- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 28 November 2017 15:57
- Hits: 3654
นักวิชาการการตลาดรั้วจามจุรี ร่วมกับนักปั้นแบรนด์ชื่อดัง ชี้ Brand Leader คือโอกาสธุรกิจไทยสู่เวทีโลก
นักวิชาการด้านการสร้างแบรนด์และการตลาด ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร แห่งคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ร่วมกับนักสร้างแบรนด์ชื่อดัง ดลชัย บุณยะรัตเวช กล่าวในงานเสวนา Insightful Branding and Marketing ซึ่งจัดขึ้นในงานเปิดตัวหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด หลักสูตรแรกของเอเชีย โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ชัดโลกธุรกิจยุคดิจิทัลเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยก้าวไกลไปเวทีโลก โดยหัวใจสำคัญคือกลยุทธ์ทางการตลาดต้องควบคู่กับการสร้างแบรนด์ ซึ่งหากองค์กรธุรกิจไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพความสามารถเป็น Brand Leader ได้ ก็จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่า
ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด และที่ปรึกษาหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของอินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้การทำตลาดต่างประเทศเป็นเรื่องง่าย ถึงขนาดที่ว่าแม้ธุรกิจขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอีเองก็สามารถขายสินค้าไปต่างประเทศได้ จากเดิมที่เป็นโอกาสเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ เท่านั้น กระนั้นโอกาสนี้จะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจไทยได้ ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ควบคู่กับการทำการตลาด
“ที่ผ่านมาประเทศเราไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ ก็เพราะเราขายสินค้า แล้วเอาเงินที่ได้จากการขายไปซื้อแบรนด์ วันนี้ถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมาปรับวิธีคิดใหม่ เราต้องสร้างคนของเราให้มีวิธีคิดเป็น Brand Leader ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงทำให้เราหลุดพ้นจากความยากจน แต่หมายถึงการได้คว้าโอกาสจากเทคโนโลยีในวันนี้มาสร้างความได้เปรียบให้กับเราได้เต็มที่ แบรนด์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกว่าการทำตลาด เป็นกลยุทธ์ทางความคิดที่ตกผลึกแล้ว เมื่อสร้างแบรนด์สำเร็จ ธุรกิจจึงมีมูลค่ามหาศาล กระนั้นคนที่จะสร้างแบรนด์ได้ จะต้องมีความรู้ทางด้านการตลาดด้วย ดังนั้น การสร้างแบรนด์ และการตลาดจะต้องไปด้วยกัน และนี่คือเคล็ดลับที่จะทำให้องค์กรธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”
ผศ.ดร.วิเลิศ กล่าวอีกว่าแม้หลายปีที่ผ่านมา การสร้างแบรนด์จะถูกพูดถึงมาก และหลายองค์กรทั้งเล็ก และใหญ่มีความตื่นตัวในการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ หากแต่ความเข้าใจเรื่องการสร้างแบรนด์ ยังเป็นความเข้าใจที่ผิดคิดว่าการสร้างแบรนด์ คือการสร้างโลโก้ และคิดชื่อแบรนด์ออกมาเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การสร้างแบรนด์ยังมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งต้องอาศัยวิธีคิด และมุมมองที่ลึกและกว้าง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทางคณะบัญชีฯ จุฬาฯ เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาดขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของเอเชีย
ทางด้าน ดลชัย บุณยะรัตเวช ประธาน บริษัท เดนท์สุ วัน (กรุงเทพฯ) จำกัด นักสร้างแบรนด์มือหนึ่งของไทยกล่าวว่าแบรนด์ดิ้งเป็นเรื่องของการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน จึงมีความสำคัญมากกว่าการตลาด เพราะหากทิศทางไม่ชัด กิจกรรมทางการตลาดทั้งหมดที่ทำมา จะขาดพลังในการเชื่อมโยง และขาดความต่อเนื่องจนไม่สามารถนำไปสู่ผลสำเร็จได้
“พูดให้ชัดก็คือ คนที่เก่งมาร์เก็ตติ้ง คือคนที่ปฏิบัติเก่ง แต่แบรนด์ดิ้งไม่ใช่แค่เรื่องของการลงมือทำ แต่เป็นเรื่องของ who you are คุณต้องคิดให้ตกผลึกว่าคุณจะเป็นใคร แล้วทำทุกอย่างเพื่อให้สื่อออกมาให้ได้ว่าคุณเป็นคนๆ นั้นจริงๆ การตลาดนับจากนี้ไป จะทำแค่ลดแลกแจกแถม เหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว แต่เป็นการมองให้ลึกถึงความต้องการของลูกค้า และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการ แล้วสื่อสารแบรนด์ออกไป โดยจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทั้งหมดที่คุณทำไปถึง insight ของลูกค้า”
ดลชัยบอกว่า องค์ความรู้เรื่องการสร้างแบรนด์ มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ หากแต่อดีตที่ผ่านมาไม่มีสถาบันการศึกษาใดเปิดสอนอย่างจริงจัง การเรียนรู้ส่วนใหญ่จึงได้จากประสบการณ์จริง ซึ่งก่อนที่เขาจะมาเป็นนักสร้างแบรนด์มืออาชีพอย่างทุกวันนี้ เขาเองก็ต้องอาศัยครูพักลักจำจากการทำงานร่วมกับมืออาชีพระดับโลก จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ทางคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ได้เปิดหลักสูตรใหม่ เป็นหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด ซึ่งเขาเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับธุรกิจของไทยให้ก้าวไกลไปสู่เวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