- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Tuesday, 25 February 2020 22:01
- Hits: 773
สสส.หนุนเยาวชนจัด ‘มหกรรมสื่อสร้างสรรค์ รู้เท่าทันพนันรอบตัว’
การพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องทางออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและร่วมช่วยกันลดปัญหาและผลกระทบ จากการสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2561 ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 3 ทั่วประเทศ พบว่าบุคคลและสภาพแวดล้อมของเด็กเกี่ยวข้องกับการพนันเป็นจำนวนมาก โดยเด็กร้อยละ 91.8 มีคนรู้จักเล่นพนัน 3 อันดับแรก คือ คนในครอบครัว คนในชุมชน และญาติ ในจำนวนนี้มากกว่า 1 ใน 4 บอกว่ารู้สึกอยากเล่นพนันเมื่อเห็นผู้ใหญ่เล่นพนัน ส่วนในโลกสื่อสังคมออนไลน์ เด็กร้อยละ 72.1 เคยพบเห็นโฆษณาเชิญชวนให้เล่นพนัน โดยร้อยละ 14.6 ตามไปเล่นพนันในช่องทางที่เชิญชวน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เด็กจำนวนมากถึงร้อยละ 51.8 เคยเล่นการพนันโดยใช้เงินเดิมพัน
ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่า เด็กเริ่มเล่นพนันครั้งแรกอายุน้อยที่สุด 6 ปี ทั้งชายและหญิง โดยมากกว่าครึ่งเริ่มเล่นพนันระหว่างอายุ 10-12 ปี สำหรับประเภทการพนันที่เด็กนิยมเล่นคือ น้ำเต้าปูปลา เล่นไพ่กินเงิน บิงโกกินเงิน ไฮโล ลอตเตอรี่ ส่วนพนันบอลกินเงินมาเป็นอันดับที่ 6 ผู้ชายเริ่มเล่นจากไพ่ ผู้หญิงเริ่มที่น้ำเต้าปูปลา
จากสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยนอร์ท กรุงเทพ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาการสื่อสารสาธารณะของภาคีเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน “มหกรรมสื่อสร้างสรรค์ รู้เท่าทันพนันรอบตัว” โดยมีกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการพนัน และการประกวดสื่อรณรงค์ ทั้งประเภทภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบด้านต่างๆ จากการเล่นการพนันและการพนันออนไลน์ โดยมีทีมนักศึกษาส่งผลงานสื่อรณรงค์ประเภทภาพนิ่ง (อินโฟกราฟิก) 33 ผลงาน และประเภทภาพเคลื่อนไหว (Video/ Animation) 15 ผลงาน
ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทภาพนิ่ง ได้แก่ ทีมมีโอ โดยนางสาวปฐมาวดี ราชดา (ซี) และ นางสาวประภัสสร ขันปัญญา (พิม) ประเภทภาพเคลื่อนไหว ได้แก่ ทีม EPF ประกอบด้วย นายณัฐวัตน์ บุญมี (ปลื้ม) นายเอกราช รูปงาม (เอก) และนายนิธิศ สิริพรรณมงคล (ฟิว) ทั้งหมดเป็นนักศึกษา ปวส. 1 สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธีมอบรางวัล กล่าวว่า “ปัญหาและผลกระทบจากการเล่นพนันออนไลน์ไม่ใช่แค่เรื่องของการสูญเสียทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้พฤติกรรมติดการพนันเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เรียกว่า “โรคติดพนัน” หรือ Pathological Gambling ซึ่งผู้เล่นมีความทุกข์จากการเล่นพนัน แต่ก็หยุดไม่ได้ ยังคงต้องเล่นต่อไป และการพนันยังยั่วยุให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้มาก ไม่ว่าผู้เล่นจะอยู่ในสถานการณ์ที่ได้หรือเสีย ดังนั้นเด็กและเยาวชนจึงเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดการพนันได้ง่าย แต่ถอนตัวได้ยาก”
ทั้งนี้ มีหลายสาเหตุที่วัยรุ่นติดการพนันได้ง่าย เช่น มีโฆษณาเชิญชวนให้เล่นพนันมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต เพียงแค่คลิกก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้อย่างง่ายดาย, เพื่อนแนะนำให้เล่น ตามธรรมชาติของวัยรุ่นที่อยากรู้อยากลองหรือชอบเสี่ยงอยู่แล้ว, ร้อนเงิน หรือมีความต้องการใช้จ่ายมาก อยากได้ของตามสมัยนิยมสูง คิดว่าการพนันจะทำให้ได้เงินง่าย และ ปัญหาครอบครัว ต้องการประชดพ่อแม่ หนีออกนอกบ้าน หรืออยากหาเงินใช้เอง บางคนหาทางออกด้วยการไปเล่นพนันทำให้ติดหนี้ ดังนั้น ปัญหาการติดการพนันของเด็กและเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดูแลแก้ไข โดยควรทำความเข้าใจกับเด็กและเยาวชน เพราะการพนันออนไลน์อยู่รอบตัวของเด็กและเยาวชน สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา จึงต้องสื่อสารเชิงบวก โดยสร้างการรู้เท่าทัน ช่วยให้มีภูมิคุ้มกันตัวเอง
