- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 12 December 2023 18:25
- Hits: 2652
สจล. ขับเคลื่อนไทยสู่ฮับเกษตรอินทรีย์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘ผู้ตรวจรับรอง-ผู้เชี่ยวชาญ’ มาตรฐานสากลด้วยวิทย์เทคโนโลยี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (EarthSafe) ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเร่งสร้างบุคลากรเป็น ‘ผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์’ และ ‘ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์’ ตามหลักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เพื่อเสริมทัพการตรวจประเมินและให้การรับรองเกษตรอินทรีย์ พืช สัตว์ อาหารแปรรูป โรงคัดแยกบรรจุ สนามกอล์ฟ และรีสอร์ทออร์แกนิก มุ่งเป้าพัฒนาเครือข่ายต้นแบบสังคมการเกษตร–อาหารออร์แกนิก ไร้สารพิษ ร่วมผลักดันไทยสู่ ‘ฮับเกษตรอินทรีย์’ (Organic Agriculture) ที่ยั่งยืนและก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี (Komsan Maleesee) อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สจล. สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ (RIMOA) และ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (EarthSafe) ซึ่งเป็นเครือข่ายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์วิถีไทยตามแนวศาสตร์พระราชา ได้ลงนามผนึกความร่วมมือตามข้อตกลง MOU เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการทำ ‘เกษตรอินทรีย์ยุคใหม่’ ซึ่งเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากการใช้นวัตกรรมในการทำเกษตรอินทรีย์สนับสนุนแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ เผยแพร่งานวิจัยจุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์และชีวภัณฑ์แล้ว ทำอย่างไรที่จะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มในการใช้นวัตกรรม พัฒนาตลาดช่องทางการจัดจำหน่ายทั่วประเทศที่เข้าถึงง่าย และการรับรองเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
สจล. จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการและผลิตบุคลากร ‘ผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์’ (Organic Inspector) และ ‘ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์’ (Organic Expert) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตรวจประเมินคุณภาพ และการออกใบรับรองเกษตรอินทรีย์ของ Earthsafe powered by AATSEA-RIMOA-KMITL โดย ‘สมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ (Associaion of Agricultural Technology in Southeast Asia : AATSEA) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร รับรองเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า ทั้งนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายพัฒนา ‘กิน-อยู่-เที่ยว-เล่น ปลอดภัย’ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาคมโลกในภาพรวม ช่วยเกษตรกรไทยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปกติจะคิดกันหลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาทต่อปี พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศในด้านการเกษตรแม่นยำและยั่งยืน ยกระดับผลิตผลเกษตรและอาหารไทยไร้สารเคมี ผลักดันให้ครัวไทยเป็นครัวโลกที่มีคุณภาพและสุขภาพดี ซึ่งเป็น Soft Power ที่อร่อยและปลอดภัย ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารอย่างเพียงพอ (Food Security) ตลอดจนช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมออร์แกนิก ทั้งภาคการเกษตร การผลิต บริการ และส่งออก ภายใต้แนวทางการพัฒนา BCG : Bio- Circular-Green Economy ของรัฐบาลไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ของสหประชาชาติ
รศ. ดร.เกษม สร้อยทอง (Kasem Soytong) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. กล่าวว่า การอบรม ‘ผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์’ และ ‘ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์’ จัดขึ้นปีละครั้ง ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่ต้องผ่านการคัดเลือก เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม เสียสละ และต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งผู้ตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์จะได้รับใบอนุญาตระยะ 1 ปี การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเป็นการประกันว่าสินค้าเกษตรที่ผลิตขึ้นมีคุณภาพปลอดภัย ภายใต้หลักเกณฑ์การรับรองระดับสากล
การถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงปฏิบัติการและประสบการณ์แก่บุคลากร ‘ผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์’ และ ‘ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์’ ครั้งนี้ ประกอบด้วย การสาธิตและฝึกอบรม การตรวจสารพิษตกค้าง (Pesticide Detection), ฟอร์มาลีน, Salmonella E coli, Nitrate เป็นต้น ในผลผลิตพืชอินทรีย์ (Organic), GAP จากตลาดสด รวมถึงการตรวจธาตุอาหารพืช ไนเตรท และโลหะหนักที่ตกค้างในดิน – น้ำ, การทำดินออร์แกนิกเพื่อปลูกพืช เรียนรู้การเปรียบเทียบดินเคมีและดินธรรมดา สามารถให้คำแนะนำเกษตรกรหยุดใช้สารเคมีทุกชนิด แนะนำเทคนิคต่างๆ ที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อใช้ทดแทนสารเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าเชื้อรา ยารักษาโรคพืชต่างๆ ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมทั้ง พืช สัตว์ อาหารแปรรูป โรงคัดแยกบรรจุ สนามกอล์ฟออร์แกนิก และรีสอร์ทออร์แกนิค พร้อมทั้งแนะนำแนวทาง Zero Waste อาทิ การนำเศษหญ้า เศษอาหารเหลือทิ้งมาทำปุ๋ยใช้เองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ ‘การตรวจวิเคราะห์หาสารพิษตกค้าง’ ในพืชผล ผลิตภัณฑ์ หรือแหล่งผลิต จะดำเนินการผ่าน ‘ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์ และการเกษตรแห่งเอเซีย (AMARC)’ ซึ่งเป็นแล็บมาตรฐาน ISO ด้านเกษตร อาหาร และยา แบบครบวงจร โดยจะต้องผ่าน ‘เกณฑ์มาตรฐาน Earthsafe-AATSEA-KMITL 4 ด้าน’ ได้แก่ 1.ไร้สารพิษ สารเคมีตกค้างในผลผลิต 2.ปลอดสารไนเตรท ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในผู้บริโภคและเกษตรกร 3.ปลอดภัยเชื้อโรคมนุษย์ เช่น Salmonella, E. coli และ 4.ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสารโลหะหนัก อีกทั้งช่วยย่นระยะเวลาดำเนินการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีความแตกต่างจากหน่วยงานรับรองอื่นทั่วโลก ซึ่งหากผ่านการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างจาก AMARC แล้ว จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทันที
12300