- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Saturday, 25 April 2015 15:26
- Hits: 2829
ผู้ตรวจฯ'เตรียมสอบก.ศึกษาฯ หลังพบไม่โปร่งใสหลักพันล้าน
แนวหน้า : นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบ(คสช.) เกี่ยวกับ ข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท และขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็กำลังตรวจสอบความไม่โปร่งใสในกระทรวงศึกษาธิการอีกกรณีหนึ่ง และอาจมีความเกี่ยวโยงกับกรณีแรก แต่กรณีนี้มีมูลค่าสูงไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาทและอาจถึงหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว โดยความไม่โปร่งใสดังกล่าวทำให้เกิดมาเฟียในกระทรวงศึกษาธิการขึ้น และเม็ดเงินดังกล่าวก็เป็นเงินที่เลี้ยงคนกลุ่มดังกล่าว โดยเป็น เงินที่มาจากสวัสดิการทั้งหลายในกระทรวง ทั้งนี้ มีข้อมูลว่ามีผู้บริหารบางตำแหน่งได้เงินจากคนกลุ่มดังกล่าวประมาณ 150,000บาทต่อเดือน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่เซ็นคำสั่งตามที่กลุ่มมาเฟียต้องการ ซึ่งตอนนี้ตนยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนัก เพราะเดี๋ยวจะทำให้ไก่ตื่น และมีการปิดบังข้อมูลได้ แต่ยืนยันว่าการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้ก็เพื่อกำจัดคนที่ไม่ดีออกจากกระทรวงศึกษาธิการให้หมด เพราะถ้าคนเหล่านี้ยังอยู่การปฏิรูปการศึกษาก็คงจะไม่มีทางสำเร็จ
นายศรีราชา กล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังจะตั้งทีมงานเข้าไปดูข้อมูลในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว คงจะใช้เวลาประมาณ2-3 เดือน และหลังจากได้ข้อมูลครบถ้วนและสามารถสรุปเรื่องได้แล้ว ก็จะทำการเสนอชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องให้หัวหน้า คสช. พิจารณาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 44 เพื่อโยกย้ายข้าราชการกลุ่มดังกล่าว และอาจมีการส่งรายชื่อเพิ่มเติมไปอีก เพราะหากตรวจสอบข้อมูลแล้วไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นเราก็ต้องตรวจสอบต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้จะสามารถกำจัดความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการได้ทั้งหมดหรือไม่ นายศรีราชา กล่าวว่า ก็ต้องรอดูข้อมูลที่ได้มาก่อน หากเชื่อมโยงไปเรื่องอื่นอีก เราก็ต้องตรวจสอบต่อไป
ศธ.พักงาน 3 บอร์ดล้างคณะทำงานโหล
บ้านเมือง : พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการคุรุสภา , คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคณะกรรมการบริหารองค์การค้า(อภ.) ของ สกสค. ว่า ในส่วนของคุรุสภานั้น บอร์ดคุรุสภา มีมติให้คณะกรรมการ/อนุกรรมการต่างๆ ที่อดีตบอร์ดคุรุสภาตั้งไว้ซึ่งมีกว่า 30 ชุดนั้น หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ยกเว้นคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรีที่มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธาน ทั้งนี้ ให้นายกมล ศิริบรรณ รองปลัด ศธ.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ไปพิจารณาในรายละเอียดว่า คณะกรรมการ/อนุกรรมการชุดใดมีความจำเป็น หรือเกินความจำเป็น รวมถึงพิจารณาองค์กรประกอบการของคณะกรรมการด้วยว่า มีความเหมาะสม มากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ เพื่อนำเสนอบอร์ดคุรุสภาอีกครั้งในการประชุมนัดหน้า
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ สกสค. บอร์ด สกสค.ก็มีมติให้คณะกรรมการ/อนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ สกสค.ไปออกระเบียบหรือไปจัดตั้งไว้ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเช่นกัน ยกเว้นคณะกรรมการที่ทำเกี่ยวกับธุร กรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของสมาชิก แล้วให้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ไปพิจารณาว่า การออกระเบียบหรือการแต่งตั้งกรรมการแต่ละชุดของ สกสค.ถูกต้องหรือไม่ ในส่วนขององค์การค้านั้น นายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ผอ.องค์การค้า ได้สรุปข้อมูลการดำเนินงานขององค์การค้า ซึ่งพบว่า ผลประกอบการขององค์การค้า ขาดทุนสะสมจำนวนมาก จึงมอบให้ปฏิบัติหน้าที่ผอ.องค์การค้า ไปพิจารณาว่า จะปรับตัวองค์การค้าอย่างไรเพื่อลดการขาดทุน ให้ผลประกอบการกระเตื้องขึ้น และให้ไปดูรายละเอียดว่า การดำเนินการที่ผ่านมา มีจุดบกพร่อง มีการรั่วไหล มีการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่สมเหตุสมผล
"ภายในสัปดาห์หน้า ถ้ามีความพร้อมก็จะมีการเรียกประชุมทั้งจะมีการเรียกประชุมทั้ง 3 บอร์ดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การให้คณะกรรมการ/อนุกรรมการชุดต่างๆ หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นแค่ระยะสั้น เมื่อได้รายละเอียดชัดเจนแล้ว จะมาพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ ที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะมีคณะกรรมการ/อนุกรรมการจำนวนมาก อย่างคุรุสภา มีกว่า 30 ชุด ดูแล้วบางครั้งก็ชื่อซ้ำๆ กัน ไม่แน่ใจว่าภารกิจซ้ำกันบ้างหรือไม่ องค์ประกอบของคณะกรรมการก็เยอะเกินไป ดังนั้น เพื่อความชัดเจนเลยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน แล้วให้เลขาธิการไปหารายละเอียดมาเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป"
'ประยุทธ์'แจงล้างบางก.ศึกษาฯ หวังปฏิรูปก่อนเข้าเออีซี
แนวหน้า : เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยได้แสดงความเป็นห่วงประชาชน เนื่องในระยะนี้ได้เกิดพายุฤดูร้อนและลมกรรโชกแรงในหลายจุดทั่วประเท ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน เสาไฟ หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ได้ จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังตรวจสอบ และช่วยกันเฝ้าระวัง
พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำถึงการวางรากฐานของการพัฒนาประเทศว่า 6 เดือนที่ผ่านมานั้น เราได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล หรือที่เรียกว่าทรัพยากรมนุษย์ เป็นอันดับต้นๆ โดยยึดหลัก “มีความรู้ มีอาชีพ มีสุขภาพดี” ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการในหลายด้าน สำหรับเรื่องการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีปัญหามาก ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารงานไป เพื่อใก้มีการปฏิรูปโดยเร็ว ซึ่งในระยะที่ 1 จะต้องทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ก่อนเข้าสู่ AEC โดยมีคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (Super Board) มาช่วยขับเคลื่อน ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็ต้องผลิตบัณฑิตขึ้นมา ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ ให้มีแรงงานประเภทมีฝีมือ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
"การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์หรือบุคคลากรในกระทรวงศึกษาต้องรู้ดีกว่าผมอยู่แล้ว แต่ผมจะขับเคลื่อนให้ การทำงานก็มีคนทำอยู่แล้ว แต่มันต้องเร่งรัด ต้องบูรณาการ มันต้องต่อยอดให้ได้ ไม่เช่นนั้นไม่ทันต่อ AEC" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯเปิดเผยด้วยว่า ในเรื่องของประชาชนผู้มีรายได้น้อยนั้นวันนี้กำลังจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ที่มีภาระหนี้มากแล้วไม่สามารถกู้ได้ โดยใช้สินค้าที่มีอยู่เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินในลักษณะเงินด่วน แต่ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดหนี้สูญ เช่นเดียวกับนโยบายนาโนไฟแนนซ์ที่ให้วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท/ราย เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการเงินระยะนี้ไปก่อน ป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยสูงกว่านี้มาก
สำหรับ การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากโครงการตลาดนัดชุมชน ที่ทางกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นแล้วมากกว่า 2 พันแห่ง เพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP มีผู้ร่วมจำหน่ายสินค้าแล้วกว่า 8.3 หมื่นรายแล้วมอบเอกสารขอใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ระยะที่ 1 เนื้อที่ 53,697 ไร่ ใน 4 จังหวัด และระยะที่ 2 เนื้อที่ 51,929 ไร่ ใน 8 จังหวัด และก็ระยะที่ 3 ในปี 2559 อีก 50,018 ไร่ ในอีก 17 จังหวัดที่เหลือรวมมีพื้นที่เป้าหมายในการจัดสรรทั้งหมดประมาณ 1.6 แสนไร่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และให้ความเป็นธรรมนั้น ตนเห็นว่าประเทศเรามีคนมีฐานะพอสมควร หรือผู้มีรายได้ปานกลางไม่ลำบากมาก จึงได้ให้แนวทางกระทรวงการคลังเพื่อไปพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาล ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือผู้ที่มีสิทธิรักษาโดยไม่เสียค่ารักษาว่า ผู้ใดจะเสียสละไม่ใช่สิทธิดังกล่าวเพื่อตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไปให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำจริงๆ โดยจะให้มีการขึ้นบัญชี ซึ่งตนเองก็จะสละสิทธินี้ด้วย
"ถ้าท่านเสียสละแบบนี้ ผมว่าเป็นกุศลผมเองก็พร้อมจะสละ ไปไหนก็หาหมอเองได้อยู่แล้ว แต่คนจนเขาไม่มีโอกาสเลย" นายกฯระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำด้วยว่า สำหรับการจัดระเบียบสังคมและพื้นที่สาธารณะ ยังทำต่อไป อย่ากลับมาเป็นแบบเดิม
นายกฯกล่าวว่า สำหรับการป้องกันและแก้ไขการทุจริตคอรัปชั่นมีการดำเนินการมาตลอด แต่ไม่อยากให้มันโครมครามมากนัก ก็ขอให้เป็นเรื่องปกต เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะงั้นที่เราทำอยู่วันนี้ก็พยายามทำให้เร็ว ทำให้เกิดการรับรู้รับทราบ แล้วก็ขจัดสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ โดยนำระบบต่างๆเข้ามาตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ต่างๆของภาครัฐ
ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) มีมติภาคทัณฑ์การทำประมงของประเทศไทย หรือ IUU นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินกาแก้ไขมาตลอด มีคณะทำงาน เป็นวาระแห่งชาติ การใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นก็คือว่าใช้เพื่อจะบูรณาการการทำงานเท่านั้น นำไปสู่การปฏิบัติได้เลย แต่ไม่ใช่เอามาตรา 44 ไปแก้ทุกเรื่อง ไปแก้ไขมะนาวแพง ไปแก้เศรษฐกิจ มันแก้ได้ที่ไหน
"เรื่องใบเหลืองอย่าไปวิตก เราต้องยอมรับ โทษใครไม่ได้ เราต้องแก้ไขให้ได้ รัฐบาลนี้เข้ามาก็แก้เต็มที่นะ ตั้งหลายคณะไปทำ แต่ยังไม่เพียงพอ ผมก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเสร็จภายใน 6 เดือนหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับทุกคน"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การสร้างความปรองดองก็เหมือนกัน มาตรา 44 ใช้ไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องของความยินยอมของแต่ละคน ว่าหัวใจคนไทยแต่ละคน แต่ละพวกที่ขัดแย้งจะยอมรับในการปรองดอง คือพูดจากัน เลิกทะเลาะกัน ไม่ใช้กำลังต่อกัน นั่นแหละปรองดอง แต่ถ้ามีความผิดอยู่แล้ว จะให้เอามาตรา 44 ไปแก้ให้ปรองดอง ให้เลิกกัน ให้ยกโทษความผิด ตนทำให้ไม่ได้ เรียกว่าถ้าใช้แบบนั้นเป็นการใช้มาตรา 44 ในทางที่ผิด ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ ตนก็ฟังอยู่ทุกวันมีโอกาสก็ฟัง ก็แถลงกันทุกคนก็ตั้งใจ ไปคิดกันแล้วกันว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร จะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปอย่างไร ตนอยากให้ฟังคนอื่นบ้าง เพราะส่วนใหญ่คิดกันเอง เถียงกันเอง ทะเลาะกันเองมาตลอด ไปฟังต่างประเทศเขาว่าอย่างไร ประชาธิปไตยไทย ถ้าเราทำดี โลกเข้าใจเรา วันหน้าจะได้ไม่ถูกประณามไง ในโลกใบใหญ่ ตนก็ต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้คนประณาม ตนไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะทำความผิดแล้วก็หลีกเลี่ยงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คนแบบนั้นนะ
"หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนคงเข้าใจในเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลเราในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ในขณะที่เราเป็น คสช. และเป็นรัฐบาล ถือว่าเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ซึ่งระยะที่ 3 นั้นอีกยาวนานมาก เกิดปัญหาทับซ้อนอยู่ต้องไปแก้ทั้งระบบอีกที" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่สุด
หลังจากนั้น นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ลำดับต่อไปผมได้เชิญ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคมจิตวิทยา ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกลั่มกระทรวงด้านสังคมจิตวิยาด้วย
'วิษณุ'เผยมีขรก.ทุจริตเปลี่ยนชื่อ เร่งสอบ-หวั่นโยกผิด-ยันไม่มีหลุด
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบรายชื่อข้าราชการ ที่พัวพันการทุจริตที่ส่งกลับไปยังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ว่า มีการส่งกลับไปให้ตรวจสอบ 2 ล็อตแล้ว เพราะพบว่ามีข้าราชการบางคนที่เปลี่ยนชื่อ และเกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งต้องมีการตรวจสอบให้ละเอียดเพื่อไม่เกิดการโยกย้ายผิดคน ซึ่งการตรวจสอบข้าราชการทุจริต มี 3 ส่วน คือการโยกย้าย การเอาผิดทางวินัย และการดำเนินคดีอาญา ซึ่งผู้ที่ประทำความผิดจะต้องถูกลงโทษ โดยไม่สามารถหลุดพ้นได้