นิธิศ - เอกราช - ณัฐวัตน์ จากทีม EPF ชนะเลิศประเภทภาพเคลื่อนไหว
นายณัฐวัตน์ บุญมี (ปลื้ม) จากทีม EPF เจ้าของผลงานชุด “The Gambling” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทภาพเคลื่อนไหว กล่าวถึงแนวความคิดในการสร้างสรรค์ว่า “เราสร้างโลกสมมุติที่เกิดการระบาดของโรคพนันขึ้น และเสนอแนวทางป้องกันและหลีกเลี่ยงที่ดีที่สุด โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครที่เป็นเด็กกำลังเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางต้องผ่านพื้นที่ระบาดของโรคจากการพนัน ซึ่งมีความรุนแรง 3 ระดับ ทั้งน้อย ปานกลาง และรุนแรง ในเนื้อหาของเรื่องยังแสดงให้เห็นว่าสังคมแย่ลงเพราะการพนันอย่างไร และเราจะหยุดการเข้าถึงสิ่งนี้ได้อย่างไร ซึ่งก็แค่ปิดโทรศัพท์ ลด ละ เลิกการออนไลน์ลง ก็จะเกิดเป็นภูมิคุ้มกันตนเองได้ แต่ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือสถาบันครอบครัว เพราะอยู่ใกล้ชิดตัวเรามากที่สุด”
ขณะที่ นายเอกราช รูปงาม (เอก) และ นายนิธิศ สิริพรรณมงคล (ฟิว) เพื่อนร่วมทีม กล่าวเสริมว่า ก่อนจะเริ่มออกแบบสร้างสรรค์ผลงาน ได้รับการอบรมจากเครือข่ายของ สสส. ทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการพนันมากขึ้น และรู้ว่าจะนำเสนอเรื่องราวอย่างไร เริ่มตั้งแต่ระดับเล็กๆ น้อยๆ อย่างตู้คีบตุ๊กตา ลอตเตอรี่ ไปจนถึงระดับสูงสุด คือบ่อนคาสิโน พวกเราต้องการนำเสนอให้เห็นผลกระทบที่จะตามมาจากการเล่นการพนัน หวังว่าสื่อนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก เล่นการพนันได้
ปฐมาวดี - ประภัสสร จากทีมมีโอ ชนะเลิศประเภทภาพนิ่ง
ตัวแทน ทีม “มีโอ” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทภาพนิ่ง นางสาวปฐมาวดี ราชดา (ซี) กล่าวว่า “ได้แนวคิดการสร้างสรรค์ชิ้นงานจากการที่วัยรุ่นยุคใหม่เข้าถึงการพนันต่างๆ ได้ง่ายขึ้นในช่องทางออนไลน์โดยผ่านสมาร์ทโฟน จึงนำเสนอให้เห็นถึงผลเสียของการพนันทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต เช่น หมกหมุ่นครุ่นคิดตลอดเวลา อารมณ์เสียง่าย พูดจาติดๆ ขัดๆ เสียเงินเสียทรัพย์สิน ถูกผู้อื่นครอบงำได้ง่าย ฯลฯ โดยผ่านภาพในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ทุกคนได้รู้เท่าทันพนันออนไลน์”
นางสาวประภัสสร ขันปัญญา (พิม) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการพนันคือการเอาเงินหรือทรัพย์สินไปวางเดิมพันเพื่อให้ได้อะไรสักอย่างหนึ่งที่มีผลลัพธ์ไม่แน่นอน เพิ่งได้เรียนรู้ว่าตู้คีบตุ๊กตาหรือตู้ฝึกทักษะก็ถือเป็นการพนันเพราะมีการเอาเงินไปวางเดิมพัน คือหยอดเหรียญไปแล้วต้องลุ้นว่าจะคีบตุ๊กตาในตู้ได้หรือไม่ จึงเป็นการปลูกฝังนิสัยการเล่นพนันให้เราโดยไม่รู้ตัว หรือบิงโกก็ถือเป็นการพนันอย่างหนึ่งเช่นกันถ้ามีการวางเงินเดิมพัน การเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการนี้ทำให้เราได้รับความรู้และเห็นภาพชัดขึ้นว่าอะไรที่เข้าข่ายการพนัน หลังจากนี้จะช่วยกันเผยแพร่และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการพนัน เริ่มจากคนใกล้ชิดก่อนแล้วค่อยขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น โดยใช้สื่ออินโฟกราฟิกของเราเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์
นายราเมศร ศรีทับทิม หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลงาน กล่าวว่า “ผลงานของน้องๆ มีคุณภาพใกล้เคียงกันมาก ทั้งในเรื่องการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ภาษาและเนื้อหาที่สื่อสารออกไปนั้นมีความถูกต้อง ตลอดจนมีความสวยงามดึงดูดความสนใจ โดยส่วนสำคัญที่เราเน้นในการตัดสินคือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งทีมที่ชนะเลิศการประกวดทั้งสองประเภทในครั้งนี้สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ดี”
AO2472
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web