- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 05 August 2015 08:59
- Hits: 4116
ส.อ.ท. ผนึก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ 3 เหล่าทัพ ร่วมพัฒนาความรู้สู่เยาวชนอาชีวศึกษา
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ จัดงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาอาชีวศึกษาไทย ปีที่ 2” ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2558 ณ ห้อง Meeting Room 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับเกียรติจากพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กล่าวให้โอวาท และมอบโล่ เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติองค์กร และครู “ผู้สร้างคนดี มีสัมมาชีพ ปีที่ 2” และบรรยายพิเศษจากนายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมการโครงการฯ เรื่อง “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนพฤติกรรม ไปกับ ทวิภาคีพิเศษ ในเขตพื้นที่พิเศษ” เพื่อแก้ปัญหาเยาวชนอาชีวศึกษาที่มีเหตุทะเลาะวิวาท เสริมสร้างการจัดการด้านอาชีวศึกษาให้มีความเข้มแข็ง พร้อมจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานเพิ่มผลผลิตทางการศึกษาให้มีความสามารถตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
โครงการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา เกิดขึ้นสืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสรับสั่งห่วงใยเด็กและเยาวชนอาชีวศึกษาที่มีปัญหาทะเลาะวิวาท ที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินและอนาคต ของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนซึ่งอยู่ในบริเวณที่นักศึกษาก่อเหตุ รวมทั้งทำลายชื่อเสียงและเกิดทัศนคติในทางลบต่อนักเรียนนักศึกษาสายอาชีพ จึงได้มอบหมายให้ คณะองคมนตรี หาทางช่วยแก้ไข จึงได้เกิดโครงการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษาขึ้น ซึ่งโครงการเป็นความร่วมมือกันของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยนำนักศึกษา ปวช.ปี 2 เข้าฝึกงานในสถานประกอบการ จัดให้มีการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning: WIL) เน้นในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต คุณภาพความปลอดภัย และนิสัยอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตในสถานประกอบการ มีทักษะในการทำงานตรงกับวิชาชีพและสามารถเรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตการทำงานในสถานประกอบการแก่นักศึกษาที่ร่วมโครงการ
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กล่าวว่า ขอชื่นชมกับนักเรียนทุกคน ที่มีความมานะ อดทน มุ่งมั่นจนผ่านการเรียนรู้ และฝึกอบรมจากโครงการ “สร้างคนดี มีสัมมาอาชีพ” ทั้งครูนิเทศ ครูฝึกในสถานประกอบการ และผู้สนับสนุนส่วนต่างๆ ซึ่งได้ร่วมมือกันเสียสละ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจอย่างเข้มแข็ง จึงมีความเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้นี้การให้การศึกษา ฝึกอบรมและพัฒนาเยาวชนไทย จะเสริมสร้างการจัดการด้านอาชีวศึกษาให้มีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งแก้ปัญหาในหลายเรื่อง ซึ่งในส่วนของภาคเศรษฐกิจ การขยายตัวทางภาคอุตสาหกรรมยังมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ซึ่งยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานฝีมือ ดังนั้นหากในภาคการศึกษา มีระบบการฝึกที่ดี โดยเฉพาะการได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ จะทำให้เด็กมีศักยภาพและมีทักษะตรงตามความต้องการ
“สำหรับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนโดยเฉพาะด้านวินัย และความรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี และในปีนี้ทราบว่า มีนักเรียนที่เข้าฝึกอบรมด้านวินัย และเรียนรู้ในสถานประกอบการ ได้มีความคิดริเริ่มในการที่จะช่วยพัฒนางานของสถานประกอบการ เช่น โครงงานสร้างรถสามล้อประหยัดพลังงาน, อุปกรณ์กดลูกสูบดิสก์เบรกรถยนต์, การพัฒนาปรับปรุงรถเข็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นผลเชิงประจักษ์ในการคิดสร้างสรรค์ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้”พลเอกสุรยุทธ์ กล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯ โชคดีมากที่ได้มีโอกาสทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความซาบซึ้งในน้ำพระทัยที่พระองค์ท่านได้ทรงห่วงใยเด็กและเยาวชน ใน 2 กลุ่ม คือ การศึกษาระดับพื้นฐานในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล และระดับอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษา มีปัญหาที่ควรเร่งแก้ไขรวม 2 เรื่อง คือ การทะเลาะวิวาท และการยกระดับมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเด็กและเยาวชนทั้ง 2 กลุ่ม คือ กำลังคนของชาติในอนาคต โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษา ที่เป็นกำลังคนที่สำคัญและเป็นที่ต้องการมากของการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรม เมื่อเยาวชนเหล่านี้ ได้รับการพัฒนา ทั้งความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ถูกต้อง มีความพร้อมในการทำงาน ก็จะทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งการที่จะทำให้เยาวชนอาชีวศึกษา มีความรู้ ความสามารถ และทัศนคติที่ดีดังกล่าว จะต้องได้รับการเรียนรู้จากของจริง สถานที่จริง และลงมือทำจริง การจัดการศึกษาทวิภาคีที่เป็น Demand Driven โดยภาคเอกชน เป็นผู้นำ และเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา จะทำให้สถาบันการศึกษาผลิตคนมีคุณภาพตรงตามความต้องการ
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตอุตสาหกรรมไทย โดยให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยมี สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งในการขับเคลื่อน จะพิจารณาทั้งในเรื่องการกำหนดนโยบาย และการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งงานทวิภาคี คือ นโยบายหลักในการพัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษาของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยมีสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ เป็นศูนย์กลางในดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาไปสู่มาตรฐานระดับสากล
“สำหรับโครงการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการของสภาอุตสาหกรรมฯเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา นี้ มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ดำเนินการจบไปแล้ว 2 ปี ขณะนี้กำลังดำเนินการในปีที่ 3 ดังนั้น เพื่อเป็นแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้สภาอุตสาหกรรมฯ มีโอกาสถวายงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อครบเวลา 5 ปีแล้ว หากสำนักงานกองทุนการศึกษา เห็นควรให้ดำเนินโครงการต่อไป สภาอุตสาหกรรมฯ ก็พร้อมและยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
ด้าน นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการกองทุนการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนอาชีวศึกษา เป็นคนดี มีสัมมาชีพ โดยนำร่อง 11 วิทยาลัย เป็นโครงการต้นแบบ เพื่อพัฒนาให้เป็นการจัดการศึกษาทวิภาคีเต็มรูปแบบต่อไป
การดำเนินงานโครงการ ปีที่ 1 เป็นปีแห่งการเรียนรู้ ถือกำเนิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 41 บริษัท นักศึกษาจาก 9 สถานศึกษา จำนวน 345 คน ใช้ระยะเวลาในการฝึก 7 เดือน ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 หรือ เทอม 4 กับ 1 Summer ของปีการศึกษา 2556 ได้สร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในเชิงระบบ และการวางแผนการจัดการศึกษาทวิภาคีสามารถพัฒนาให้เป็นมาตรฐานการจัดการศึกษาทวิภาคีของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทักษะชีวิตที่ดี มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม มีมารยาท มีวินัย ตั้งใจเรียน รู้จักคิดมากขึ้น กล่าวขอโทษและขอบคุณเป็น โดยได้มีการจัดงาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาอาชีวศึกษาไทย ปีที่ 1” ไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557
“สำหรับการดำเนินงานในปีที่ 2 เป็นปีแห่งการพัฒนา “ปิดจุดอ่อน พัฒนาจุดแข็ง หัวใจคือ 2 ครู และการสนับสนุนจาก 2 ส. คือ สถานศึกษา และสถานประกอบการ” ให้เป็นการพัฒนาร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จึงเป็นกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในการทำงาน ปีที่ 2 โดยมีนักศึกษาจาก 11 วิทยาลัยเข้าร่วม จำนวน 245 คน ใช้ระยะเวลาในการฝึก 1 ปี ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2557 ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2558 หรือ 2 ภาคเรียน ของปีการศึกษา2557 ซึ่งผลการดำเนินกิจกรรมในรุ่นที่ 2 โดยภาพรวม เป็นที่น่าพอใจตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เนื่องจากในรุ่นที่ 1 มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 345 คน แต่จบการฝึกเพียง 212 คน คิดเป็นร้อยละ 61 ในรุ่นที่ 2 มีนักศึกษาเข้าร่วม จำนวน 245 คน จบการฝึก 181 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 73 ซึ่งจำนวนนักศึกษาที่ผ่านการฝึกคิดเป็นจำนวนเปอร์เซ็นที่เพิ่มสูงขึ้น นักศึกษามีความพอใจต่อรูปแบบการจัดการศึกษาตามโครงการ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีเฉลี่ย 3.21 มีความตั้งใจเรียน สามารถแก้ปัญหาในทางสร้างสรรค์ นำความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น และพัฒนาตนเองในการทำงานได้ดีขึ้น” นายถาวร กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย