- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 02 June 2015 23:15
- Hits: 5617
มิลค์ บอร์ดสั่งตรวจเข้ม 30 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ
ไทยโพสต์ : มิลด์บอร์ดสั่งตรวจเข้ม 30 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในโครงการนมโรงเรียน หากพบคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ 2 ครั้ง ขึ้นบัญชีดำพร้อมถอดชื่อออก แถมลดยอดการจำหน่ายของ ผู้ประกอบการที่ซื้อนมไปผลิต ลั่นเด็กนักเรียนต้องได้ดื่มนมคุณภาพมาตรฐานสูง
นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมหรือมิลค์บอร์ด เผยว่า มิลค์บอร์ดได้มอบหมายให้คณะติดตามและแก้ไขปัญหาการจำหน่ายนมโรงเรียน ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบของ 30 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและภาคกลางตอนล่าง เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ตรวจพบว่า คุณภาพน้ำนมดิบของ 30 ศูนย์ฯดังกล่าวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะของแข็งในน้ำนม(Total Solid) ต่ำกว่า 11.5 % และปริมาณโซมาติกเซลเค้าท์(Somatic Cell Count)หรือจำนวนเม็ดเลือดขาว เกินกว่า 700,000 เซล/ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพและคุณค่าของผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน
ในภาคเรียนนี้ หากพบว่า ศูนย์ฯใดมีคุณภาพน้ำนมดิบต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด 2 ครั้ง โดยมีของแข็งในน้ำนมต่ำกว่า 12 % จะขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์ศูนย์ฯนั้นทันที พร้อมถอดชื่อออกและไม่ให้เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนในภาคเรียนถัดไป ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ซื้อน้ำนมดิบจากศูนย์ฯที่ถูกแจ้งเตือนให้ปรับปรุงคุณภาพไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตนมโรงเรียน ก็จะถูกลดสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนลงตามสัดส่วน ตั้งแต่ 5-20 % ขึ้นกับเกณฑ์คุณภาพน้ำนมดิบ และจะเพิ่มสิทธิการจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการที่มีคุณภาพน้ำนมดิบสูงกว่าและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานแทน
รอง ผอ.อ.ส.ค. กล่าวอีกว่า ของแข็งในน้ำนมและปริมาณโซมาติกเซลเค้าท์เป็นองค์ประกอบที่มีผลต่อคุณภาพน้ำนมดิบ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อของแข็งในน้ำนม คือ อาหารที่ใช้เลี้ยงโคนม ถ้าอาหารสัตว์ไม่มีคุณภาพหรือมีโปรตีนไม่เพียงพอที่จะทำให้นมเจือจาง จากการตรวจสอบไปยังพื้นที่ภาคใต้ตอนบน พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้เปลือกสับปะรดและฟางแห้งในการเลี้ยงโคนมเป็นหลัก ทำให้มีของแข็งในน้ำนมต่ำ จึงได้แนะนำให้เกษตรกรปรับปรุงระบบการจัดการอาหารสัตว์โดยใช้หญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณค่าสูง เช่น หญ้าเนเปียร์หรือหญ้าเนเปรียร์ปากช่อง1 รวมทั้งใช้อาหารทีเอ็มอาร์(TMR)ซึ่งสามารถช่วยยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบได้ ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือไม่มีปัญหาเพราะเกษตรกรใช้อาหารสัตว์คุณภาพดีในการเลี้ยงโคนม
"ปีนี้มิลด์บอร์ดจะเร่งปฏิรูปนมโรงเรียนให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งยังมีรสชาติอร่อย เข้มข้น ถูกปาก ซึ่งจะทำให้เด็กนักเรียนชอบดื่มนมและผลักดันการบริโภคนมของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีอัตราการบริโภคนม 14-15 ลิตร/คน/ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า การที่มิลด์บอร์ดได้ปรับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพน้ำนมดิบที่นำมาแปรรูปเป็นนมโรงเรียน จะทำให้นมโรงเรียนมีคุณภาพสูงขึ้นทั้งระบบ"นายสุชาติกล่าว