- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 23 November 2016 22:49
- Hits: 11627
ภาคเอกชน 'สานพลังประชารัฐ'เข้มข้น จัดเวิร์คช้อป 'คอนเน็กซ์-อีดี'ครั้งที่ 2 เสริมแกร่งผู้นำรุ่นใหม่ต่อเนื่อง ร่วมวางแผนพัฒนาโรงเรียน ยกเครื่องการศึกษาไทย
ถึงวันนี้เราได้ตระหนักกันดีแล้วว่า การปฏิรูประบบการศึกษาไทยนั้น จะดำเนินการเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันยกเครื่องระบบการศึกษาไทย ซึ่งบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ได้เข้ามาร่วมมือกับภาครัฐ ในการ ‘สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ’ โดยเปิดรับสมัครและคัดกรองโรงเรียนต้นแบบประชารัฐกว่า 7,000 แห่ง พร้อมส่งผู้นำรุ่นใหม่ซึ่งเป็นตัวแทนจาก 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้งโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือ “คอนเน็กซ์-อีดี” เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมยกระดับการศึกษาไทย อันเป็นการปลูกฝังจิตอาสา สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ
น.ส. ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งใน 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดเวิร์คช้อป โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (คอนเน็กซ์-อีดี) กล่าวว่า “หลังจากที่ 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง ได้จัดเวิร์คช้อปคอนเน็กซ์-อีดี ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) ได้ลงพื้นที่โรงเรียนประชารัฐที่ตนเองดูแล พร้อมกับศึกษานิเทศก์ เพื่อเข้าพบและทำความรู้จักกับผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษาสภาพโรงเรียน เด็กนักเรียน และชุมชน มาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในลำดับต่อไป School Partners ทุกคน จะร่วมกับผู้อำนวยการ คิดแผนพัฒนาโรงเรียนให้ตอบโจทย์กับปัญหาที่โรงเรียนกำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้ เวิร์คช้อป ครั้งที่ 2 ได้จัดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ School Partners มากยิ่งขึ้น ทั้งการแบ่งปันประสบการณ์ การทำเวิร์คช้อปแนะแนวการทำแผนงาน ก่อนที่จะลงพื้นที่ต่อไปเพื่อร่วมทำแผนพัฒนาโรงเรียนร่วมกับผอ โดยจะส่งแผนมาให้คณะกรรมการกลางได้พิจารณาก่อนขั้นแรก หากแผนดังกล่าวผ่านการพิจารณา จึงจะรอนำเสนอต่อผู้บริหาร CEO และ CEO-1 ของแต่ละองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งโครงการคอนเน็กซ์-อีดีต่อไปในเดือน ม.ค.-ก.พ. ในปีหน้า 2560ง
เวิร์คช้อปคอนเน็กซ์-อีดี ครั้งที่ 2 นี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับ School Partners กว่า 600 คน ถึงวัตถุประสงค์การทำแผนพัฒนาโรงเรียน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเด็ก ให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงวิธีการเขียนแผน กระบวนการนำเสนอแผน อธิบายเกณฑ์การอนุมัติแผนของโครงการคอนเน็กซ์-อีดี พร้อมให้เหล่า School Partners ได้เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนขณะลงพื้นที่อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังเสริมองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เช่น การใช้ระบบ ICT สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ทรูปลูกปัญญา และหลักสูตรเสริมด้านการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแต่ละหัวข้อได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มาให้ความรู้ตลอด 2 วันเต็ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการลงพื้นที่ครั้งต่อไปของ School Partners อีกด้วย”
