- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 17 May 2017 07:03
- Hits: 3015
สมาคมนิสิตเก่าจุฬา จับมือศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการจุฬาฯเพื่อความเป็นเลิศของไทย ( CUTE ) พร้อมให้การสนับสนุนเงินลงทุน คำแนะนำกับผู้ประกอบการธุรกิจ สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม
ครั้งแรกของการผนึกกำลังของนิสิตเก่าจุฬาฯ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆอาสาเป็นพี่เลี้ยงและผู้ร่วมลงทุน เสริมศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ สตาร์ทอัพ จุฬาฯมีเป้าหมายที่จะสนับสนุน และพัฒนานวัตกรรม โดยสร้างการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และความร่วมมือ เป็นศูนย์รวมนวัตกรรม ผลงานทางวิชาการ งานวิจัย ที่พร้อมต่อยอด ช่วยเหลือสังคมไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) กล่าวว่า เนื่องในวาระ 100 ปี ของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีบทบาต่อการพัฒนาสังคมไทยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) โดยความร่วมมือกับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ได้จัดตั้งโครงการจุฬาฯ เพื่อความเป็นเลิศของไทยหรือ Chulalongkorn University for Thailand Excellence (CUTE)
ในปัจจุบันนวัตกรรมเป็นหัวใจของการพัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ความท้าทายคือต่อยอดจากนวัตกรรม (Innovation) เป็นธุรกิจต้องมี Eco-system ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ โครงการจุฬาฯ เพื่อความเป็นเลิศของไทย หรือ Chulalongkorn University for Thailand Excellence (CUTE) เป็นตัวอย่างอันดีที่แสงถึงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนเพื่อสร้าง Innovation Eco-system และเป็นโครงการที่ระดมพลังนิสิตเก่าที่มีประสบการณ์และศักยภาพ มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ให้ start-up พัฒนาศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้จนประสบความสำเร็จ
"ผมขอเรียนเชิญพี่น้องชาวจุฬาฯ ร่วมกันสมัครเป็นพี่เลี้ยง (mentor) เพื่อแบ่งปัน และส่งต่อความรู้, ประสบการณ์ที่ตนเองเชี่ยวชาญทั้งในด้านธุรกิจ การจัดการ ตลาด เงินทุน ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและคนรุ่นใหม่"
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน พัฒนานวัตกรรม โดยสร้างการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และความร่วมมือ เป็นศูนย์รวมนวัตกรรม ผลงานทางวิชาการ งานวิจัย ที่พร้อมต่อยอดสามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย
“ผมขอแสดงความยินดี ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้ริเริ่มโครงการ CUTE ที่มาจากความร่วมมือ และการเป็นผู้ให้ของนิสิตเก่าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ได้อาสาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งความร่วมมือของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( CU Innovation Hub) และภาคีเครือข่าย จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบธุรกิจไทย และสตาร์ทอัพ ที่มีนวัตกรรมสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก อีกทั้งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานโครงการจุฬาฯเพื่อความเป็นเลิศของไทย หรือ Chulalongkorn University for Thailand Excellence (CUTE) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ CUTE จะคัดกรองบริษัทของผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นผลงานนวัตกรรมให้ปฎิบัติได้จริงในเชิงธุรกิจ และติดปีกให้ธุรกิจของไทยสามารถเติบโต และยิ่งใหญ่ในภูมิภาคและระดับโลก
ทั้งนี้ โครงการ CUTE จะเปิดโอกาสให้เจ้าของนวัตกรรมมานำเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนด้านการเงิน รวมทั้งคำแนะนำด้านต่างๆที่จำเป็นกับธุรกิจ โดยพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเครือข่าย ที่มีความพร้อมสนับสนุนให้กิจการสามารถที่จะขยายธุรกิจ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ ผู้ประกอบการธุรกิจ และสตาร์ทอัพ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ CUTE กรุณาส่งข้อมูลมาที่ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย( CUI ) สามารถสอบถามรายละเอียด และสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.cuaa.chula.ac.th อีเมล์ : [email protected] Facebook : CUTE
เอกชนไทย-อังกฤษจับมือหนุนไทยแลนด์ 4.0 ตั้งคณะทำงานผลักดันการค้าการลงทุนสองประเทศ
แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อประสิทธิภาพดำเนินการ ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโอกาสในการลงทุน ด้านการอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ และด้านส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ มั่นใจการเมืองอังกฤษเปลี่ยนแปลงหลังเลือกตั้งใหม่ 8 มิถุนายน 2560 ไม่กระทบความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร ฝ่ายไทย เปิดเผยว่า ผู้นำภาคธุรกิจฝ่ายไทยและอังกฤษได้มีการประชุมหารือความร่วมมือ ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 24-25 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่สอง ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2559 โดยในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนรัฐบาลฝ่ายอังกฤษคือ นายมาร์ค การ์นิเยร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้ง นายไบรอัน เดวิทสัน เอกอัคราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย และผู้แทนฝ่ายไทยโดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงข้อมูล Thailand 4.0 ให้นักลงทุนอังกฤษ พร้อมทั้ง นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เป็นสักขีพยาน รวมถึงนักธุรกิจสองฝ่ายเข้าร่วมประชุมกันกว่า 65 คน
สำหรับ ผลการประชุมนั้นมีผลให้เกิดความก้าวหน้าด้านการผลักดันการลงทุนระหว่างกัน โดยสภาผู้นำธุรกิจฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยสมาชิกสามารถเป็นสมาชิกได้มากกว่า หนึ่งคณะทำงาน โดยกลุ่มต่างๆประกอบด้วย
1) คณะทำงานด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโอกาสในการลงทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการสื่อสารกับนักลงทุนในเรื่อง Thailand 4.0 การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) และการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างเวทีสำหรับนักลงทุนเพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล และประสานงานได้โดยตรงกับหน่วยงานของฝ่ายรัฐบาลไทย ทั้งนี้มีบริษัท โรลส์ รอยซ์ (Rolls Royce) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTT Global Chemical Plc) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
2) คณะทำงานด้านการอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเน้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความต้องการของนักธุรกิจ และนักลงทุนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในด้านการขอใบอนุญาตในการทำงานในประเทศไทย ซึ่งควรจะเริ่มดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานจากสถานทูตไทยในประเทศอังกฤษก่อนเดินทางมาประเทศไทย ในขณะเดียวกันหัวข้อการสนทนาเรื่องการขอใบอนุญาตในการทำงานประเทศอังกฤษก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ โดยนักธุรกิจฝ่ายไทยยังได้มีโอกาสพูดคุยโดยตรงกับรัฐบาลเพื่อชี้แจงปัญหาด้านแรงงานที่เกิดขึ้น และความกังวลใจของนักลงทุนหลังจากที่ประเทศอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งนี้หัวหน้าคณะทำงานคือ สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย (British Chamber of Commerce) และ สภาหอการค้าไทย
3) คณะทำงานด้านส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว และหาโอกาสเพิ่มเติมให้เกิดการค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งเรื่องโควตาการส่งออกเนื้อสัตว์ไปยังประเทศอังกฤษอีกด้วย โดยผู้นำคณะทำงานนี้ได้แก่ เทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) และธนาคารกรุงเทพ
นายเทวินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดความร่วมมือกันในหลายๆ โครงการ อาทิการตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง ณ สนามบินอู่ตะเภา หรือโครงการตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเครื่องยนต์ ของ โรลส์ รอยซ์ (Rolls Royce) ร่วมกับบริษัทการบินไทย เป็นต้น
นอกจากนั้น แล้วคณะผู้แทนภาครัฐบาล และภาคธุรกิจได้รับเกียรติจาก ดร. เลียม ฟอกซ์ (Dr. Liam Fox) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ (Secretary of State for International Trade) เพื่อรับฟังรายงานผลการดำเนินงานของสภานักธุรกิจฯ ทั้งนี้รัฐบาลอังกฤษเองกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง โดยจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 8 มิถุนายน 2560 อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป และอังกฤษเองก็จะให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียมากขึ้นอีกด้วย การดำเนินการของสภาผู้นำธุรกิจฯ นี้จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ และสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
ในโอกาสเดียวกันนี้บริษัท เทสโก้ (Tesco) ได้จัดงานเพื่อประชาสัมพันธ์ Taste of Thailand ที่สาขา เคนซิงตั้น (Kensington) ณ กรุงลอนดอน เพื่อให้อาหารไทยได้เป็นที่รู้จัก โดยได้รับเกียรติจากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทย และเอกอัคราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรฯ รวมทั้งนักธุรกิจของฝ่ายไทย และอังกฤษเข้ามาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จจากความตั้งใจดีของทางรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน
สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรได้ก่อตั้งในปี 2559 เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือระหว่างธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ผ่านการสร้างพันธมิตร การพัฒนาธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง ของกฎระเบียบ ที่อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ระหว่างภาครัฐบาล และภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