- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 24 August 2022 12:18
- Hits: 1094
นักวิชาการวิศวะมหิดล เตือนภัยอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อน...ถึงชีวิตได้
ปัจจุบันบันไดเลื่อนได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นของระบบลำเลียงเคลื่อนย้ายคนในอาคารและธุรกิจแทบทุกประเภท อุบัติเหตุที่น่าตกใจจากบันไดเลื่อน BTS ที่สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ แม้อาจจะไม่ได้เกิดจากบันไดเลื่อนขัดข้องก็ตาม แต่มีผู้บาดเจ็บถึง 27 ราย บางรายต้องเย็บถึง 30 เข็ม นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เตือนภัยอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ ทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการควรตระหนัก ควรใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัย ชี้ในอนาคตควรวางตำแหน่งสถานีให้ห่างแหล่งกำเนิดการเดินทางจำนวนมากในเวลาอันสั้น 1- 2 ก.ม.ตามหลักสากล
ในต่างประเทศ เคยเกิดอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตและบาดเจ็บพิการหลายครั้ง เช่น สหรัฐอเมริกา หญิงสาวดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเมาแล้วเสียหลักทำให้ตกออกจากราวบันไดเลื่อน หัวปักลงมายังพื้นล่างเสียชีวิต, ในมาเลเซีย ลูกขี่คอพ่อ แล้วเกิดเสียหลักตกบันไดเลื่อนเสียชีวิต ส่วนในฮ่องกง เคยเกิดเหตุสลดใจ โดยบันไดเลื่อนหมุนย้อนทิศด้วยความเร็วจากความผิดปกติของตัวควบคุมบันไดเลื่อนทำให้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน สำหรับ ประเทศไทยก็เคยเกิดที่ศูนย์การค้าย่านรังสิต เด็กหญิงอายุ 12 ชะโงกศีรษะออกจากบันไดเลื่อนแล้วถูกปูนของตัวอาคารชั้นบนหนีบได้รับบาดเจ็บสาหัส, สถานีรถไฟฟ้า BTS พญาไท และ ศก.ค้าย่านวงศ์สว่าง เคยเกิดเหตุการณ์จากสาเหตุเหรียญหลุดเข้าไปในสายพานทำให้แผ่นบันไดเคลื่อนหลุดออก, ล่าสุดต้นปี 2565 ศก.ค้าย่านปทุมวัน หวีบันไดเลื่อนชำรุด ดูดรองเท้าข้างหนึ่งหายเข้าไป
ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า อุบัติเหตุบันไดเลื่อนที่สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์เกิดขึ้นช่วงเย็นวันที่ 20 สค.65 ฝนตกหลังจากงานคอนเสิร์ตครบรอบ 170 ปี วันสถาปนาโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ผู้คนจำนวนมากหลบฝน แย่งกันขึ้นบันไดเลื่อนจนออกันหนาแน่นด้านบนของบันไดเลื่อนตรงชานชาลา ไม่มีการเคลื่อนตัว แต่บันไดเลื่อนยังคงทำงานอยู่ ดันคนจากข้างล่างขึ้นไปอีกจนทำให้มีคนเสียหลัก ล้มจากด้านบนเป็นโดมิโนทับกันลงมาได้รับบาดเจ็บ 27 ราย บางรายต้องเย็บถึง 30 เข็ม แผลถูกบันไดเลื่อนกินลึกถึงชั้นไขมัน
เราต้องไม่ลืมว่ายังมีบันไดเลื่อนอีกมากกว่า 40,000 เครื่องที่ใช้งานอยู่ทั่วประเทศไทย บันไดเลื่อนสมัยใหม่ในไทยจะมีระบบเพื่อความปลอดภัยตามข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งพัฒนามาจากมาตรฐานยุโรป EN 115-1:2017 Safety of Escalators and Moving Walks โดยจะมีเซนเซอร์ (Sensor) อยู่ 15 ตำแหน่งและปุ่มกดหยุดด้วยมือฉุกเฉินอยู่ แต่สำหรับบันไดเลื่อนสาธารณะที่ใช้ขนส่งมวลชนที่สถานีรถไฟฟ้า BTS นั้น ควรจะมีระบบความปลอดภัยที่มากกว่าบันไดเลื่อนที่ใช้งานในสถานที่ทั่วไป เช่นตามโรงแรม เนื่องจากในแต่ละวัน มีผู้ใช้รถไฟฟ้าทั้งระบบประมาณ 800,000 - 900,000 คน ชั่วโมงบริการยาวนานและมีความแออัดมากกว่า
