- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 18 December 2016 10:23
- Hits: 3661
อธิการบดี สจล. และว่าที่ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ชี้การศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยนเร่งด่วน 3 แนวทางสร้างเยาวชนเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการอ่านคิดวิเคราะห์ นำประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0
อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และว่าที่ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ย้ำการเดินหน้าประเทศไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 อาจชะงักหากไม่เร่งสร้างประชากรคุณภาพรองรับ จากผลการศึกษาของโครงการเพื่อการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ Pisa: Programme for International Student Assessment ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาสะท้อนภาพว่า นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาของไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของการวัดผลด้านการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านโดยรวม ในขณะที่เด็กในระดับมัธยมศึกษาในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และหลายประเทศในเอเชียมีผลการเรียนรวมดีกว่าไทยมาก
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า ในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งให้รับหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยปี 2560-2561 จะได้กำหนดวิสัยทัศน์และนำเสนอแนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยได้แสดงความเห็นว่า “เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ถ้าคนไทยและระบบการศึกษาไทยยังไม่พร้อมเพื่อนำประเทศเข้าสู่ความเป็น อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (Innovation Manufacturing) และที่สำคัญการพัฒนาจะต้องไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่ไว้ข้างหลังไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก จากความคาดหวังของไทยในการสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมชั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีนาโน ชีวภาพดิจิทัล โรโบติก และฟินเทค เราจะต้องกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยและคณาจารย์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและการดำเนินงาน เสริมสร้างให้คนไทยมีศักยภาพในการเรียนรู้ และมีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดการพัฒนาประเทศในทุกด้าน” กลไกผลักดันความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน ควรเน้นการสร้างคนที่มีคุณภาพ การยกระดับการศึกษาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับการบูรณาการระบบการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้สอดคล้องกันให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว เพราะกว่าเด็กๆ ที่มีคุณภาพจะก้าวสู่มหาวิทยาลัยก็อาจจะสายเสียแล้ว
“เป็นที่น่าเสียดายว่าบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศมีประมาณ 360,000 คนต่อปี แต่เลือกเข้าเรียนในสายวิทยาศาสตร์น้อยกว่าสายสังคมศาสตร์ ในขณะที่ประเทศเรายังขาดแคลนบุคลากรสายวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมาก หนึ่งในทางออกของระบบการศึกษาไทย คือ สังคมต้องช่วยสร้างค่านิยมใหม่ให้เด็กกลับมาสนใจเรียนสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น ผู้ปกครองต้องปรับทัศนคติให้ลูกเลือกเรียนตามความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้บัณฑิตจำนวนมากจบออกมาได้ประกอบวิชาชีพตามที่ได้เล่าเรียนมา ลดความสูญเสียด้านการศึกษาที่มีการลงทุนมหาศาล เด็กของเราต้องเพิ่มการเรียนรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการรักการอ่าน คิด วิเคราะห์ เป็นพื้นฐานสำคัญให้มีความพร้อมและศักยภาพในการสร้างสรรค์ ประกอบอาชีพและการใช้ชีวิต เพื่อให้เราพึ่งพาตัวเองได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์กล่าว
สำหรับ ทางออกที่ 2 ของระบบการศึกษาไทย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์เน้นว่า เราต้องสร้างนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ระบบการศึกษาทั้งหมดควรต้องปรับโดยเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงส่งเสริมให้มีหลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยมากขึ้นให้เยาวชนไทยสามารถเข้าถึงการเรียนภาคภาษาอังกฤษภายในประเทศได้ง่าย สจล.เองก็ได้เริ่มพัฒนาต้นแบบและทางเลือกการศึกษานานาชาติที่มีมาตรฐานสูงทัดเทียมต่างประเทศด้วยการเปิดโรงเรียนนานาชาติพระจอมเกล้าที่จะเตรียมเด็กตัวตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้เป็นผู้นำและนักสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ใช้นวัตกรรม รวมถึงการเปิดวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ สจล. ที่จะทำให้ประเทศไทยมีแพทย์นักวิจัยนวัตกรรมที่สามารถร่วมสร้างสรรค์ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ขึ้นมาใช้เองลดการพึ่งพาต่างประเทศ
