WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

01 CFA8รานยาชมชน

สปสช.ชู'ร้านยาชุมชนอบอุ่น'ขานรับนโยบาย 'รับยาที่ร้านยา'

    สปสช.ขานรับนโยบาย รมว.สธ.เพิ่มทางเลือกประชาชนรับยาได้ที่ 'ร้านขายยา' ลดความแออัด รพ. 'หมอศักดิ์ชัย' ชี้ สอดคล้องกับในต่างประเทศ พร้อมยกตัวอย่าง ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมป้องกันโรคแล้ว ยืนยัน ระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้สร้างภาระงบประมาณ-ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ WHO กำหนด เชื่อในอนาคตเข้า-ออก โรงพยาบาล จบได้ใน 1 ชั่วโมง

    นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนสามารถรับยาได้ทั้งห้องยาที่โรงพยาบาลและร้านขายยาใกล้บ้าน ตอนหนึ่งว่า วัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวคือการสร้างทางเลือกให้กับประชาชนในการรับยาได้ทั้งที่โรงพยาบาลและร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งการรับยาที่ร้านยานั้นก็เป็นวิธีที่บางประเทศใช้อยู่ โดยโรงพยาบาลจะไม่จ่ายยาแต่จะให้ร้านยาจ่ายยาตามใบสั่งยาของแพทย์แทน 100% ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดความแออัดของสถานพยาบาลได้

   นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าประชาชนที่เจ็บป่วย 100 คน จะมีถึง 20 คนที่เลือกไปร้านขายยาเป็นลำดับแรก ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตัวเองและมีความรอบรู้เรื่องยามากขึ้น จึงมีการเปิดโครงการที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยาขึ้นมา โดยนโยบายที่ รมว.สธ. มอบหมายนั้นไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น แต่จะครอบคลุมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีการทดลองให้ร้านยาในกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 50 แห่ง ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านส่งเสริมป้องกันโรคแล้ว

     “ร้านยาเหล่านั้นหรือที่เรียกว่าร้านยาชุมชนอบอุ่นจะมีบทบาทเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค กล่าวคือประชาชนสามารถไปใช้บริการการส่งเสริมป้องกันโรคต่างๆ ได้ที่ร้านยา จากนั้น สปสช.จะมีระบบตามจ่ายให้กับร้านยาเอง ซึ่งกรณีของการส่งเสริมป้องกันโรคนั้น สปสช.ดูแลทั้งผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการราชการด้วยเช่นกัน” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว และว่าร้านยาชุมชนอบอุ่นในเฟสต่อไปจะให้ความสำคัญเรื่องยาเหลือใช้ตามบ้านเรือน ซึ่งมีมูลค่ามากถึงปีละ 2,500 ล้านบาท

        เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เรียกได้ว่าติดอันดับ 1 ใน 10 และมีหลายประเทศยกย่องให้เป็นต้นแบบ ขณะเดียวกันปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการให้บริการ เช่น ในหลายโรงพยาบาลมีการทำระบบนัดหมายล่วงหน้า นัดหมายตามช่วงเวลา ตลอดจนการใช้ระบบคิวออนไลน์ ฉะนั้นคิดว่านโยบายของ รมว.สธ. ที่ต้องการให้ร่นระยะเวลาตั้งแต่เดินทางเข้าโรงพยาบาลจนออกจากโรงพยาบาลให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมงนั้น สามารถเป็นจริงได้ แต่จำเป็นต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป

      สำหรับ สถานการณ์งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ 3 กองทุน ปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 5% ของจีดีพี และหากดูเฉพาะกองทุนบัตรทองที่ดูแลคน 50 ล้านคน พบว่าใช้เพียง 2% กว่าๆ เท่านั้น

     “ถามว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ ก็ต้องดูว่างบประมาณที่ใช้อยู่ใน 3 กองทุนในขณะนี้อยู่ที่ 15% ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ จะอยู่ที่ 20%”นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

       อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เกิดขึ้นกับประชาชน การใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์จึงต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นการซื้อยาหรืออุปกรณ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีการจัดซื้อรวมกันในปริมาณที่มากเพื่อที่จะต่อรองราคาให้ถูกลง ตัวอย่างเช่น การซื้อสายสวนหัวใจหรือสเตนท์ ซึ่งมีราคาเส้นละ 7 หมื่นบาท ปัจจุบัน สปสช.ซื้อได้ในราคาเส้นละ1 หมื่นบาทเท่านัั้น