ในส่วนของโรงเรียนประชารัฐ กลุ่มทรู จะนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ได้แก่ 1. Connectivity สนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไปยังโรงเรียนประชารัฐที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 1,294 โรงเรียนทั่วประเทศที่ยังมีความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ นักเรียนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 2. ICT เพื่อการศึกษา – สนับสนุนชุดอุปกรณ์และสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้ในทุกห้องเรียน ตามโมเดลโรงเรียนต้นแบบทรูปลูกปัญญา ให้กับ 3,342 โรงเรียนประชารัฐในเฟสแรก โดยทุกห้องเรียน ทั้ง 39,829 ห้องเรียน จะได้รับการติดตั้งทีวี / คอมพิวเตอร์ ระบบ LAN Network และระบบอินเทอร์เน็ต ตลอดจนระบบสายสัญญาณและเสียง (SMATV) และระบบถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดไปยังทุกห้องเรียน ซึ่งครูผู้สอน สามารถสืบค้นเนื้อหาสาระความรู้ต่างๆ จากอินเทอร์เน็ต และยังสามารถประยุกต์การใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ทรูปลูกปัญญาซึ่งติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์ทุกห้องเรียน อีกทั้งยังสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่าน ‘ห้องถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิด - ห้อง On Air’ ที่เป็นเสมือนเวทีที่เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไปยังทุกห้องเรียนได้อีกด้วย และ 3. พัฒนาเว็บไซต์ www.pracharathschool.go.th ร่วมกับสพฐ. เพื่อเป็นศูนย์รวมหลักสูตรและสื่อเสริมการเรียนการสอนที่เป็นประโยชน์จากภาคประชาสังคม โครงการทรูปลูกปัญญา และสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ให้ครูสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนสอนนักเรียน
นายสุเมธ วงศ์ชาญศิลป์ ตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ตนได้สมัครเข้าร่วมโครงการคอนเน็กซ์-อีดี และผ่านการคัดเลือกจากธนาคาร เพราะอยากเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเองและเข้าร่วมพัฒนาระบบการศึกษาของไทย ซึ่งเมื่อมาเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ที่มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและลงพื้นที่ไปช่วยเหลือโรงเรียน ก็พบว่าร.ร.พลอยจาตุรจินดา จ.สมุทรปราการ ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่นั้น มีปัญหาค่อนข้างมาก จึงได้นำความเข้าใจ ทักษะในการสื่อสาร ที่ได้เรียนรู้จากเวิร์คช้อปไปใช้ช่วยเหลือโรงเรียน พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
“เท่าที่ได้รับฟังปัญหาจากผอ. ครู และเด็ก ทำให้รู้ว่าโรงเรียนขาดแคลนครู รูปแบบการสอนไม่สนุก ไม่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และเด็กเองก็อยากให้โรงเรียนจัดกิจกรรมมากๆ เพื่อให้เกิดความสุข สนุกกับการเรียนการสอน อีกทั้ง ชุมชนรอบโรงเรียนไม่เห็นความสำคัญของการเรียน ฉะนั้น จากการเข้าร่วมอบรม และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องเข้าไปช่วย โดยให้ผอ. ครู เห็นถึงปัญหา และช่วยกันแก้ไข โดยเราไม่ได้ไปบอกว่าควรจะทำอะไร แต่จะไปนั่งหารือร่วมกันเพื่อให้ผอ. ครู และชุมชน เกิดความรู้สึกอยากพัฒนาโรงเรียนด้วยต้นเอง สร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของเด็ก โครงการคอนเน็กซ์-อีดี นี้ จึงเป็นเสมือนกระบอกเสียงที่ภาคเอกชนสะท้อนให้ภาครัฐได้เห็นถึงปัญหาการศึกษามากขึ้น”นายสุเมธ กล่าว
แต่ละโรงเรียนมีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ภาคเอกชนสามารถนำความเชี่ยวชาญ ระบบการปฏิบัติงานที่องค์กรมี มาช่วยพัฒนาการศึกษาไทยได้ น.ส.ณัฐชญา ปาละนันทน์ พนักงานจากบมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เล่าว่าเธออยู่ในส่วนของ CSR และบริษัทมีนโยบายช่วยเหลือสังคมด้านการศึกษามาโดยตลอด โครงการนี้ จึงช่วยเติมเต็ม ทำให้เข้าใจระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น และมองเห็นปัญหาในวงกว้าง โดยเริ่มจากการอบรมศักยภาพผู้นำ เตรียมความพร้อม ทักษะของการเป็นผู้นำ คือ รับฟัง วิเคราะห์สถานการณ์ให้ออก และช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงการไปมอบสิ่งของหรืออุปกรณ์เท่านั้น แต่จะเป็นการลงไปช่วยชี้แนะให้คำแนะนำด้วย