เรายังมองเห็นทิศทางที่ดีของประเทศ คือ แนวโน้มที่มีคนรุ่นใหม่อยากเป็นเอสเอ็มอี หรือนักธุรกิจ Start-up โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพิ่มขึ้น ระบบการศึกษาต้องเสริมภูมิความรู้และประคับประคองช่วยเสริมทักษะให้คนรุ่นใหม่มากกว่านี้ เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุที่ต้องดูแลมากขึ้น ความหวังของประเทศจึงต้องฝากไว้กับคนในอนาคต สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อให้เยาวชนและคนไทยต้องได้เรียนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรามีการพูดถึงโลกเราใช้ อินเตอร์เน็ตสำหรับสรรพสิ่ง (IOT : Internet of Things) เปลี่ยนผ่านจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่สังคมอัจฉริยะ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้การสื่อสารส่วนบุคคลและในธุรกิจแบบมัลติมีเดียเป็นแบบเรียลไทม์ เราควบคุมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในบ้านเรือน การสื่อสารในที่ทำงาน จัดการกระบวนการผลิต และการค้าขายออนไลน์ที่หลากหลาย แต่โลกหมุนเร็วเกินคาด ในปี 2560 ที่จะมาถึงนี้ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเปลี่ยนอย่างฉับพลัน (Disruptive Changes) ก้าวล้ำไปสู่ยุค อินเตอร์เน็ตคือทุกสิ่ง (The Internet of Everything) เราจะใช้แอพพลิเคชั่นเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นบนโทรศัพท์มือถือที่ราคาไม่แพงสั่งการหรือสื่อสารง่ายยิ่งขึ้น จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะนับร้อยนับพันชนิดที่ช่วยให้เรานั่งทำงานที่บ้านได้หลากหลาย มีระบบความปลอดภัยควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า มีรถยนต์อัจฉริยะและเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์ และคุณภาพชีวิตสุดล้ำอีกมากมาย”
ทางออกที่ 3 สร้างความร่วมมือในเชิงบวกและสื่อสารความกระตือรือร้นการศึกษาทางด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ โดยทั้งนักศึกษา รูปแบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจเอกชน ต้องมีทัศนคติที่ตรงกัน ร่วมกันพัฒนาความสามารถและทักษะในการเรียนรู้ เราจะต้องสร้างบรรยากาศทั้งอาจารย์ นักศึกษา และภาคธุรกิจให้มีแรงบันดาลใจและเชื่อมโยงความสนใจของนักศึกษากับหลักสูตรที่เน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ มีความสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ สังคมและเศรษฐกิจของไทย ต้องมีการปฏิวัติหลักสูตรใหม่ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเอาวิชาต่างๆ มารวมกันแต่ต้องเน้นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้เยาวชนได้มีโอกาสฝึกฝนการทำงานในโลกธุรกิจและใช้นวัตกรรมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย
ในยุคดิจิทัลหน้าที่ของครู อาจารย์ ทั้งหลายคือการกระตุ้นนักศึกษาให้เกิดทักษะนำเอาข้อมูลข่าวสารนั้นไปพัฒนาและหาคำตอบ ในปีที่ผ่านมา สจล.ได้มีการร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำหลายแห่งในการบูรณาการสร้างประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีแก่นักศึกษา อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) พัฒนาห้องเรียนอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Active Learning ร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย จัดตั้ง Huawei Authorized Information and Network Academy (HAINA) ส่งเสริมการเรียนการสอนสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศแก่นักศึกษาครั้งแรกในประเทศไทย รวมถึงการร่วมมือกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) จัดทําโครงการวิจัยระบบแจ้งเตือนการรับประทานยาบนโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานยาและตรวจสอบได้ง่ายโดยไม่ต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นำเสนอในท้ายที่สุดว่า การปฏิรูปภาคการศึกษาในยุคที่เริ่มต้นเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรมใหม่เกิดและเติบโตอย่างก้าวกระโดด การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องพึ่งพางบประมาณตัวเองมากขึ้นจะต้องมีประสิทธิภาพในการบริหารงานสูงสุด โดยใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการเรียนการสอน โดยตระหนักว่านักศึกษาคือผู้ที่จะนำเอานวัตกรรมไปสู่ความสำเร็จและนำไปปฏิบัติได้จริง เอาการเรียนรู้บนโลกอินเตอร์เน็ตนี้มาใช้สอดคล้องกับวัฒนธรรม เทคโนโลยีใหม่ และอาชีพหรือรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เราต้องการสร้างวัฒนธรรมแห่งความร่วมมือทั้งระบบการศึกษา ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และความฝันของเด็ก เราควรจะมีห้องเรียนอัจฉริยะกระตุ้นการเรียนรู้ทำให้นักศึกษามีทักษะแบบมืออาชีพ พร้อมกับมีมาตรการวัดสัมฤทธิผลด้านการศึกษาที่ชัดเจนต่อเนื่อง เพื่อที่เราไม่ต้องคอยตอบปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาเมื่อมีสถาบันวัดผลนานาชาติมาเปิดเผยผลการสำรวจ