01 CFA8รานยา

 

เตรียมให้ร้านยาคุณภาพเป็นเครือข่ายบริการจ่ายยาผู้ป่วยใกล้บ้าน ลดแออัด เริ่ม 1 ต.ค.62 นี้

    รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้ร้านยาคุณภาพเครือข่ายบริการจ่ายยาให้ผู้ป่วยใกล้บ้าน ลดการเดินทาง ลดความแออัดโรงพยาบาล ผู้ป่วยได้ยามีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย ไม่ต้องรอนาน ได้รับคำแนะนำการใช้ยาอย่างเหมาะสมตามใบสั่งแพทย์โดยเภสัชกร เป็นทางเลือกลดความแออัด เริ่มดำเนินการ 1 ตุลาคม 2562

    เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักตรวจราชการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้างานเภสัชกรรมโรงพยาบาล/สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการ ร้านยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และคณะเภสัชศาสตร์ ร่วมประชุมกว่า 300 คน

   นพ.สุขุม กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขลดความแออัดของโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกบริการประชาชน อาทิ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ คลินิกหมอครอบครัว เปิดคลินิกเฉพาะทางนอกเวลาราชการ (SMC) อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความแออัดคือ ให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยารับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ได้มาตรฐาน GPP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในระยะแรกจะดำเนินการพัฒนาระบบบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ร้านขายยาร่วมเป็นเครือข่ายบริการจำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ จ่ายยาให้กับผู้ป่วยโดยไม่ต้องรอรับยาที่โรงพยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลน้อยลง ลดภาระการเดินทาง และความแออัดของโรงพยาบาล รวมถึงได้รับคำแนะนำการใช้ยาอย่างตามใบสั่งแพทย์โดยเภสัชกร

      โดยจะเริ่มในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่มีความพร้อมในเดือนตุลาคม 2562 ช่วงแรกจะเน้นในผู้ป่วย 4 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืด ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา และลดการครอบครองยาเกินความจำเป็น

      นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า สำหรับเงื่อนไขการรับยาต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วยที่จะรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน ซึ่งเป็นร้านยาคุณภาพ/ ร้านยาที่ผ่านมาตรฐาน GPP และมีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง โดยจะได้รับยาชนิดเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมที่รับยาอยู่ และผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ เพิ่มขึ้น โรงพยาบาลและร้านขายยาที่เป็นเครือข่ายสามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบ คือ โรงพยาบาลจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านขายยา โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา หรือร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาร่วมกันต่อไป

      “การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ มีหมอครอบครัวประจำบ้าน การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนเลือกสถานบริการที่เหมาะสมกับลักษณะการเจ็บป่วย รวมทั้งการเชื่อมโยงร้านขายยาใกล้บ้าน จะช่วยเพิ่มความสะดวก เป็นทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว

      ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ วันนี้ จะมีการรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปพัฒนาระบบเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับยาตามใบสั่งแพทย์ที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้านภายหลังจากที่ได้รับการตรวจรักษาจากคุณหมอที่โรงพยาบาลแล้ว ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการแบ่งเป็น 3 ทางเลือก คือ 1. คือโรงพยาบาลเป็นผู้จัดยาและส่งยาไปที่ร้านยาคุณภาพเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย 2. นำยาไปสำรองไว้ที่ร้านยาคุณภาพ ให้เภสัชกรร้านยาเป็นผู้จัดยาตามใบสั่งแพทย์ เสมือนเป็นห้องจ่ายยาย่อยของ รพ. และ 3. ให้ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยาและสำรองยาในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเอง โดยโรงพยาบาลเป็นผู้ตามจ่ายค่ายา โดยในการประชุมครั้งนี้จะช่วยกันดูความเป็นไปได้ของทั้ง 3 ทางเลือก สำหรับในส่วนของค่าบริหารจัดการยาไปยังร้านยานั้น สปสช.จะมีการจัดสรรงบเพื่อดูแลเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับโรงพยาบาลและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!