WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

01 CFABaHonestdocs

จับแล้ว Honestdocs ขายยาออนไลน์

      อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. และ บก.ปอท. เข้าทลายเครือข่าย Call center แอบอ้างขายยาและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านเว็บไซต์ https://www.honestdocs.co/ และสื่อสังคมออนไลน์ https://www.facebook.com/HonestDocs/ และ Line @HonestDocs เตรียมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และพร้อมขยายผลหากพบว่ามีร้านขายยาเกี่ยวข้อง

      นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก 4.บก.ปคบ.) นำทีมโดย พลตำรวจตรี ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค พร้อมด้วย พันตำรวจเอกวินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค พันตำรวจเอกชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภคและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำโดย พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พันตำรวจเอกอมรชัย ลีลาชจรจิตร ผู้กำกับการสนับสนุนฯ บก.ปอท. และ นายชาตรี พินโย นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดย

       นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค และเครือข่ายจำนวนมาก พบโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านเว็บไซต์ https://www.honestdocs.co/ และยังพบความเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ https://www.facebook.com/HonestDocs/ และLine@HonestDocs

       ซึ่งในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 อย.ร่วมกับ บก.ปคบ จับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดในข้อหาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตไปแล้ว จากนั้นได้ทำการขยายผลจนทำให้ทราบว่า บริษัท บิมินิ จำกัด เลขที่ตั้ง 1126/2 อาคารวานิช 2 ห้องเลขที่ 2802 ชั้นที่ 28 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งมีชื่อคณะกรรมการ 2 คน เป็นคนไทย 1 คน และเป็นชาวต่างชาติ 1 คน ประเภทธุรกิจจดทะเบียนการจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (ยกเว้นซอฟต์แวร์เกมสำเร็จรูป)

        ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการสืบสวน ได้ระบุช่องทางการซื้อสินค้าทาง Line@HonestDocs ซึ่งผู้ดูแลแจ้งช่องทางชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารของคณะกรรมการบริษัทดังกล่าว เมื่อชำระเงินแล้ว จะส่งยาทางไปรษณีย์ให้ลูกค้าต่อไป

      อย. และ บก.ปคบ จึงได้เข้าตรวจสอบบริษัท บิมินิ จำกัด พบเป็นเครือข่าย Call center เป็นสถานที่ให้คำปรึกษา โฆษณาขายยา อาหาร เครื่องสำอาง พร้อมเปิดช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะ กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), กลุ่มยาโรคจิตเวช กลุ่มยาความดันกลุ่มยาโรคเบาหวาน กลุ่มยาคุมกำเนิด กลุ่มยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งหมดเป็นการขายยาผ่านทางช่องทางเว็บไซต์ https://www.honestdocs.co/ https://www.facebook.com/HonestDocs/ และ Line@HonestDocs จากการตรวจสอบที่ตั้งโดเมน พบว่าอยู่ที่รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ทาง อย.จะดำเนินการประสานแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ทำการปิดเว็บไซต์ทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเข้าถึงเว็บไซต์นั้นได้อีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติต่างๆ ดังนี้

 

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

โฆษณาขายยาโดยทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม หรือ ยาคุมกำเนิด และ โฆษณาขายยาแสดงสรรพคุณยาอันตราย หรือ ยาควบคุมพิเศษ มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

 

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

โฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

         โฆษณาเครื่องสำอาง ซึ่งแสดงข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

       ทางด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ขอย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายในการสั่งซื้อของผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะกรณีผลิตภัณฑ์ยา

        อย. ไม่ได้อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ เพราะการซื้อยาออนไลน์มีอันตรายอย่างยิ่ง ยาบางกลุ่ม เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หากผู้บริโภคซื้อมารับประทานเอง อาจได้กลุ่มยาไม่ตรงกับเชื้อที่ได้รับและหากรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ ซึ่งหากผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ยาปฏิชีวนะ เช่น กลุ่มเพนิซิลลิน (เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน ไดคล็อกซาซิลลิน) ซึ่งอาการแพ้ยาอาจมีอาการตั้งแต่ลมพิษ ผื่นคัน ใจสั่น แน่นหน้าอก ไปจนถึงหอบตัวเขียว ความดันต่ำ เป็นลม หรือเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

     นอกจากนี้ กลุ่มยาโรคจิตเวช กลุ่มยาโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวานการใช้ยาต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะจะได้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง หรือซื้อผ่านทางร้านยาคุณภาพที่มีเภสัชกรประจำร้านและมีใบอนุญาตเท่านั้น เพราะผู้ใช้ยาไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นยาจริงหรือไม่ ได้มาตรฐาน หรือมีความปลอดภัยหรือไม่ เช่น ยาบางตัวอาจเกิดการส่งผลต่อยาอีกตัว (drug interaction) ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกร เพราะหากซื้อยารับประทานเองอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนกรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณลดอ้วน เสริมสมรรถภาพทางเพศที่ผ่านมามักตรวจพบสารอันตราย หรือมีการผสมยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน ออริสแตท บิซาโคดิล และเฟนฟลูรามีน ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่อันตรายอาจถึงแก่ชีวิตดังที่ปรากฏเป็นข่าว ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หากอวดอ้างสรรพคุณเกินกว่าความเป็นเครื่องสำอาง

เช่น ยับยั้งการก่อตัวของเชื้อโรค ปกป้องการติดเชื้อโดยจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เร่งผลัดเซลล์ผิว ลดการระคายเคือง เป็นต้น ถือเป็นข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินจริง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับภายนอกร่างกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดและความสวยงามเท่านั้น โดยไม่ได้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกาย ฉะนั้นการซื้อผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาบริโภคผ่านสื่อออนไลน์ จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเพียงอย่างเดียว

         รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. เตรียมขยายผลหากพบร้านขายยาที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ย้ำเตือนว่าการขายยา อย.ไม่ได้อนุญาตให้มีการขายผ่านทางสื่อออนไลน์ แนะผู้บริโภค

       อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ ยา และเสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงทางสื่อออนไลน์ และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อได้ที่ Application “ตรวจเลข อย.” ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่ช่วยเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ อย. ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างใกล้ชิด หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

3

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!