- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 11 August 2017 00:02
- Hits: 6691
หนุนเด็กไทยสร้างนวัตกรรมด้วยสเต็มศึกษา
สสวท. ประกวดโครงงานสะเต็มศึกษา รอบชิงชนะเลิศ เสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม
รศ.ดร.สัญญา มิตรเอม รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่ สสวท. ได้คัดเลือกโครงงานดีเด่นสะเต็มศึกษาของนักเรียนซึ่งปีนี้จัดเป็นปีแรกสำหรับการประกวดโครงงานสะเต็มศึกษา 3 ระดับชั้น ได้แก่ ชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อคัดเลือกโครงงานที่เหมาะสมให้เป็นตัวอย่างในการจัดทำโครงงานสะเต็มศึกษาให้แก่โรงเรียนอื่นที่สนใจ และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหาในสถานการณ์จริ โดยมีโครงงานสะเต็มศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก ได้แก่ โครงงานสะเต็มศึกษา ระดับประถมศึกษา จำนวน 3 โครงงาน โครงงานสะเต็มศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 6 โครงงาน และโครงงานสะเต็มศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 6 โครงงาน เข้าสู่การตัดสินโครงงานสะเต็มศึกษา รอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมรอแยลเบญจา สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สสวท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหา โดยได้ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM Education) ให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ที่บูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม และคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งเน้นการนำความรู้และทักษะไปแก้ปัญหาในชีวิตจริงและการประกอบอาชีพในอนาคต โดยกิจกรรมหนึ่งของการส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาคือการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานที่มุ่งแก้ไขปัญหาที่พบเห็นในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน
“โครงงานสะเต็มศึกษาส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมมาช่วยในการแก้ปัญหา โดยใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่มีอยู่ โดยผลที่ได้จากการแก้ปัญหาจะเป็นได้ทั้งชิ้นงานหรือวิธีการ ซึ่งกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม ประกอบด้วยขั้นตอนหลักได้แก่ การระบุปัญหา รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ออกแบบวิธีการ วางแผนและดำเนินการ ทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไข แล้วนำเสนอผลงาน ผู้เรียนที่ได้รับประสบการณ์ในการทำโครงงานตามแนวทางสะเต็มศึกษาจะได้พัฒนาทั้งความรู้และทักษะกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศต่อไป”รองผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว
ผลการตัดสินในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นปีแรก แต่ละโครงงานจึงยังไม่สมบูรณ์พร้อม ทำให้ไม่มีโครงงานใดได้รับรางวัลชนะเลิศ สำหรับผลการตัดสินระดับประถมศึกษา รองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นโครงงาน ไม้ซ่าส์ล่าขยะของโรงเรียนอนุบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี รองชนะเลิศอันดับ 2 โครงงาน ซุปเปอร์ถังขยะ โรงเรียนวัดเดิมเจ้า(อรรถประชานุเคราะห์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลชมเชยเป็นโครงงาน pencil light sensor ของโรงเรียนบ้านหนองหญ้าวัว จังหวัดบุรีรัมย์
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นโครงงาน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เยื่อไมยราบยักษ์ต่อการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ของโรงเรียนเซนต์นิโกลาส จังหวัดพิษณุโลก รางวัลชมเชยประกอบด้วย โครงงานเปลี่ยนสวะให้เป็นดิน ของโรงเรียนวัดดอนหวาย(นครรัฐประสาท) จังหวัดนครปฐม โครงงานอัศจรรย์และศิลป์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดินแดนใต้ โรงเรียนควนเนียงวิทยา จังหวัดสงขลา โครงงานระบบป้องกันการโจรกรรมรถจักรยานยนต์อัตโนมัติ โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โครงงานระบบเกษตรอัจฉริยะ โรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และโครงงานหมาล่า(ใบไม้) โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โครงงานแผนกระตุ้นการสร้างพรอพอลิสของชันโรงพัฒนาจากการศึกษาพฤติกรรมการซ่อมรังของโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย รองชนะเลิศอันดับ 2 โครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลชมเชยประกอบด้วย โครงงานการประยุกต์ชีวมวลธูปฤาษีในการผลิตถ่านอัดแท่งเพื่อทดแทนการใช้ไม้จากธรรมชาติและลดแก๊สพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ โรงเรียนสารคามพิทยา จังหวัดมหาสารคาม โครงงานการพัฒนานวัตกรรมการผลิตสารให้พลังงานจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จังหวัดกรุงเทพมหานคร โครงงานเครื่องดูแลพืช 4.0 โงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี และ โครงงานผลิตภัณฑ์คอมโพสิตนาโนจากใยกล้วยและยางพารา โรงเรียนมาบอำมฤตวิทยา จังหวัดชุมพร