ดังนั้น เมื่อ งน.ส.ณัฐชญาง ได้ลงพื้นที่โรงเรียนในจังหวัดอยุธยา 3 แห่ง ได้แก่ ร.ร.วัดไก่เตี้ย ร.ร.วัดตูม ร.ร.วัดหันตรา ซึ่งทั้ง 3 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีปัญหาไม่ได้แตกต่างกันมาก นั่นคือ ขาดแคลนในเรื่องสื่อการเรียนการสอน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยาก ซึ่งโครงการนี้จะมาช่วยเสริมเรื่องสื่อการเรียนการสอนไอซีทีให้แก่โรงเรียน ตลอดจนชี้แนะผู้บริหาร ครู ได้สร้างกิจกรรมการเรียนรู้จากสื่อและอุปกรณ์ดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ภาคเอกชน ก็ควรเข้ามาให้การสนับสนุน เป็นพลังประชารัฐที่ต้องลงพื้นที่ เพื่อเห็นสภาพจริงของโรงเรียน จัดการศึกษา และหาแนวทางในการเผยแพร่ กระตุ้นให้ภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามาช่วยยกระดับศึกษาของไทยให้ดีขึ้น
ขณะที่ น.ส.นงนาฏ พิสิษฐบรรณกร ตัวแทนจากบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล เล่าว่าตนได้ลงพื้นที่ไปดูโรงเรียนในจังหวัดพังงา 3 แห่ง ได้แก่ ร.ร.เกาะยาววิทยา ร.ร.วัดนิโครธาราม ร.ร.ไทยรัฐวิทยา 54 ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียนขาดแคลนครูที่จบจากสาขานั้นโดยตรง เช่น ครูภาษาอังกฤษ ทั้งที่หลายคนอาจมองว่าพังงาเป็นแหล่งท่องเที่ยว น่าจะมีอาสาสมัครครูมาสอนภาษาอังกฤษกันมาก แต่กลับไม่มี หรือบางโรงเรียนมีอุปกรณ์ดนตรีแต่ไม่มีครูสอนดนตรี ขณะที่บางโรงเรียนมีครูสอนดนตรีแต่ไม่มีอุปกรณ์ ดังนั้น การเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา เราก็จะเข้าไปให้คำแนะนำผู้บริหาร ครู ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแบ่งปันทรัพยากรครู และอุปกรณ์การเรียนการสอนร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้มองโครงการมัคคุเทศก์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการฝึกภาษาอังกฤษให้แก่เด็กแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เด็กอีกด้วย
“ผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง มีความรักโรงเรียน รักเด็ก แต่ยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะทำอย่างไรให้บริบทที่ตนเองมีอยู่นั้น เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการที่ภาคเอกชนเข้ามา จะช่วยเติมเต็มตรงจุดนี้ และเข้าใจระบบการบริหารจัดการ ช่วยเหลือให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และเด็ก รวมถึงชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียน ทำให้เด็กมีศักยภาพ เป็นเด็กดีและเก่ง พร้อมช่วยเหลือสังคม ซึ่งเมื่อเรามาร่วมอบรมในโครงการคอนเน็กซ์-อีดี แล้ว ทำให้ได้พัฒนาตนเอง เปิดโอกาสให้เข้าไปช่วยเหลือการศึกษาเด็กแต่ละภูมิภาคด้วย” น.ส.นงนาฏ กล่าว
นายชนินทร์ ชัยเกียรติ พนักงานบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน เล่าว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เข้ามาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการคอนเน็กซ์-อีดี และอบรมเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา โดยก่อนหน้านี้ก็พอรู้ถึงปัญหาของการศึกษา แต่เมื่อได้ทำเวิร์คช้อป และได้ลงพื้นที่โรงเรียนก็เข้าใจปัญหาลึกซึ้งขึ้น ซึ่งโรงเรียนที่ดูแลอยู่ในจ.เชียงใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ ร.ร.บ้านปางต้นเดื่อ ร.ร.ชุมชนบ้านแม่ฮ่าง และร.ร.ชุมชนบ้านคาย ซึ่งทั้ง 3 แห่งอยู่ในอำเภอเดียวกัน ใกล้กัน มีบริบทของแต่ละโรงเรียนคล้ายคลึงกัน และเนื่องด้วยเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ปัญหาที่พบคือนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน หรือที่มีอยู่คุณภาพก็ต่ำกว่ามาตรฐาน
“จากที่ได้ลงพื้นที่สอบถามปัญหาที่โรงเรียนกำลังประสบจากผู้อำนวยการ ครูในโรงเรียน เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด ก็พบว่านอกจากเรื่องอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนแล้ว สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น คือ การทำให้ครูสอนให้เด็กเป็นคนเก่งและคนดี ผ่านกระบวนการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถของเด็ก ครู และโรงเรียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ นอกจากนี้ การเข้าร่วมเวิร์คช้อป ยังเป็นการพัฒนาตนเองไปในตัว ทำให้เข้าใจระบบการศึกษา ปัญหาของครูและโรงเรียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่จะให้ข้อมูลและสามารถทำให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในโรงเรียนได้จริงๆ ก็คือ ผู้บริหาร ครูในโรงเรียนที่ช่วยสะท้อนปัญหา และภาคเอกชน ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ช่วยพัฒนาและรักษามาตรฐานของโรงเรียนได้”นายชนินทร์ กล่าว
หลายครั้งที่ติดตามการจัดการศึกษาของไทย อาจจะยังมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงและสงสัยว่าทำไม ผู้บริหาร ครู หรือแม้แต่ภาครัฐ ถึงแก้ปัญหาแล้วแต่ยังแก้ไม่ได้ น.ส.อารีย์ โรจนานุศาสตร์ ตัวแทนจากซีพี ออลล์ เล่าว่าตนมีความฝันอยากเป็นครูอนุบาล ดังนั้นเมื่อบริษัทได้คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ดีใจมากเพราะอยากรู้ว่าระบบการศึกษาขณะนี้เป็นอย่างไร และมีปัญหาอะไรบ้าง เมื่อลงพื้นที่ จึงเลือกจังหวัดต่างกัน คือจ.อยุธยา 2 โรงเรียน และจ.บุรีรัมย์ 1 โรงเรียน โดยโรงเรียนในจ.อยุธยาเน้นวิชาการ แต่ในส่วนของบุรีรัมย์เน้นการเรียนรู้วิชาชีพ ซึ่งบริบทแตกต่างกัน ทำให้ปัญหาพบเจอไม่เหมือนกัน
โดยในส่วนของโรงเรียนจ.อยุธยา โรงเรียนแรกมีปัญหาขาดแคลนครู ขณะที่อีกโรงเรียนมีความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนและครูบางคน แต่ด้วยความตั้งใจจริงของผอ. ทำให้ปัญหาต่างๆ หายไป เพราะผอ.โรงเรียนแก้ปัญหาโดยมุ่งจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็ก จนทำให้คนในชุมชนเห็นพัฒนาการของเด็กและร่วมสนับสนุนให้ผอ.ทำงานต่อในโรงเรียนได้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของผอ. และนี่เป็นจุดดีที่จะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาในโรงเรียนได้ ส่วนโรงเรียนบุรีรัมย์ แม้จะมีปัญหายาเสพติด แต่โรงเรียนก็พยายามสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรม รักกีฬา และส่งเสริมให้เด็กเป็นนักฟุตบอล
“ภาคเอกชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่โรงเรียนได้ เพราะศักยภาพของเอกชนมีมาก ทั้งทรัพยากร ระบบการบริหารจัดการที่อิสระ ไม่ต้องผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนมากมาย ซึ่งเมื่อลงพื้นที่ช่วยสถานศึกษา ทำให้ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ลงมือปฏิบัติได้ทันทีผ่านการช่วยเหลือร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและกลุ่มผู้นำภาคเอกชน ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ ของโครงการคอนเน็กซ์-อีดี ทำให้ School Partners เข้าใจบริบทของโรงเรียน และมีทักษะพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้เต็มที่ ซึ่งภาครัฐเอง ควรต้องรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนด้วย” น.ส.อารีย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้วยความเชื่อว่า School Partners ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ CONNEXT ED ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า ทั้งศักยภาพ ความคิด ความเป็นผู้นำ และมีความมุ่งมั่นด้านการศึกษา จึงมั่นใจได้ว่า School Partners เหล่านี้ จะสามารถทำงานร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิดผู้อำนวยการโรงเรียน และสามารถเป็น Facilitator ในการทำแผนพัฒนาโรงเรียนให้เกิดผลได้อย่างยั่งยืน โดยแผนที่ได้มานั้นจะต้องสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเอง เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ด้านการศึกษาให้แก่เยาวชนและประเทศชาติสืบต่อไป