- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 27 October 2019 18:01
- Hits: 1339
สธ.ดูแลสุขภาพประชาชน เน้นลดเหลื่อมล้ำ ลดแออัด ลดรอคอย ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน
กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบบริการทุกระดับ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย และลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เพิ่มขีดความสามารถ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ป้องกันเจ็บป่วย ยกระดับอาสาสมัครประจำหมู่บ้านเป็นหมอประจำบ้าน
นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีสำนักวิจัยซุปเปอร์โพล เผยผลสำรวจภาคสนาม ความต้องการประชาชนด้านสุขภาพ ร้อยละ 65.9 ว่า ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการรักษาพยาบาลประชาชน จำนวนผู้ป่วยนอก 193.2 ล้านครั้ง จำนวนผู้ป่วยใน 9.4 ล้านราย จัดทำแผนพัฒนา ระบบบริการ (Service plan) ครอบคลุมไปถึง 20 สาขาแล้ว และพัฒนาโรงพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ที่มีคลินิกหมอครอบครัวและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชน ขณะนี้มีจำนวน 1,180 แห่ง ครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคน (ร้อยละ 40 ของประชากร) และมีคลินิกหมอครอบครัวเพิ่มขึ้น เป็น 2,600 แห่ง ในระดับทุติยภูมิ โรงพยาบาลชุมชนมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาหลัก และรับดูแลผู้ป่วยส่งต่อ ระยะหลังพ้นวิกฤติ จากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในระดับตติยภูมิจะให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะยุ่งยากซับซ้อน เป็นศูนย์เชี่ยวชาญครบในทุกเขตสุขภาพ เพิ่มศักยภาพของอุปกรณ์การแพทย์ชั้นสูง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา รวมทั้งในระดับโรงพยาบาลจังหวัด
สำหรับ ในปี 2563 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงินทั้งสิ้น 280,083.31 ล้านบาท โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับ วงเงิน 139,550.29 ล้านบาท เพื่อรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และงบประมาณในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 140,533.42 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณ อย่างคุ้มค่า เพื่อให้ประชาชนสามารถ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทําให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง” โดยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย จะได้นำงบประมาณไปพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องให้การรักษา
นอกจากนี้ มีแผนที่จะเร่งเพิ่มศักยภาพของ หน่วยบริการทุกระดับ เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลอย่างทั่วถึง เพื่อลดความ เหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดรอคอย ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ด้วยสมาร์ท ฮอสปิตัล ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ อาทิ ระบบการแพทย์ทางไกล ระบบคิว ระบบ ส่งต่อ เชื่อมโยงข้อมูลบริการสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ประชาชนในการเดินทางไปพบแพทย์
สำหรับ โครงการที่เร่งรัด เพิ่มเพิ่มความสะดวกประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบ หืด และจิตเวช ด้วยโครงการรับยาใกล้บ้าน 'ร้านยาชุมชนอบอุ่น' ซึ่งในปี 2563 ตั้งเป้าหมาย 50 โรงพยาบาล 500 ร้านยา และยกระดับความรู้ อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอประจำบ้าน ดูแลสุขภาพในชุมชน สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ส่งเสริมการออกกําลังกาย และโภชนาการที่ถูกสุขอนามัย
สำหรับ การบริการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคสำหรับกลุ่มเป้าหมาย 48.26 ล้านคน โดยได้จัดวัคซีน สำหรับป้องกันโรคขั้นพื้นฐาน ตามแผนการให้วัคซีนของประเทศ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกกลุ่มอายุ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก ผู้พิการทางสมอง และจัดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สำหรับกลุ่มเป้าหมายนักเรียนหญิงไทย รวมทั้งวัคซีนอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า และร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพชีวิตระดับอำเภอ บูรณาการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ ข้อมูลของประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมร้อยละ 99.88 (ข้อมูล ณ กันยายน 2562)
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน