WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ก่อนจะถึงเก้าอี้ รมช.ศึกษาฯ

มติชนออนไลน์ :

 19สงหาคม      ภายหลังปรากฏชื่อ'นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์'ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) บิ๊กตู่ 2 แวดวงการศึกษาจับตามมองไปที่เขา แม้จะไม่คุ้นหน้าคุ้นตามากนัก แต่จากโปรไฟล์ ดูจะเป็นความหวังให้กับแวดวงการศึกษาได้ไม่น้อย
      นพ.ธีระเกียรติ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 
      จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน แผนกจิตเวชศาสตร์และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
     ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ได้ทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพของการศึกษาไทยมาตลอด โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทยให้มีความทันสมัย อีกทั้ง นพ.ธีระเกียรติ ยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ด อีกด้วย 
     "มติชน" สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวคิดด้านต่างๆ โดยเฉพาะกับข่าวคราวการรับน้อง กำลังเป็นที่สนใจของสังคมอยู่ในขณะนี้ เพื่อจะได้รู้จักรัฐมนตรีใหม่แกะกล่องผู้นี้ดียิ่งขึ้น 

รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.ได้อย่างไร?
     "ผมทำงานด้านการศึกษามาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี ได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไสกับ นายอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ต้องการให้เป็นโรงเรียนตัวอย่างในการพัฒนาจริยธรรมและศีลธรรม จากนั้นได้ทุนไปเรียนประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
     ต่อมาทางประเทศอังกฤษเชิญไปดำรงตำแหน่งจิตแพทย์เด็กอาวุโสที่เมือง โคลเชสเตอร์ (Colchester) และเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์อาวุโส ที่ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London-UCL) และ โรยัล ฟรี เมดิคัล สคูล (Royal Free Medical School) มหาวิทยาลัยลอนดอน ในระหว่างอยู่ประเทศอังกฤษ ได้ดูแลโรงเรียนสัตยาไสอยู่ พร้อมทั้งได้ทำวิจัยเรื่องอิทธิพลของโรงเรียนต่อพัฒนาการเด็ก
      ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสฯ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่ว่า 1.ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู 2.ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกันแต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กเรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนเรียนช้ากว่า 3.ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี 
      ทำให้ทางองคมนตรีได้พยายามขยายพระราชกระแสนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรม นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้ตั้งมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อขยายงานในเรื่องนี้ พร้อมทั้งชักชวนผมกลับมาจากประเทศอังกฤษ เพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา 
      ทำงานให้กับมูลนิธิฯ ได้เพียงประมาณ 5 เดือน เกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2557 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ขณะนั้น ชักชวนผมมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ. 
      กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาเชิญให้ช่วยกันทำงานใน ครม. ชุดใหม่ ผมได้ตอบตกลง เรื่องราวมีเพียงเท่านี้ ตรงไปตรงมา ไม่มีการวิ่งเต้น ไม่มีใครฝากฝัง และผมจะยอมเป็นเด็กฝากไหม?

เป็นนักการศึกษาที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงการนักวิชาการ?
      "แล้วคำว่า นักการศึกษาคืออะไร คือคนจบครูใช่หรือไม่ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่านักการศึกษาบนโลกนี้ การมีคนกล่าวหาว่าไม่ค่อยมีใครรู้จัก น่าจะหมายถึงไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปมากกว่า
       เพราะคนในวงการแพทย์และวงการการศึกษาต่างก็รู้จักผม เพียงแค่ไม่ได้เป็นคนดังแบบดาราเท่านั้น จากการเข้ามาใน ศธ. แล้วไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ไม่มีอคติในการทำงาน พิจารณาทุกเรื่องด้วยความยุติธรรมจากนี้ให้ดูกันที่ผลงานต่อไป
      แนวทางการบริหารงานด้านการศึกษา จะเน้นการวางรากฐานการศึกษาที่ดีตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เห็นว่าพระราชกระแสฯ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ควรจะเป็นหัวใจของการศึกษา 
     จึงเป็นนโยบายข้อแรกของ ศธ.ให้ครูอยากสอนเด็กและให้เด็กอยากเรียน การยกระดับภาษาอังกฤษ มีการเชิญมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มาวิเคราะห์โครงสร้างและหลักสูตรของการศึกษาภาษาอังกฤษทั้งด้านนักเรียนและครู 
      การคัดสรรครูที่ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เพื่อคัดเลือกครูให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งสานต่อโครงการคุรุทายาท โครงการของพระเจ้าอยู่หัวนักการศึกษาทุกคนเห็นพ้องว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริงในวงการศึกษาทุกระดับ 
      การประเมินเด็กนักเรียน ต้องประเมินขณะเกิดขึ้นในห้องเรียน และต้องมีอัตนัยด้วย เริ่มตั้งแต่เด็กในระดับประถมศึกษา 
       นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ได้ให้คำแนะนำดีๆ ในช่วงผมดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ.ไว้หลายเรื่อง ผมจะสานต่อโครงการต่างๆ อย่างแน่นอน อาทิ โครงการให้ทุนกับครูอาชีวะในอนาคต เป็นต้น ยังไม่เคยเห็นว่ามีเรื่องไหนผิดพลาด เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรจะไปรื้อแม้แต่นิดเดียว มีแต่จะทำต่อและทำเพิ่มในเรื่องที่ท่านทำค้างไว้อยู่"

มีแนวคิดเรื่องลดเวลาเรียนอย่างไร?
      "นโยบายการลดเวลาเรียนของ พล.อ.ประยุทธ์ มีวัตถุประสงค์ในการลดเวลาเรียนแบบนั่งเฉยๆ ในห้องเรียนแล้วให้ครูบอกหรือนั่งท่องจำ 
      ผมมองว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบตรงจุด เวลา 2 ชั่วโมงที่เหลือจากการเรียนวิชาการแล้วให้เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ไม่ได้ปล่อยเด็กกลับบ้าน เป็นการจัดการเรียนการสอนใหม่ อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้เรียนรู้อยู่แต่ในตำรา สอดคล้องกับงานที่ผมอยากทำ คือ ต้องการให้หลักสูตรสมัยใหม่รู้ไม่ต้องเยอะ แต่ให้รู้ลึกและให้รู้อย่างมั่นคง เรียนรู้ตามหลักสูตรในแก่นเรื่องที่เหมาะสมตามวัย 
      นายกฯ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเราต้องช่วยกัน ถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้จะเปลี่ยนตอนไหน"

นายกรัฐมนตรี ฝากอะไรเป็นพิเศษหรือไม่
      "ไม่ได้ฝากอะไรเป็นพิเศษมากนัก บอกเพียงให้ผมช่วยคิดกิจกรรมจะทำในเวลา 14.00 น. หลังเลิกเรียนวิชาการ ว่าจะต้องมีการเรียนการสอนอย่างไร ทาง ศธ.จะต้องจัดกิจกรรมไว้หลายๆ รูปแบบ อย่างเช่น สอนอย่างไรเพื่อให้เด็กคิดเป็น เขียนเรียงความเป็น เขียนย่อความเป็น เด็กสมัยนี้ทำไม่เป็น ให้เด็กรู้จักความสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศไทย ไม่ใช่บอกให้ท่องจำ ฝากให้ครูช่วยจัดให้เด็กเรียนและรู้ ไม่ใช่เรียนเพียงอย่างเดียว เป็นการบ้านที่ผมจะต้องทำให้สำเร็จ"

ปัญหาการรับน้องที่ไม่เหมาะสมควรแก้ไขอย่างไร?
      "ปัญหาการรับน้องมีการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมในขณะนี้ ในฐานะผมดูแลสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มองว่าการรับน้องไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของวงการศึกษาในแง่ระบบ แต่ว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม มหาวิทยาลัยรับน้องไม่ดี ไม่ได้แปลว่าระบบการศึกษาในอุดมศึกษาไม่ดี ต้องแยกกัน ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เกิดขึ้น ต้องบอกรุ่นน้องว่าการทำอย่างนี้ไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น ต้องมีการสอน ห้ามปราม และลงโทษไปตามบริบท
     แต่เพื่อความยุติธรรมกับทุกคน ต้องรู้ข้อเท็จจริงก่อน เป็นเรื่องปลีกย่อย ต้องว่ากันอีกที อีกทั้งจะดูแลสถาบันอุดมศึกษาให้มีอิสรภาพจะพัฒนา ไม่เอาระเบียบเล็กน้อยลงไปไล่จับหรือไปควบคุมเขา และการศึกษาจะต้องเชื่อมโยงกับการมีงานทำ"

มองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีปัญหาอะไรที่น่าหนักใจหรือไม่
     "ผมอยากบอกจริงๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยอยากมีอำนาจ คสช. ชุดนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร มีแต่ความอยากทำให้มีความมั่นคงเกิดขึ้นในบ้านเมือง ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ไม่ได้มีการชี้นำใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่นายกฯ ได้เคยบอกนักข่าวไปว่ารักผมน้อยๆ แต่นานๆ หน่อย
      นานๆ ในที่นี้ไม่ใช่ว่าให้ดำรงตำแหน่งอยู่นาน แต่ในช่วงที่ทำหน้าที่ ให้กำลังใจหน่อย อย่าไปว่าเยอะ ปัญหาคือคนต่อว่าโดยไม่ยอมมองว่าทำไมถึงมี คสช. ชุดนี้
      มีหลายคนมาสอบถามว่าผมไปอยู่เมืองนอกมาเป็นเวลานาน ทำไมถึงทำงานให้เผด็จการ เลยตอบไปว่า นายกฯ และ คสช. ไม่ได้เป็นเผด็จการ แต่เขามีความจำเป็นจะต้องหยุดความขัดแย้งตรงนั้น และเราก็จะต้องช่วยให้สำเร็จ เพราะที่นี่คือบ้านเมืองของเรา 
      ส่วนที่ว่าในเดือนกันยายน 2559 จะมีการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ถ้าประชาชนบอกเลือกตั้ง ก็พร้อมจะเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นนายกฯจึงใช้คำว่าเป็นไปตามชะตากรรม หมายถึงประชาชนทุกคนเป็นคนกำหนด ไม่ใช่ว่านายกฯคิดหรือไม่คิดว่าอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะคิดไม่ได้ คิดไปทางไหนก็โดนด่า บอกว่าไม่เอารัฐธรรมนูญก็หาว่าอยากจะอยู่นาน พอบอกเอาก็หาว่าจะแฝงในรูปของคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ 
      จากที่ผมได้เคยประชุมกับนายกฯ หลายครั้ง ตั้งแต่สมัยซุปเปอร์บอร์ด บอกได้เลยว่ารักเลย คนดีมาก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!