- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 25 February 2022 22:57
- Hits: 1963
กมธ.อุดมศึกษาฯ ส.ว. ยก มจธ. เป็นศูนย์ทำวิจัยด้าน BCG ของประเทศ
ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสนใจ คือ การดำเนินการของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศ โดยพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กล่าวว่า มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีผลงานทั้งวิชาการและผลงานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และได้นำไปประยุกต์ใช้ทั้งเรื่องการเกษตร อาหาร สุขภาพ พลังงาน และสังคม สอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจ BCG เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
“มจธ.นอกจากเป็นศูนย์ทางวิชาการแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนา BCG ด้านพลังงาน รวมถึงด้านอื่นๆ เป็นตัวอย่างของภาคการศึกษาที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน และประชาสังคม ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ จะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศได้ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับไปจัดทำรายงานและขยายผลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการสนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนากำลังคน และโดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ COVID-19 อาทิ การผลิตยา และการผลิตวัคซีน ที่จะต้องมีการพิจารณาผลักดันงบประมาณสนับสนุนต่อไป”
รศ. ดร. สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า การดำเนินการเรื่อง BCG ของ มจธ. อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัย BCG Model@KMUTT อันเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของ มจธ. ที่จะพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ มจธ. มีความเข้มแข็งไปพร้อมกับการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในสังคมไทย โดยเน้นพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่เป็นสินค้าทางการเกษตรแบบครบวงจร มีการนำของเหลือใช้มาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมกับลดของเหลือใช้ตามหลักการของ BCG ซึ่ง มจธ. มีโรงงานต้นแบบที่ตอบโจทย์ BCG ในด้านต่างๆ ทางด้าน Bio Economy หรือระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เรามีความเชี่ยวชาญ 4 ด้าน ได้แก่ Food, Feed, Biofuel และ Pharmaceuticals ในด้าน Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เรามุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีครบวงจรที่นำของเหลือใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น การผลิตไบโอแก๊สจากน้ำเสียในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง การผลิตไบโอเอทานอลจากของเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร เป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใน Green Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว เราได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จนถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนทั้งในอุตสาหกรรม ชุมชน และในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่ยั่งยืน เป็นต้น
“ตัวอย่างเช่น การทำ BCG ในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังได้ครบวงจร โดย มจธ. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อนโยบาย Carbon Neutrality และ SDGs ของประเทศให้บรรลุเป้าหมายได้”
จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังของ มจธ. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่าสามสิบปี ทำให้ มจธ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกระดับอุตสาหกรรมให้กับพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศชนิดนี้ ตั้งแต่ในไร่ จนถึงโรงงาน โดยมีงานวิจัยต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัย BCG Model@KMUTT ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตั้งแต่การเลือกชนิดพันธุ์ของหัวมันสำปะหลัง พัฒนาวิธีการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และนำหัวมันมาผลิตแป้งมัน ในส่วนของอุตสาหกรรมแป้งมันก็มีงานวิจัยเพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดของเสียและนำกากมันสำปะหลังและของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ จนนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรทั้งในและต่างประเทศ
ด้าน ผศ. สุชาดา ไชยสวัสดิ์ ผู้บริหาร มจธ.บางขุนเทียน กล่าวว่า โรงงานต้นแบบสกัดสารสำคัญมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยแก้ปัญหาคอขวดของการขยายผลงานวิจัยด้านสารสำคัญที่สกัดจากพืช จากห้องแล็บไปสู่ระดับการผลิตเชิงพาณิชย์ เพราะแม้นักวิจัยจะสามารถหาวิธีสกัดสารสำคัญในห้องแล็บได้ แต่การขยายกำลังผลิตในเชิงพาณิชย์ มีความจำเป็นต้องศึกษาถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องและการปรับปรุงกระบวนการให้เหมาะสม ซึ่งโรงงานต้นแบบ มจธ. มีความพร้อมของห้องปฏิบัติการ บุคลากร และเครื่องมือ ที่จะให้บริการกับหน่วยงานและผู้ประกอบการ ให้สามารถขยายขนาดกำลังผลิตสารสำคัญที่สกัดจากพืชจากระดับห้องแล็บไปสู่การผลิตระดับโรงงานในเชิงพาณิชย์ได้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว โรงงานต้นแบบจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ลดการใช้ทรัพยากร ลดของเสีย และการใช้ประโยชน์จากของเสียเหลือทิ้ง รวมถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร
นอกจากการทำงานวิจัยและพัฒนาด้านมันสำปะหลัง จะตอบ BCG ในประเทศไทยแล้ว ยังเข้าไปช่วยประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามแนวคิด BCG Model ของประเทศตามนโยบายภาครัฐที่มหาวิทยาลัยได้ทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และประสบความสำเร็จ
มจธ. มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าทั้งกับชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้การดำเนินงานตามกรอบของ BCG เกิดความยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน มจธ. มีผลการดำเนินงานด้าน BCG Model @KMUTT ที่เป็นรูปธรรมและมีองค์ความรู้ที่พร้อมต่อการพัฒนาและส่งต่อ อาทิ โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility - NBF) โรงงานต้นแบบสกัดสารสำคัญ และศูนย์เรียนรู้พลังงานชนบท เป็นต้น
A2719