยาที่ร้านยาลลิลภัทร อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการนี้มา 2 เดือนแล้ว เดิมทีต้องไปพบแพทย์และรับยาที่โรงพยาบาลทุก ๆ 3 เดือน แต่เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วว่าอาการคงที่ จึงสอบถามว่าต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้านหรือไม่ ตนจึงสมัคร ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมโครงการแล้ว แพทย์ยืดระยะเวลาพบแพทย์ออกไปเป็น 6 เดือน และนัดให้ไปรับยาที่ร้านทุก ๆ 2 เดือน
"เดือนที่แล้วก็เพิ่งไปรับยามา ทางเภสัชกรก็ช่วยเจาะเลือดดูค่าระดับน้ำตาล ตรวจวัดความดัน ใช้เวลาแป๊ปเดียวก็เสร็จ แต่ถ้าไปโรงพยาบาลมันจะใช้เวลานาน ไปถึงเช้า กว่าจะได้รับยาก็บ่าย 2 แล้วพอดีกับที่บ้านเรากำลังมีเรื่องโรคโควิด-19 ก็ยังคิดอยู่ว่าถ้าต้องไปแออัดรอรับยาที่ รพ.ก็จะเพิ่มความเสี่ยงไปอีก อีกอย่างเราเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่แล้ว หมอเค้าก็บอกว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง การรับยาใกล้บ้านจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก เดินทางไม่นาน ใช้เวลาแป๊ปเดียวก็ได้กลับบ้านแล้ว" น.ส.กัลยา กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web