- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 18 November 2022 00:22
- Hits: 1620
วิศวศึกษาเอเชียแปซิฟิก มุ่งยกระดับหลักสูตร...สร้างวิศวกรให้ตรงความต้องการพัฒนาประเทศ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และสมาคมวิศวศึกษาในเอเชียตะวันออก-ตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียแปซิฟิก (Association for Engineering Education in Southeast and East Asia and the Pacific: AEESEAP) จัดงานประชุมซัมมิทผู้นำวิศวศึกษา และงานประชุมวิศวศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (AEESEAP Annual Summit 2022 and Asia Pacific Engineering Education Symposium 2022) ณ โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท และผ่านระบบออนไลน์ เดินหน้ายกระดับคุณภาพวิศวศึกษาสู่ระดับโลก สร้างวิศวกรที่ตรงความต้องการของผู้ใช้และผู้เรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจสู่ Thailand 4.0 โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ วิศวกรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัย มุ่งเน้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยบนแนวทาง Bio-Circular-Green Economy ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การแพทย์และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อาหารเพื่ออนาคต, วิทยาการหุ่นยนต์, การบินและการขนส่ง, เชื้อเพลิงชีวภาพและชีวเคมี, อุตสาหกรรมดิจิทัล, ศูนย์การแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากร-การศึกษา
ปัจจุบันประเทศไทยต้องการวิศวกรและบุคลากรจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมและรองรับความเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย วิศวศึกษา (Engineering Education) จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจเพื่อสร้างทักษะความสามารถและความพร้อมให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และคนทำงาน ดังนั้นงานประชุม AEESEAP 2022 นับเป็นการผนึกกำลังของไทยและประชาคมเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะเป็นโยชน์ต่อการยกระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเซีย ตัวอย่างความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวะมหิดล ที่ได้รับการรับรองระดับสากลจาก ABET สหรัฐอเมริกา ถึง 6 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ จะเป็นโมเดลถ่ายทอดประสบการณ์นำพามหาวิทยาลัยอื่นๆ ของไทยได้ก้าวไปด้วยกัน
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ประธานสมาคมวิศวศึกษาในเอเชียตะวันออก-ตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก (AEESEAP) และ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวว่า ประชาคมภูมิภาคเอเชียครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ สมาคม AEESEAP ซึ่งก่อตั้งในปี 1973 จากการประชุม UNESCO ที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทของวิศวศึกษา (Engineering Education) ในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและความยั่งยืน บทบาทของสมาคมฯ ตลอดระยะเวลา 49 ปี มุ่งส่งเสริมการพัฒนาวิศวศึกษาของเอเชียให้ก้าวทันโลกและตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์การจัดประชุม AEESEAP 2022 นี้ เพื่อส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นเวทีแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และศาสตร์ทางด้านวิศวกรรม รวมถึงประมวลองค์ความรู้ใหม่ๆ ตอบโจทย์การบ่มเพาะบุคคลากรที่ตรงตามความต้องการด้านความสามารถทางวิศวกรรมศาสตร์ในการพัฒนาประเทศและภูมิภาคโลกร่วมกัน ตลอดจนสร้างเสริมเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับภูมิภาคเอเชีย โดยมีวิทยากรจากนานาประเทศ พร้อมด้วยคณะกรรมการ AEESEAP จากออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เข้าร่วมงาน
ในงานประชุม AEESEAP 2022 ทางประเทศออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้เห็นถึงตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาควิชาการกับภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ทำให้การพัฒนาวิศวศึกษาและบ่มเพาะวิศวกรก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ หลังวิกฤติโควิด-19 โลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีพลิกผันรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Ai, บล็อคเชน, Big Data, IoT, หุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น, โดรน, VR/AR เชื่อมต่อกัน เราจึงต้องโฟกัสที่ “ผู้ใช้” คือ ภาคอุตสาหกรรม และ “ผู้เรียน” คือ นักศึกษาใหม่และคนทำงาน ความท้าทายของวิศวศึกษา คือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเร็ว ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องการวิศวกรที่มีคุณภาพ ความสามารถในทักษะทั้งด้านวิศวกรรมและ Soft Skills ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา ผ่าฟันอุปสรรค นับเป็นคุณค่าแก่การเรียนรู้และเรียนลัดของประเทศต่างๆ ในการพัฒนาบุคคลากรสร้างวิศวกรคนรุ่นใหม่
แนวโน้มของวิศวศึกษาในอนาคต จะมุ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Transformation คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับปริญญาน้อยลง โลกคือห้องเรียน ผสมผสานการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นทั้งแพลตฟอร์ม Tele-Education และห้องเรียน เนื่องจากวิศวศึกษาต้องการการฝึกฝน ทักษะปฏิบัติและมีการทดลองในห้องปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาหลักสูตรจะเน้นการต่อยอดนวัตกรรม ความเป็นผู้นำ การประยุกต์ใช้ได้จริง จริยธรรมของวิศวกร บนพื้นฐานวิศวศึกษาที่ยั่งยืน (Sustainibility) หลายประเทศและไทยให้ความสำคัญยิ่งในการยกระดับวิศวศึกษาสู่มาตรฐานโลก เช่น ประเทศไทยใช้มาตรฐาน ABET จากสหรัฐอเมริกา ขณะที่อีกหลายประเทศใช้มาตรฐาน Washington Accord ทั้งมีการศึกษาและนำร่อง “ธนาคารหน่วยกิต” หรือระบบ “Micro Credential” เพื่อการศึกษาตลอดชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) ส่วนเทคโนโลยีการศึกษาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้ยุคใหม่ อาทิ การจำลองภาพเพื่อการเรียนรู้ (Immersive Education) การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Practise- Based Learning) ควบคู่กับการจัดพื้นที่ให้เมคเกอร์ คนรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพได้คิดค้นต่อยอดนวัตกรรม รวมทั้งความร่วมมือด้านห้องปฏิบัติการข้ามมหาวิทยาลัยและข้ามประเทศ ตลอดจนพัฒนาเอสเอ็มอีโลกาภิวัฒน์
สำหรับประเทศไทย การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลั่งไหลเข้ามาสู่ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC” ทำให้ความต้องการแรงงานทักษะสูงในระดับต่างๆของ ช่วง 5 ปี (2021 - 2025) ทั้งวิศวกรและบุคคลากรพุ่งสูงถึง 564,176 คน และ EEC จะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตของประเทศไทย การผนึกกำลังของสมาคม AEEASEAP และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิก 64 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะทำให้หลักสูตรวิศวศึกษาและการผลิตบุคลากรทุกระดับตอบโจทย์ความเป็นจริง เป็นไปในทิศทางสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ รองคณบดีฝ่ายการจัดการทุนมนุษย์และองค์กรสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ความสำเร็จที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกระดับ 6 หลักสูตรสู่มาตรฐานโลกโดยได้รับการรับรองจาก ABET สหรัฐอเมริกา (Accreditation Board for Engineering and Technology) นั้น ใช้เวลาเตรียมการ 4 ปีเศษ นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ได้รับการรับรองมากที่สุดถึง 6 หลักสูตร ป.ตรี คือ วิศวกรรมเคมี วิศกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้เรียนและการเคลื่อนย้ายแรงงาน วิศวกรไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกสามารถไปศึกษาต่อหรือทำงานได้ทั่วโลก อีกทั้งส่งผลดีต่อความน่าเชื่อถือในสถาบันการศึกษา ประเทศชาติ และประชาคมโลก
ระบบ ABET ให้การรับรองคุณภาพการศึกษาโดยพิจารณาจาก 1.หลักสูตร มีการบริหารจัดการและบรรลุวัตถุประสงค์ 2.วัตถุประสงค์หลักสูตร ตามแนวทาง Outcome Based Education 3.ผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนและผลลัพธ์อย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์ 4.หลักสูตรมีการพัฒนาต่อเนื่อง 5.ข้อกำหนดหลักสูตร การวัดผลและการขอรับการประเมิน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาเยี่ยมชมคณะวิศวะมหิดล และหารือถึงวิธีการเตรียมความพร้อมเพื่อความสำเร็จในการขอรับรองมาตรฐาน ABET เรายินดีถ่ายทอดประสบการณ์และให้คำแนะนำอย่างเต็มที่
A11770