- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Saturday, 29 October 2022 19:15
- Hits: 1577
‘ครุศาสตร์ฯ มจธ.’ เบื้องหลังผู้พัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล ‘หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์’
ปัจจุบันเด็กไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงในโลกไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กอายุ 10-12 ปี จึงจำเป็นต้องมีหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางภัยไซเบอร์ ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ดังเช่นหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เพื่อให้คนไทยเรียนรู้เท่ากันโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นครั้งแรกของไทย
โครงการ “พัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการจัดทำหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เป็นโครงการเพื่อมุ่งเน้นในการออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล รวมถึงสร้างแบบทดสอบเพื่อประเมินผลผู้เรียนตามกรอบเนื้อหาในหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมสุขภาพจิตร่วมกับ AIS และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดทำสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในแต่ละเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ทั้ง 4P4ป ครอบคลุมทักษะดิจิทัลให้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ประกอบด้วย แอนิเมชัน โมชันกราฟิก และวีดิทัศน์จำลองสถานการณ์ความยาว 3-5 นาที
ดร.สุธิวัชร ศุภลักษณ์ - ดร.ดารุวรรณ ศรีแก้ว
ดร.ดารุวรรณ ศรีแก้ว อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ฯ มจธ. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทำโครงการนี้ เริ่มจากทาง AIS ให้ช่วยเผยแพร่ DQ Framework (Digital Intelligence Quotient) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของประเทศสิงคโปร์มาปรับและเผยแพร่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล LearnDi และแอปพลิเคชันอุ่นใจไซเบอร์ ตั้งแต่ปี 2564 ต่อมาทาง AIS ได้มีแนวคิดจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่เหมาะกับบริบทของไทยขึ้น โดยมีกรมสุขภาพจิตพัฒนาเนื้อหาหลักสูตร และ มจธ.เป็นผู้พัฒนาจัดทำสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลทั้งหมด จนกระทั่งออกมาเป็น “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” สำเร็จในเดือนเมษายน 2564 จากนั้นได้เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอรับรองหลักสูตรเพื่อให้ครูสามารถนำไปนับชั่วโมงการอบรมและขอเลื่อนหรือขอมีวิทยฐานะ รวมทั้งขอความร่วมมือในให้การเผยแพร่หลักสูตร จนเกิดเป็นความร่วมมือขึ้นในเดือนกรกฎาคม และเริ่มเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ดิจิทัลของหลักสูตรเข้าไปโรงเรียนแกนนำในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเดือนตุลาคม
“ช่วงแรกๆ เป็นการอบรมเผยแพร่ให้ความรู้กับครูก่อน ประกอบกับเป็นช่วงระบาดของ COVID-19 จึงเป็นการสอนแบบออนไลน์ ทางคุณครูจึงได้ทดลองนำมาใช้เป็นสื่อการสอนและเป็นการบ้านให้กับนักเรียน หลังจากนั้น 3 เดือนได้ประเมินผลโรงเรียนแกนนำ 3 แห่ง พบว่ามีประโยชน์มาก เพราะนอกจากครูสามารถนำไปประเมินวิทยฐานะแล้ว ยังเป็นการสร้างวัคซีนให้กับเด็กๆ ให้มีความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัล อีกทั้งเด็กบางคนยังนำไปเล่าให้ผู้ปกครองฟังด้วย ต่อมาในเดือนมกราคม 2565 ก็ได้รับความสนใจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย นำสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลของหลักสูตรไปทดลองใช้กับโรงเรียนท้องถิ่นหรือเทศบาล ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากครูและนักเรียนเช่นกัน นำมาสู่การเปิดตัวและมีการลงนามความร่วมมือขึ้นของ 5 หน่วยงานเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา” ดร.ดารุวรรณกล่าว
หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เป็นหลักสูตรที่กรมสุขภาพจิตพัฒนาขึ้นครอบคลุมทักษะดิจิทัล ประกอบด้วย 4 หมวด หรือที่เรียกว่า 4P4ป แบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 หัวข้อ (1 หมวด มี 2 หัวข้อ) สำหรับผู้เรียนทั้งในระดับเด็กเยาวชน อายุ และระดับบุคคลทั่วไป โดย หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ 4P4ป ประกอบด้วย หมวดที่ 1. Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม สอนหลักการความน่าเชื่อถือเบื้องต้นของข้อมูลที่พบใน cyber เพื่อให้รู้เท่าทันสื่อ หมวดที่ 2. Personality แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ หมวดที่ 3. Protection ความมั่นคงปลอดภัยทาง cyber (Cyber Security) การจัดการเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ เช่น การบูลลี่ นอกจากการจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ส่วนบุคคลแล้ว ยังสอนถึงภัยในระดับองค์กรสำหรับผู้ใหญ่ และหมวดที่ 4. Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะ มารยาท และพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม เป็นการสอนการอยู่ร่วมกันในโลกไซเบอร์
ดร.ดารุวรรณ ศรีแก้ว กล่าวว่า หน้าที่ของโครงการ คือ นำเนื้อหาทั้งหมดมาย่อย แบ่งออกเป็นตอนๆ และผลิตสื่อการเรียนการสอน โดยรวบรวมความรู้และภัยจากไซเบอร์นำมาจัดทำ 8 หัวข้อ ได้แก่ การใช้อย่างสมดุล ความสามารถเทคโนโลยี การแสดงตัวตนทางไซเบอร์ สิทธิทางไซเบอร์ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเอาใจเขามาใส่ใจเราทางไซเบอร์ และการสื่อสารทางไซเบอร์ไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาวะ โรคออฟฟิศซินโดรม โรคทางสายตา ด้วยการนำเสนอผ่านสื่อที่สื่อสารง่าย เข้าถึงทุกเพศทุกวัย และมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละหัวข้อมาไขข้อสงสัยและให้คำแนะนำเพิ่มเติม
“สื่อการเรียนรู้ดิจิทัลสำหรับการเรียนรู้ของบุคคลทั่วไป 31 ตอน และสำหรับการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนอายุ 10-18 ปี 21 ตอน ผ่านแพลตฟอร์ม LearnDi ของ AIS โดยผู้เรียนจะต้องทำการทดสอบความรู้ เพื่อทำการประเมินวัดผลก่อนและหลังการเรียน เมื่อเรียนครบทุกวิชาและทำข้อสอบท้ายบทเรียนได้คะแนนร้อยละ 70 ขึ้นไป ถือว่าสอบผ่านจะได้รับใบประกาศนียบัตรออนไลน์ หากสอบไม่ผ่านก็สามารถเรียนใหม่และทำข้อสอบใหม่อีกครั้ง”
ด้าน ดร.สุธิวัชร ศุภลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสาร คณะครุศาสตร์ฯ มจธ. หนึ่งในทีมพัฒนาโครงการฯ กล่าวเสริมว่า “มจธ. มีทีมงานในการผลิต ทั้งอาจารย์ และศิษย์เก่า โดยแบ่งหน้าที่กัน ประกอบด้วย ทีมเขียนบท ทีมผลิต และทีมประเมินวัดผล เป็นการนำเนื้อหามาออกข้อสอบ โดยนักวิจัยและนักประเมินผลทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จำนวน 6 คน จึงเป็นข้อสอบที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ เพราะจัดทำขึ้นตามหลักการวัดและประเมินผลที่มีการเก็บข้อมูลจากทั่วประเทศ ที่สำคัญข้อสอบที่จัดทำขึ้นไม่ใช่เพียงการวัดความรู้ และความจำ แต่ยังวัดเรื่องทักษะทางดิจิทัลด้วย ซึ่งกระบวนการในการผลิตสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลของหลักสูตร เราทำงานกันอย่างหนักและท้าทาย เนื่องจากมีระยะเวลาจำกัดเพียง 6 เดือน ถือเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจและภาคภูมิใจที่สื่อการเรียนรู้ที่ผลิตขึ้นมีประโยชน์ต่อสังคมและระบบการศึกษาของไทยเป็นสื่อที่นำไปใช้สอนเด็กได้จริง”
ปัจจุบันหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ผ่านการรับรองมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และอยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับรองหลักสูตรจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนอยู่ในหลักสูตรวิทยาการคํานวณ ตามหลักสูตรแกนกลางการคึกษาขั้นพื้นฐาน จึงถือเป็นสื่อการสอนที่ช่วยครูสอนให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะดิจิทัลและเท่าทันภัยไซเบอร์ ล่าสุด เตรียมขยายผลการใช้สื่อการเรียนรู้ดิจิทัลของหลักสูตรไปยังโรงเรียนในสังกัด กทม., โรงเรียนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สื่อการเรียนรู้ดิจิทัลของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์สามารถนำไปใช้ในโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน มจธ. กำลังพัฒนาตัวชี้วัดทักษะภูมิคุ้มกันในโลกไซเบอร์ (Cyber Wellness Index) เป็นของไทย ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีตัวชี้วัดนี้ คู่ขนานกับการขยายหลักสูตรต่อไป
A101072