- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 09 September 2022 12:03
- Hits: 1183
มดไฟ@FIET จาก มจธ. คว้ารางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ROBOT CONTEST THAILAND CHAMPIONSHIP 2022
นายชนุดร เชื้อพราหมณ์ (เทล) นายณัฐพงศ์ เยี่ยมชัยภูมิ (ณัฐ) นายศิรสิทธิ์ ตัณฑะเตมีย์ (เชค) นายธนภูมิ เรืองไพศาล (ภูมิ) นายสรวิชญ์ ศรีใหม่ (สอ) นายธนวัฒน์ เรืองอริยฉัตร (ปาล์ม) นายกำธร โทนสังข์อินทร์ (เอก) และ นายอนีส สายสลาม (อนีส) ทีมมดไฟ@FIET นักศึกษาภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ROBOT CONTEST THAILAND CHAMPIONSHIP 2022 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
ชนุดร ในฐานะหัวหน้าทีม กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้เป็นการแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ในภารกิจ พิชิตวัฏจักรหอคอย สู่แดนภารตะ ซึ่งเป็นเกมของอินเดีย ภายใต้กติกาคือ ในหนึ่งทีมจะมีหุ่นยนต์ 2 ตัว ช่วยเหลือกันทำภารกิจทำลายหอคอยลาโกริของคู่แข่งขันให้ได้อย่างน้อย 1 อัน โดยหุ่นยนต์ต้องอยู่ห่างจากลาโกริ 3.5 เมตร หุ่นยนต์ R1 ต้องยิงไปที่ Ball on head ของฝ่ายตรงข้าม ซึ่ง Ball on Head จะติดอยู่ที่หัวของหุ่นยนต์ที่อยู่สูงจากพื้น 1.3 เมตร และมีระยะห่าง 3.5 เมตร ส่วนหุ่นยนต์ R2 ต้องหยิบลาโกริจากพื้น แล้วนำขึ้นมาวางต่อกันให้ได้ หากสามารถวางลาโกริเรียงต่อกันและลูกบอลไม่ตกจากหุ่นยนต์จะได้คะแนน โดยต้องทำภารกิจภายในเวลา 1 นาที โดยน้ำหนักรวมของหุ่นยนต์ทั้งสองตัว ชุดบังคับ และแบตเตอรี่ชุดหลักที่ใช้ในการแข่งขันจะต้องรวมแล้วไม่เกิน 50 กิโลกรัม
“หุ่นยนต์ทั้งสองตัวมีระบบการทำงานที่เกื้อหนุนต่อกันเป็นทีม โดยหุ่นแต่ละตัวจะทำหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งกว่าจะออกแบบหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัว เรามีการคิดค้นและทดลองมาเยอะมาก ตั้งแต่แรกเริ่มคือการออกแบบโครงสร้าง การเขียนโปรแกรม การออกแบบระบบกลไกต่างๆ ของหุ่นยนต์ ทดลองยิง ทดลองเล่นจนกระทั่งมาลงตัวที่หุ่น 2 ตัวนี้ ซึ่งในอนาคตต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”
ชนุดร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมแล้วตนยังรับหน้าที่เดินวงจรไฟฟ้าด้วย จึงรู้สึกดีใจและภูมิใจที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ โดยทางทีมได้ทุ่มเทออกแบบหุ่นยนต์และฝึกฝนอย่างหนัก
“ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ในทีมแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบว่าจะทำอะไรบ้าง คือเรียนไปด้วยและออกแบบหุ่นยนต์ไปด้วย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ การที่ได้ร่วมลงแข่งขันในครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องวงจรที่ซับซ้อนขึ้น ได้ลงมือทำจริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เมื่อจบออกไปแล้วไปสอนเด็กได้”
ด้านศิรสิทธิ์ ณัฐพงศ์ สรวิชญ์ และอนีส รับหน้าที่ด้านโครงสร้าง เล่าว่า การเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะความรับผิดชอบในเรื่องโครงสร้างซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบ แม้ว่าเคยเรียนในห้องเรียนมาแล้วแต่การลงมือปฏิบัติจะทำให้ได้เรียนรู้ของจริง
“เราสามารถนำทฤษฎีจากในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบหุ่นยนต์ บางอย่างอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามปัญหาที่เกิดขึ้นและได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมซึ่งทำให้รู้สึกประทับใจ”
เช่นเดียวกับ สรวิชญ์และอนีส เล่าว่า ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการทำงาน ซึ่งการทำหน้าที่โครงสร้างนอกจากจะจัดหาอุปกรณ์แล้ว ยังต้องออกแบบอุปกรณ์ในเรื่องความปลอดภัยด้วย
“เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเครื่องมือช่างแต่ละชนิดถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานที่แตกต่างกัน ซึ่งการได้รับรางวัลในครั้งนี้รู้สึกภาคภูมิใจมาก”
ด้านธนวัฒน์ และธนภูมิ ทำหน้าที่ติดตั้งโปรแกรม และกำธร ซึ่งทำหน้าที่เดินวงจรไฟฟ้า สะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในเรื่องการเขียนโค้ดดิ้ง และการเดินวงจรไฟฟ้า โดยทุกคนในทีมมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้ได้หุ่นยนต์สมบูรณ์แบบที่สุดในการแข่งขัน
“ประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนและการทำงานในอนาคตได้ รู้สึกดีใจที่เป็นได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในครั้งนี้ ทุกคนในทีมต่างทุ่มเทให้กับการแข่งขันครั้งนี้มาผลที่ได้มาก็รู้สึกดีใจและภูมิใจ”
ด้าน ดร.กัญญุมา คามาตะ อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. อาจารย์ที่ปรึกษาทีม กล่าวว่า การส่งทีมเข้าแข่งขันในแต่ละปีเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเป็นทีม การส่งเสริมให้นักศึกษากล้าแสดงออกและได้พัฒนาตัวเองจากสิ่งที่เรียนมาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการได้เห็นมิตรภาพต่างสถาบันซึ่งถือเป็นภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกันในอนาคต
“เวทีนี้ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาทักษะจากในห้องเรียนมาสู่การปฏิบัติจริงเป็นการสร้างผลงานของตัวเอง ในแต่ละปีเราไม่ได้ทำสำเร็จหรือคว้ารางวัลมาทุกปี แต่สิ่งที่ได้มากกว่ารางวัลคือมิตรภาพจากเพื่อน และประสบการณ์จากการสร้างหุ่นยนต์ อีกทั้งการนำเศษเหล็กที่เป็นวัสดุเหลือใช้มาสร้างหุ่นยนต์ นักศึกษาก็จะมีมุมมองที่กว้างขึ้นและมีการพัฒนาต่อยอดในการนำไปใช้หรือไปประกอบอาชีพในอนาคต”
ดร.กัญญุมา กล่าวทิ้งท้ายว่า เวทีนี้เหมือนเป็นเวทีปล่อยของให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ การลงมือทำ และการแก้ปัญหา รวมทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ
A9380