- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 19 August 2018 17:53
- Hits: 2638
กลุ่มสนับสนุนโรงพยาบาลเน้นเพิ่มประสิทธิภาพรับเทรนด์สุขภาพโต
กลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ห้องปฏิบัติการ ร้านขายยา ปั้นรายได้โต รับเทรนด์ผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย
นายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (บีดีเอ็มเอส) เปิดเผยถึง ภาพรวมอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพของประเทศไทยยังคงมีอัตราเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์ (เมดิเคิล ฮับ) ชั้นนำของโลก ประกอบกับการขยายตัวของโครงสร้างประชากรสูงวัยทั่วโลก และการที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาหรือท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ทำให้โรงพยาบาล หลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนมีการขยายตัว และมีความต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดูแล เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น จึงเป็นโอกาส ของกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาลของบริษัท ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (เอ็น เฮลท์) ผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนบริการทางการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาล และ บริษัท เซฟดรัก เซ็นเตอร์ จำกัด (เซฟดรัก) ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ที่จะเติบโตในปี 2561
ทั้งนี้ เอ็น เฮลท์ ตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2561 ที่ 4,200 ล้านบาท เติบโตขึ้นราว 17% จากปี 2560 ที่ผ่านมาที่มีรายได้รวมกว่า 3,600 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาลรวมที่มูลค่า 11,000 ล้านบาท โดยบริษัทมีพอร์ทรายได้หลักจาก บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ บริการวิศวกรรมทางการแพทย์ และบริการผ้าและปราศจากเชื้อภายในโรงพยาบาล เป็นสัดส่วนลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล (B2B) 95% ลูกค้ากลุ่มผู้บริโภค (B2C) 5%
“เราสามารถทำผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งบริษัทได้เข้าไปสนับสนุนบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ อย่างเช่น ห้องปฏิบัติการได้มีจำนวนการตรวจวิเคราะห์เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการป้องกัน (Preventive Healthcare) และการตรวจวิเคราะห์เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการรักษาโรคต่างๆ รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และได้เข้าไปดูแลเครื่องมือแพทย์ในกลุ่มลูกค้าใหม่ อย่างเช่น โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี”นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง เอ็น เฮลท์ ได้พัฒนาศักยภาพการบริการสนับสนุนทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบดิจิตอลมากขึ้น รวมทั้งขยายบริการไปสู่ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคผ่านช่องทางอี-คอมเมิรซ์ ซึ่งมีบริการตรวจสุขภาพที่สามารถไปตรวจถึงที่บ้าน และมีสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมนำเข้าสินค้าที่มีความแตกต่างอย่างสินค้านวัตกรรมอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับตลาด นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบในการลงทุนเพื่อขยายสาขาไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาค อาทิ ประเทศอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ หลังจากได้เปิดสาขาไปยัง ประเทศ กัมพูชา และ เมียนมา เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่บริษัท เซฟดรัก ที่ปัจจุบันมี 150 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2561 ที่ 1,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2560 ที่มีรายได้ 975 ล้านบาท โดยได้ปรับภาพลักษณ์ของร้านค้าให้ดูทันสมัย มีสินค้าและบริการครอบคลุมตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ด้วยการนำสินค้านวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือ ที่มีความแตกต่างจากท้องตลาด สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ และมีความหลากหลายของสินค้าประเภทยาที่พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย
พร้อมกันนี้ ยังพัฒนาระบบเพื่อให้เป็นศูนย์รวมด้านสุขภาพ อย่างการพัฒนาระบบสมาชิกผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะเริ่มใช้งานเฟสแรกในเดือนตุลาคม 2561 จะทำให้ลูกค้าสามารถสะสมคะแนน สามารถดูโปรโมชั่นลดราคาต่างๆ โดยในเฟสที่ 2 จะพัฒนาระบบที่ลูกค้าสามารถดูประวัติการซื้อยาของแต่ละบุคคล ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อหรือเติมยาชนิดเดิมได้ด้วยฐานข้อมูลเดียวกันทุกสาขา นอกจากนี้ จะมีบริการให้คำปรึกษาในการตรวจสุขภาพเบื้องต้น แนะนำและนำเสนอแพ็คเกจตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับลูกค้า เพื่อเป็นการตอบโจทย์การดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย
นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มเป้าหมายของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะไม่ใช่คนป่วยเท่านั้น แต่จะเป็นคนทั่วไปที่อยากรู้ว่าสุขภาพตนเองเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่รับข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัล ดังนั้นแนวทางการสื่อสารของ เอ็น เฮลท์ และ เซฟ ดรัก คือการใช้ดิจิทัลมีเดียมากขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายและสร้างการรับรู้ว่า ทั้ง 2 บริษัทมีบริการอะไรบ้างที่สามารถตอบโจทย์เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค
BDMS เปิดเกมบุกธุรกิจสุขภาพ ส่ง N Health รุกบริการหลังบ้านงานสนับสนุน ร.พ.
