- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 25 August 2022 23:25
- Hits: 1063
วิศวะมหิดล ผนึก 3 องค์กรญี่ปุ่น พัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยี-วิศวกรรมระดับสูง และระบบรับรอง Micro Credential
ความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเทคโนโลยีและวิชาการไทย-ญี่ปุ่น เดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง...คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี ผนึกความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์อนาคตด้านการศึกษาและงานวิจัยพัฒนาของไทย-ญี่ปุ่น หลังยุคโควิด กับ 3 สถาบันชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมในประเทศญี่ปุ่น เผยความร่วมมือกับสมาคมญี่ปุ่นเพื่อการศึกษาวิศวกรรม (Japan Society for Engineering Education : JSEE) เตรียมพัฒนาระบบ Micro Credential (MC) พร้อมจับมือ มหาวิทยาลัยโอซากา เตรียมเปิดหลักสูตรสองปริญญา ระดับป.โทและ ป.เอก และร่วมกับมหาวิทยาลัยทามากาวะ เดินหน้างานวิจัยพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ลง ประเทศไทยและนานาชาติต่างเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ ซัพพลายเชน สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการเมือง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงและมีคุณภาพในระดับมาตรฐานโลก พร้อมยกระดับคุณภาพการศึกษาและวิจัยนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจยุคหลังโควิดให้มั่นคงอย่างต่อเนื่อง การเดินทางยังประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการผนึกความร่วมมือด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีในโลกวิถีใหม่ และเปิดมุมมองของการศึกษานานาชาติที่กว้างขึ้นสามารถสนองตอบตวามต้องการในประเทศและโลกอนาคต กับ 3 องค์กรและมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ดังนี้
1. สมาคมญี่ปุ่นเพื่อการศึกษาวิศวกรรม หรือ Japanese Society for Engineering Education (JSEE) เป็นองค์กรกลางของญี่ปุ่น ที่ให้การรับรองมหาวิทยาลัย/วิทยาลัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ห้องปฏิบัติการของรัฐ และบริษัทอุตสาหกรรม โดย JSEE ยังมีส่วนร่วมในกระบวนการรับรองมาตรฐานการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในญี่ปุ่น ที่เรียกว่า JABEE (Japan Accreditation Board for Engineering Education) สิ่งที่จะทำร่วมกันคือ สนับสนุนให้นักศึกษาทั้งสองประเทศเรียนรู้วิศวกรรมศาสตร์ในวิถีโลกใหม่อันท้าทายด้วยความเพลิดเพลินและภาคภูมิใจ ตลอดจนร่วมมือทำวิจัยและแลกเปลียนทั้งผ่านระบบออนไลน์และจัดในสถานที่จริง นอกจากนี้ยังจะร่วมพัฒนาระบบ Micro Credential (MC) ระหว่างมหาวิทยาลัยในไทยและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระบบการรับรองความสามารถแบบเฉพาะเจาะจง โดยเปิดโอกาสให้พิสูจน์ความสามารถผ่านหลักฐานและประสบการณ์จริง เหมาะสำหรับผู้ที่เรียนรู้ด้วยตนเองหรือแหล่งความรู้ต่างๆ โดยจะได้รับ”ประกาศนียบัตรดิจิทัล” (Digital Badge) สำหรับใช้ยืนยันความสามารถ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในห้องเรียนเท่านั้น ทั้งนี้นับว่าสอดคล้องกับแผนงานการศึกษาทดลอง Sandbox ของวิศวะมหิดล
2. มหาวิทยาลัยโอซากา (Osaka University) เป็นมหาวิทยาลัยพันธมิตรอีกแห่งหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งมากว่า 295 ปี ซึ่งโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งมีหลายสถาบันวิจัยระดับชาติตั้งอยู่ภายในรั้ว เช่น ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ฟิสิกส์ สถาบันวิศวกรรมเลเซอร์ และศูนย์ศึกษาโลกไซเบอร์ เป็นต้น ความร่วมมือระหว่าง ม.มหิดลกับ ม.โอซากาหลังยุคโควิด เตรียมเปิดหลักสูตรสองปริญญา ในระดับป.โท และ ป.เอก โดยผู้เรียนจะได้ศึกษาที่สองมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่น มีการร่วมกันทำวิจัยเป็นวิทยานิพนธ์เล่มเดียวกัน
3. มหาวิทยาลัยทามากาวะ (Tamagawa University) เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก่อตั้งมาเป็นเวลา 93 ปี มีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทามากาวะ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพันธมิตรทางด้านการศึกษา และมีความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-ญี่ปุ่น ระหว่าง 2 สถาบัน สร้างเสริมความแข็งแกร่งทางวิจัยและพัฒนา กิจกรรมแลกเปลี่ยนความเข้าใจในการทำงานต่างวัฒนธรรม
ด้าน รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ รองคณบดีฝ่ายการจัดการทุนมนุษย์และองค์กรสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกจากนี้ วิศวะมหิดลยังมีความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในโครงการ TAIST-Tokyo Tech โดย สวทช.และสถาบันเทคโนโลยีแห่งดตเกียว ในการพัฒนาศักยภาพคนไทยด้านเทคโนโลยีขั้นสูง 4 หลักสูตร คือ 1.วิศวกรรมยานยนต์และระบบขนส่งขั้นสูง 2.ปัญญาประดิษฐ์และไอโอที 3.วิศวกรรมพลังงานและทรัพยากรที่ยั่งยืน 4.ระบบขนส่งทางราง นับเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการยกระดับการศึกษานานาชาติและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย พัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมทักษะสูงในทุกระดับตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตร ปริญญาตรี และปริญญาโท
A8996