ทาง BTS ควรมีเจ้าหน้าที่ของสถานีคอยสังเกต ในช่วงที่มีคนใช้บริการจำนวนมากเกินความปลอดภัย ต้องมีการจัดการกั้นไม่ให้คนขึ้นมาเพิ่มจากด้านล่าง และจัดคิวให้คนทยอยขึ้น-ลง พัฒนาเสริมระบบความปลอดภัยมีอุปกรณ์ตรวจจับแบบอัตโนมัติ (Sensor) ให้บันไดเลื่อนหยุดการทำงานเมื่อมีคนหยุดยืนออกันที่ด้านบน ไม่ให้ดันคนขึ้นไปเพิ่ม และอาจเสริมด้วยเทคโนโลยี IoT (อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) เพื่อแจ้งเตือนเหตุไปยังศูนย์ควบคุมแบบ Real-time และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เพื่อจำแนกอุบัติเหตุ, การหกล้ม (Real-time Fall Detection) ของคนบนบันไดเลื่อนเพื่อสั่งการหยุดการทำงานของบันไดเลื่อนได้ทันท่วงที ในฮ่องกงยังมีการใช้ AI เพื่อทำนายคาดการซ่อมแซมบันไดเลื่อนก่อนที่จะเกิดเหตุชำรุดขึ้นจริงอีกด้วย
ด้าน ผศ.ดร.ศิรดล ศิริธร ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมและประธานหลักสูตรขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึงการออกแบบวางตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า ว่า แม้หลักการออกแบบการพัฒนาที่ดินรอบสถานีขนส่งมวลชน คือจะต้องวางตำแหน่งสถานีให้ใกล้กับแหล่งชุมชนและแหล่งกิจกรรมเพื่อให้ผู้เดินทางเดินถึงได้ง่าย แต่ก็มี ‘ข้อยกเว้น’สำหรับ แหล่งกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเดินทางจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น สนามกีฬา โรงละคร หรือสถานที่จัดคอนเสิร์ต หลายประเทศยุโรปซึ่งเข้มงวดในความปลอดภัยมักจะวางตำแหน่งสถานีไว้ไกลจากแหล่งกำเนิดการเดินทางใหญ่ๆ ราว 1 - 2 กิโลเมตร ดังตัวอย่าง อัลลิอันซ์ อารีน่า สนามฟุตบอลใหญ่ที่สุดในเยอรมัน เมืองมิวนิค ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า เฟิร์ทมานนิ่ง (Fröttmaning) 1.1 กม. โรงละครรอยัล อัลเบิร์ต ฮอล ในลอนดอน ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าเซ้าท์เคนซิงตัน (South Kensington) 1 กม. ทั้งนี้เพื่อให้ฝูงชนขนาดใหญ่ค่อยๆ กระจายความหนาแน่นลงขณะที่เดินมาสู่สถานี ทำให้ชานชาลาและพื้นที่อื่นๆ ของสถานีสามารถรองรับผู้โดยสารได้
บ้านเรามีสถานีรถไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้าและสนามกีฬาอยู่บ้าง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีปัญหารุนแรงมากไปกว่าสภาพผู้โดยสารคับคั่งในบางช่วงเวลา อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ กรณีเหตุที่สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ จึงควรถือเป็นกรณีศึกษา อีกไม่นานเราจะมีสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู ซึ่งใกล้แล้วเสร็จที่เชื่อมต่อกับ รัชมังคลากีฬาสถาน จุคนได้ 50,000 - 80,000 คน และ ธันเดอร์โดม สเตเดียม อิมแพ็ค จุ 15,000 คน การย้ายคงเป็นไปไม่ได้ แต่ยังมีมาตรการการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เช่น การจัดกิจกรรมหลังจากจบคอนเสิร์ต หรือหลังแมทช์การแข่งขันซึ่งจะสามารถดึงดูดคนส่วนหนึ่งให้เข้าสถานีรถไฟฟ้าช้าลง การจัดระเบียบหรือการสร้างแถวคอยก่อนเข้าสู่สถานี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ได้
สำหรับประชาชน นักวิชาการวิศวะมหิดล แนะถึง ข้อควรระวังในการใช้บันไดเลื่อน ดังนี้
• ต้องมีสติ มีสมาธิขณะใช้งาน ไม่เล่นมือถือ ให้ตระหนักว่าบันไดเลื่อนไม่ใช่เครื่องเล่น อย่าวิ่งหรือเดินย้อนทาง
• วางเท้าอยู่ภายในกรอบสีเหลืองเสมอ ไม่ชะโงกมองนอกตัวบันได หากรู้สึกว่าสัมผัสแปรงที่ติดอยู่ที่ขอบบันไดเลื่อน (Safety Brush) แสดงว่าขาอยู่ใกล้บันไดเลื่อนเกินไปแล้ว
• ยืนจับราวบันไดเลื่อน ไม่นั่งบนบันไดเลื่อน หรือพิงราว
• หากได้ยินเสียงการเดินเครื่องของบันไดเลื่อนผิดปกติ คราบน้ำมัน ร่องรอยการชำรุด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่
• ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่ยาวรุ่มร่าม ผูกเชือกรองเท้าให้แน่น ไม่หิ้วของพะรุงพะรัง งดใช้บันไดเลื่อนขนของ
• ไม่ปล่อยให้เด็กใช้บันไดเลื่อนตามลำพัง ถ้ามีสัตว์เลี้ยงควรอุ้ม
• กดปุ่มฉุกเฉินเพื่อหยุดการทำงานทันที หากพบสิ่งผิดปกติ
• หากไม่อยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยดังกล่าว ให้ใช้ลิฟท์แทน
A8876