By chai 362 : ชื่อเสียงของ BDMS ในวันนี้ ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศไทย แต่โรงพยาบาลในเครือ 45 แห่ง เป็นที่รู้จักและยอมรับจากชาวต่างประเทศในเอเชีย และยุโรป บินมาใช้บริการรักษาพยาบาลกันเนืองแน่น ทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ BNH สมิติเวช พญาไท หรือเปาโล
แต่โรงพยาบาล แม้เป็นส่วนสำคัญที่ทำรายได้ให้กับ BDMS ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะโรงพยาบาลถือเป็นด่านหน้าในการรับลูกค้า ยังมีด่านหลังกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล N Health ที่เป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ในวันนี้ และเป็นธุรกิจที่รับกับเทรนด์สุขภาพในอนาคต
ณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (บีดีเอ็มเอส) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพของประเทศไทยยังคงมีอัตราเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์ (เมดิเคิล ฮับ) ชั้นนำของโลก ประกอบกับการขยายตัวของโครงสร้างประชากรสูงวัยทั่วโลก และการที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาหรือท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนมีการขยายตัว และมีความต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดูแล เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น
แต่แนวโน้มของธุรกิจสุขภาพกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อเทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพดีขึ้น แนวโน้มของการรักษาคนป่วยให้หายป่วยจะลดลง กลายเป็นเทรนด์การดูแลให้ผู้คนไม่ป่วย และมีอายุที่ยืนยาวขึ้นจะเข้ามาแทนที่
จึงเป็นโอกาส ของกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล ที่ประกอบด้วย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) ผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนบริการทางการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาล และ บริษัท เซฟดรัก เซ็นเตอร์ จำกัด (เซฟดรัก) ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ที่จะเติบโตขึ้น
BDMS ก่อตั้ง N Health ขึ้นในปี พ.ศ.2544 ทำหน้าที่สนับสนุนโรงพยาบาล ยกระดับงานหลังบ้านให้มีมาตรฐานเดียวกับงานหน้าบ้าน หรือโรงพยาบาลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีสาขาทั้งในและต่างประเทศ 50 สาขา ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 2,000 คน มีรายได้หลักจาก บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ บริการวิศวกรรมทางการแพทย์ และบริการผ้าและปราศจากเชื้อภายในโรงพยาบาล โดยจากจุดเริ่มต้นเป็นการให้บริการกับโรงพยาบาลในเครือ BDMS แต่ปัจจุบันสามารถขยายการให้บริการสู่โรงพยาบาลนอกเครือ คิดเป็นสัดส่วนลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล (B2B) 95% ลูกค้ากลุ่มผู้บริโภค (B2C) 5% ทำรายได้ในปี 2560 รวม 3,632 ล้านบาท
สำหรับ ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งบริษัทได้เข้าไปสนับสนุนบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ อย่างเช่น ห้องปฏิบัติการได้มีจำนวนการตรวจวิเคราะห์เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการป้องกัน (Preventive Healthcare) และการตรวจวิเคราะห์เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการรักษาโรคต่างๆ รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และได้เข้าไปดูแลเครื่องมือแพทย์ในกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง เอ็น เฮลท์ ได้พัฒนาศักยภาพการบริการสนับสนุนทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งขยายบริการไปสู่ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคผ่านช่องทางอี-คอมเมิรซ์ ซึ่งมีบริการตรวจสุขภาพที่สามารถไปตรวจถึงที่บ้าน และมีสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมนำเข้าสินค้าที่มีความแตกต่างอย่างสินค้านวัตกรรมอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับตลาด นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบในการลงทุนเพื่อขยายสาขาไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาค อาทิ ประเทศอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ หลังจากได้เปิดสาขาไปยัง ประเทศ กัมพูชา และ เมียนมา เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของการลงทุน เอ็น เฮลท์ ได้วางแผนการลงทุน 3 ปี โดยใช้งบลงทุนปีละ 300 ล้านบาท ในการสร้างศูนย์แล็บขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ที่มีอยู่กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ก็จะมีการเปิดศูนย์เพิ่มที่ระยอง รองรับการเปิดเออีซี และที่เชียงใหม่ พร้อมกับการขยายศูนย์ปลอดเชื้อ ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ในหาดใหญ่, พัทยา และถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ก็จะมีการเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่เชียงใหม่ และฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ
“เราลงทุนสร้างศูนย์ทางการแพทย์เหล่านี้เพิ่ม เน้นให้เป็นศูนย์ที่ใช้เครื่องจักรเป็นหลัก วางระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้พร้อมที่จะรองรับบริการไปถึงลูกค้าภายนอก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์กับการก้าวสู่เมดิเคิล ฮับ ของประเทศไทย”
ทั้งนี้ เอ็น เฮลท์ ตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2561 ที่ 4,200 ล้านบาท เติบโตขึ้นราว 17% จากอุตสาหกรรมธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาลรวมที่มูลค่า 11,000 ล้านบาท
นอกเหนือธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล เอ็น เฮลท์ ยังได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกยา โดยการเข้าไปซื้อกิจการร้านขายยา เซฟดรัก จากกลุ่มเภสัชกรผู้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ.2558 โดยได้ทำการปรับภาพลักษณ์ของร้านค้าให้ดูทันสมัย มีสินค้าและบริการครอบคลุมตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ด้วยการนำสินค้านวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือ ที่มีความแตกต่างจากท้องตลาด สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ และมีความหลากหลายของสินค้าประเภทยาที่พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย ในราคาที่เหมาะสม
“เราวางเป้าหมายให้เซฟดรักเป็นมากกว่าร้านขายยา ด้วยการมีเภสัชกรคุณภาพที่สามารถแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพมากกว่าการจ่ายยา และเรายังมองเทรนด์ของเทคโนโลยี ที่จะเปิดห้องในการรักษาอาการป่วยจากคุณหมอผ่านออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีการเปิดให้บริการในหลายประเทศ เช่น จีน และหากในประเทศมีกฎหมายที่เปิดให้บริการนี้ได้ เราก็พร้อมให้บริการ เช่นเดียวกับ กฎหมายในการห้ามโรงพยาบาลจำหน่ายยา ที่จะทำให้ราคายาลดลงเป็นมาตรฐาน ก็จะเป็นโอกาสของเซฟดรัก”
ปัจจุบัน เซฟดรัก มีอยู่ 150 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ ณรงค์ฤทธิ์ วางเป้าหมายที่จะเปิดเพิ่มเป็น 200 สาขาในปีหน้า และจะเปิดสาขาเพิ่มอีกทุกปีราว 20% พร้อมกับนำเทคโนโลยี Big Data มาใช้ในการให้บริการ ด้วยการพัฒนาระบบสมาชิกผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะเริ่มใช้งานเฟสแรกในเดือนตุลาคม 2561 จะทำให้ลูกค้าสามารถสะสมคะแนน สามารถดูโปรโมชั่นลดราคาต่างๆ ขณะที่เฟสที่ 2 จะพัฒนาระบบที่ลูกค้าสามารถดูประวัติการซื้อยาของแต่ละบุคคล ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อหรือเติมยาชนิดเดิมได้ด้วยฐานข้อมูลเดียวกันทุกสาขา นอกจากนี้ จะมีบริการให้คำปรึกษาในการตรวจสุขภาพเบื้องต้น แนะนำและนำเสนอแพ็คเกจตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับลูกค้า เพื่อเป็นการตอบโจทย์การดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย
เซฟดรัก ถูกตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2561 ไว้ที่ 1,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2560 ที่มีรายได้ 975 ล้านบาท
“กลุ่มเป้าหมายของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะไม่ใช่คนป่วยเท่านั้น แต่จะเป็นคนทั่วไปที่อยากรู้ว่าสุขภาพตนเองเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่รับข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัล ดังนั้นแนวทางการสื่อสารของ เอ็น เฮลท์ และ เซฟ ดรัก คือการใช้ดิจิทัลมีเดียมากขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายและสร้างการรับรู้ว่า ทั้ง 2 บริษัทมีบริการอะไรบ้างที่สามารถตอบโจทย์เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค”ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว