- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 02 December 2019 19:42
- Hits: 1124
อย. เปิดระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโฆษณาเกินจริง
อย. เริ่มเปิดสิทธิให้ประชาชนเข้าใช้ระบบฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณายา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ช่วยกันตรวจสอบการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัย
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มุ่งเน้น การคุ้มครองดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในด้านหนึ่งได้มีการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมามักพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตามกฎหมายการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ อาหารที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ และเครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน และผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงเลขที่รับอนุญาตโฆษณาในชิ้นงานโฆษณานั้น ๆ ด้วย
โดย อย. มีระบบฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณาเก็บข้อมูลรายละเอียดของข้อความที่ขออนุญาตและวันหมดอายุใบอนุญาต ซึ่งในระยะแรกให้สิทธิแก่ส่วนราชการและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. จึงได้เปิดให้ประชาชนเข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา โดยสามารถเข้าใช้งานระบบได้ 2 ช่องทาง คือ ช่องทางที่ 1 เข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ ของ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา” เพื่อเข้าตรวจสอบเลขอนุญาตโฆษณาเบื้องต้น ซึ่งมีรูปแบบการใช้งานคล้ายกับระบบตรวจสอบเลขอนุญาตผลิตภัณฑ์ และหากต้องการรายละเอียดเพิ่มขึ้น สามารถดูจากหน้าคำขอโฆษณา โดยใช้ช่องทางที่ 2 สร้างบัญชีผู้ใช้และยืนยันตัวบุคคลในระบบ Open ID พร้อมกับแจ้งขอสิทธิเพื่อเข้าใช้ระบบจาก อย. ผ่านเว็บไซต์ https://privus.fda.moph.go.th หัวข้อ “เจ้าหน้าที่หน่วยงานภายนอก”
ทั้งนี้ การตรวจสอบใบอนุญาตโฆษณา ต้องตรวจสอบว่า ขออนุญาตโฆษณาผ่านทางช่องทางใด ข้อความและภาพที่ขออนุญาตตรงกับที่เผยแพร่โฆษณาหรือไม่ หากพบว่าข้อมูลขออนุญาตไม่ตรงกับชิ้นงานโฆษณาที่เผยแพร่ จะถือว่าไม่ได้รับอนุญาตโฆษณา และหากพบภาพหรือข้อความโฆษณาในลักษณะโอ้อวดเกินจริง จะถือว่าโฆษณาเป็นเท็จ ซึ่ง อย. ได้มีการเฝ้าระวังตรวจสอบการโฆษณาผิดกฎหมายทางสื่อต่าง ๆ ร่วมกับเครือข่าย เช่น กสทช. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างเข้มข้น หากพบการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอเตือนผู้ประกอบการ การโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางสื่อต่าง ๆ ถือเป็นความผิด และขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ หากต้องการสอบถามเกี่ยวกับการเปิดสิทธิเข้าใช้งาน สามารถติดต่อได้ที่ 02-590-7410 และหากพบโฆษณาที่น่าสงสัย อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ E-mail : [email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
อย. เผยสถิติเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย มุ่งคุ้มครองให้ผู้บริโภคปลอดภัย
อย. เฝ้าระวัง ตรวจสอบเข้ม ผลิตภัณฑ์สุขภาพและโฆษณาผิดกฎหมาย มุ่งคุ้มครองให้ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโฆษณาเกินจริง เผยสถิติปีงบ 62 ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อต่าง ๆ พบโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย 1,570 รายการ การร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกช่องทาง รวม 1,750 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุด และได้มีการสั่งระงับการโฆษณา ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิด ทั้งเจ้าของสื่อ ผู้โฆษณา เจ้าของผลิตภัณฑ์ และพรีเซนเตอร์ จำนวน 280 คดี รวมกว่า 1.7 ล้านบาท ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,395 รายการ รวมเป็นเงินกว่า 18 ล้านบาท ย้ำ อย. จะเดินหน้าร่วมกับภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย. มีภารกิจหลักในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที พร้อมกันนี้ยังส่งเรื่องต่อไปยังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กสทช. ในการระงับ,เปรียบเทียบปรับสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ กระทรวงดีอี ระงับ/ปิดกั้นเว็บไซต์ บก.ปคบ. ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย และ สคบ. กรณีการเรียกร้องค่าเสียหาย การดำเนินธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ได้มีการเฝ้าระวังข่าวสาร และ การแจ้งเตือนจากต่างประเทศ รวมทั้งร่วมมือกับอี - มาร์เก็ตเพลสในการคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายบนหน้าเว็บไซต์ของตนด้วย
ทั้งนี้ เผยสถิติในปีงบประมาณ 2562 (1 ตุลาคม 2561 - 30 กันยายน 2562) ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 24,482 รายการ พบโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย 1,570 รายการ และ พบการร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกช่องทางของ อย. ทั้งหมด 1,750 เรื่อง โดยพบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุด 930 เรื่อง รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ยา 300 เรื่อง และ เครื่องสำอาง 257 เรื่อง โดยประเด็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุดถึง 451 เรื่อง และได้มีการสั่งระงับการโฆษณา ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิดทั้งเจ้าของสื่อ ผู้โฆษณา เจ้าของผลิตภัณฑ์ และพรีเซนเตอร์ จำนวน 280 คดีค่าปรับรวม 1,724,000 บาท ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,395 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 18,802,200 บาท
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาทางช่องทางต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ย้ำเตือนผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา ป้องกัน หรือรักษาโรคได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบการโฆษณาเกินจริงในหลายลักษณะ เช่น ลดน้ำหนักสัดส่วนได้รวดเร็ว รักษาได้สารพัดโรค เป็นยาอายุวัฒนะที่อัศจรรย์ ส่วนผลิตภัณฑ์ยา อย. ไม่อนุญาตให้จำหน่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ และมักพบการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคร้ายแรงได้หายขาดยอดเยี่ยม โดยอาจมีผู้แอบอ้างเป็นแพทย์ออกมาให้คำรับรองยืนยันว่าเป็นความจริง สำหรับเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ก็มักพบการโฆษณาว่าช่วยรักษา ฝ้า - กระ ลดสิว ทำให้หน้าขาวใสถาวร กระชับผิว ลบริ้วรอย ขยายอก เป็นต้น หากผู้บริโภคไม่แน่ใจในผลิตภัณฑ์สุขภาพสามารถสอบถามมายัง อย. ที่สายด่วน 1556 หรือตรวจสอบผลิตภัณฑ์ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือที่ www.fda.moph.go.th เพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web